“ชีวิตย่อมมีหนทางของมัน” หมีขั้วโลกบางกลุ่มอยู่รอดแม้ไม่มี “น้ำแข็งทะเล”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พบหมีขาวแถบกรีนแลนด์มีชีวิตอยู่รอดได้ แม้สภาพแวดล้อมแตกต่างจากแถบอาร์กติกซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิม จุดประกายความหวังการมีชีวิตรอดในวิกฤตโลกร้อน

เมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อน หนึ่งในข้อบ่งชี้สำคัญที่เห็นกันแบบจะ ๆ ตา คือเรื่องของน้ำแข็งแถบอาร์กติกที่กำลังละลายในอัตราที่เร็วขึ้นเรื่อย ๆ และหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกมากที่สุด คือ ประชากร “หมีขั้วโลก”

โดยก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หมีขั้วโลกรวมถึงสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคอาร์ติกอาจสูญพันธุ์ไปทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษหลังจากนี้ จากการที่น้ำแข็งทะเล (Sea Ice) ในทะเลอาร์กติก ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ละลายหายไป

ไม่ใช่แค่โลกร้อน มนุษย์กำลังทำให้สภาพภูมิอากาศโลก “โกลาหล”

อีกหนึ่งสัญญาณโลกร้อน ปี 2021 “ฟ้าผ่าในอาร์กติก” เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่า

โลกร้อนเป็นเหตุ ในอนาคตอันใกล้ “อาร์กติกจะมีฝนตกมากกว่าหิมะ”

แต่ล่าสุดนักวิจัยค้นพบปรากฏการณ์บางอย่างที่ทำให้นึกถึงประโยคสุดคลาสสิกจากภาพยนตร์ดังอย่าง “จูราสสิค พาร์ค” ที่ว่า “ชีวิตย่อมมีหนทางของมัน”

นักวิจัยได้พบกลุ่มของหมีขาวในกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงรอดชีวิตอยู่ แม้จะขาดน้ำแข็งทะเล พวกเขากล่าวว่า หมีขั้วโลกกลุ่มนี้ดูเหมือนจะแยกตัวจากหมีขั้วโลกกลุ่มอื่นมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ยังสามารถรอดชีวิตมาได้ด้วยน้ำแข็งน้ำจืด (Freshwater Ice) จากธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์

นักวิจัยกล่าวเสริมว่า จากที่มีการคาดการณ์ว่า จำนวนหมีขั้วโลกจะลดลงอย่างมากในแถบอาร์กติก การค้นพบนี้ให้ความหวังริบหรี่ว่าหมีขั้วโลกอาจจะมีทางรอดในโลกอนาคต อีกทั้งสภาพในกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับสภาพของอาร์กติกในอีกเกือบ 100 ปีข้างหน้าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้

ดร.คริสติน ไลเดร จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ฉันคิดว่าพวกมันสอนเราเกี่ยวกับสถานที่ที่หมีขั้วโลกจำนวนหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ในแถบอาร์กติกที่ปราศจากน้ำแข็งทะเลได้”

ทีมวิจัยทำการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ลักษณะทางพันธุศาสตร์และประชากรศาสตร์ของหมีขั้วโลกตามแนวชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์ โดยพบว่า หมีขั้วโลกที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะมีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างแตกต่างจากหมีขั้วโลกในแถบอาร์กติก

ไลเดรกล่าวว่า “พวกมันถูกแยกออกจากกันทางภูมิศาสตร์ พันธุกรรม และประชากรศาสตร์ ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่มีปฏิสัมพันธ์กับหมีขั้วโลกตัวอื่น แต่กลุ่มนี้ไม่ได้พัฒนาเป็นหมีขั้วโลกสายพันธุ์ใหม่”

การเคลื่อนที่ของหมีขั้วโลกกลุ่มนี้ยังถูกจำกัดด้วยลักษณะเฉพาะ เช่น ภูมิประเทศแบบภูเขาและแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ทางทิศตะวันตก แหล่งน้ำทางทิศตะวันออก ซึ่งหมีขั้วโลกสามารถเข้าถึงน้ำแข็งน้ำจืดและเข้าถึงน้ำแข็งทะเลได้จำกัด แต่พวกมันก็ยังคงจับแมวน้ำได้อยู่

ในสายตาของคนทั่วไป สภาพของเกาะกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้อาจดูเหมือนไม่น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของหมีขั้วโลกได้ เนื่องจากมีน้ำแข็งทะเลน้อยกว่า 1 ใน 3 ของปี แต่เมื่อก้อนน้ำแข็งในฟยอร์ดเคลื่อนตัวไปตามกระแสของมหาสมุทร น้ำแข็งที่แตกออกสามารถทำให้เกิดภูเขาน้ำแข็งขนาดย่อมได้ เกิดเป็น “ภูมิประเทศลอยน้ำ” ซึ่งหมีขั้วโลกสามารถล่าสัตว์ได้ตลอดทั้งปี

โดยทั่วไป ประชากรหมีขั้วโลกอาศัยน้ำแข็งทะเลในการล่าเหยื่อ เช่น แมวน้ำ แคลอรีที่ได้จากแมวน้ำสามารถช่วยให้พวกมันมีพลังงานสะสมได้นานหลายเดือน เพื่อดำรงชีวิตในช่วงที่อาหารและน้ำแข็งทะเลหายากมากขึ้น

ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งทะเลละลายหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาร์กติกอุ่นขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 2 เท่า เมื่อน้ำแข็งทะเลหายไป หมีขั้วโลกจะต้องเคลื่อนไหวบนบก ซึ่งทำให้พวกมันมีโอกาสหาอาหารได้น้อยลง

หมีสามารถใช้น้ำแข็งทะเลได้ระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค. ในช่วงเวลาที่เหลือของปี พวกมันล่าแมวน้ำโดยใช้น้ำแข็งน้ำจืดที่แตกตัวออกมาจากแผ่นน้ำแข็ง

“สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับหมีขั้วโลกก็คือ การมีน้ำแข็งทะเลประมาณ 100 วันต่อปีนั้นน้อยเกินไปสำหรับหมีขั้วโลกที่จะอยู่รอด แต่เหตุผลที่หมีกลุ่มนี้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมนี้ ก็คือพวกมันมีแผ่นน้ำแข็งที่แตกตัวออกมานี้” ไลเดรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไลเดรกล่าวว่า แหล่งที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะดังกล่าวหายาก และไม่ได้หมายความว่าหมีขั้วโลกในแถบอาร์กติกจะสามารถอยู่รอดได้แบบเดียวกัน “น้ำแข็งจากธารน้ำแข็งที่ทำให้หมีกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้สามารถอยู่รอดได้นั้นไม่มีอยู่ในแถบอาร์กติกส่วนใหญ่”

กระนั้น อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า สภาพในกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับสภาพของอาร์กติกในอีกเกือบ 100 ปีข้างหน้า ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า หมีขั้วโลกแถบอาร์กติกจะสามารถปรับตัวหรือวิวัฒนาการให้อยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนไปได้

หากเราเชื่อในเรื่องพลังของการเอาชีวิตรอดและวิวัฒนาการ เชื่อว่าอีกสิบปีร้อยปีข้างหน้า โลกก็น่าจะยังคงมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามีขั้วโลกอยู่ เพราะเราเชื่อว่า ... “ชีวิตย่อมมีหนทางของมัน”

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP

เที่ยว “ทุ่งนามอญ” เดินสะพานไม้ชมทุ่งนา กินข้าวแช่สูตรโบราณ

จุดเช็กอิน "เบตง" แหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen สัมผัสทะเลหมอก "อัยเยอร์เวง"

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ