ขั้วอำนาจใหม่ จัดประชุม "BRICS" จับมือเศรษฐกิจข้าง “ปูติน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จับตาการประชุม ที่ถูกนิยามว่าเป็นอีกขั้วอำนาจ ที่กำลังผงาดขึ้นแข่งขันกับชาติตะวันตก ทั้งจีน รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล

การประชุมความร่วมมือที่เรียกว่า "BRICS" ซึ่งย่อมาจากตัวอักษรขึ้นต้นของ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน กลุ่มประเทศนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 และการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองเยคาเติร์นบุกของรัสเซีย

จุดประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่มประเทศทั้งสี่ประเทศนี้ล้วนเป็นประเทศขนาดใหญ่ ประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก

“ปูติน” ชี้โสมแดง “ยอมกินหญ้าดีกว่าเลิกพัฒนานิวเคลียร์”

รัสเซียขู่ ลิทัวเนียเตรียมรับผลจากการปิดเส้นทางส่งสินค้าสู่คาลินินกราด | 22 มิ.ย. 65 | รอบโลก DAILY

ยังไม่มีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากการประชุม BRICS ที่ผ่านมา เว้นแต่จีนและอินเดียที่เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในขณะที่นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์มองว่า การก่อตั้ง BRICS เป็นความพยายามสร้างขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมาทัดเทียมขั้วอำนาจชาติตะวันตก

ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2010 แอฟริกาใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ ส่งผลให้ชื่อกลุ่ม BRICS มีตัว S (South Africa) เพิ่มเข้ามา

สำหรับการประชุม BRICS ครั้งล่าสุดที่จีนเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 14 แล้ว และถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ความมั่นคงและระเบียบโลกกำลังถูกท้าทาย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวย้ำชัดเจนว่า ต้องการสร้างความร่วมมือบนหลักการที่ไม่ใช่หลักการแบบโลกตะวันตก รวมถึงหากย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ผู้นำจีนเคยกล่าวกับชาติสมาชิก BRICS ว่า ตัวเขาปฏิเสธแนวคิดเรื่องสงครามเย็นและการเผชิญหน้า หากมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกที่มั่นคงปลอดภัย

ที่ผ่านมาทั้งในถ้อยแถลงและบนเวทีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จีนมักสงวนท่าทีในการวิจารณ์หรือประณามการกระทำของรัสเซียที่ตัดสินใจบุกยูเครน

รัสเซียถูกคว่ำบาตรและถูกตัดออกจากการประชุมในระดับนานาชาติ เช่น กลุ่มประเทศ G7 ที่ร่วมกันคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่สำหรับการประชุม BRICS กลับสะท้อนให้เห็นจุดยืนของจีนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องการอยู่ข้างรัสเซีย

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก่อนการประชุม BRICS จะเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวระหว่างพิธีเปิดการประชุมถึง นโยบายคว่ำบาตรต่างๆ ว่า ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก
และเป็นการเน้นย้ำอีกครั้งถึงจุดยืนของจีน ว่าไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกกำลังใช้ลงโทษรัสเซีย

ด้านฝั่งรัสเซียก่อนการประชุม ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวถึงแผนงานคร่าวๆ เช่นกัน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียระบุว่า หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรต่อกรณีบุกยูเครน ขณะนี้รัสเซียกำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนเส้นทางการค้าไปยังกลุ่มประเทศ BRICS และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต่างๆ ตัวอย่างก็เช่น การหารือเพิ่มตลาดรถยนต์ในจีน และเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในอินเดีย ไปจนถึงเพิ่มดาวเทียมส่งสัญญาณรายการโทรทัศน์ในบราซิล

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาประเทศสมาชิกของ BRICS ทั้งหมด ล้วนเป็นประเทศที่ไม่ได้ออกเสียงประณามการกระทำของรัสเซีย
และตรงกันข้าม ชาติมหาอำนาจอีกชาติของเอเชียอย่าง อินเดีย กลับแสดงออกถึงความใกล้ชิดกับรัสเซียมากยิ่งขึ้นด้วย

รายงานจาก Business-Standard ระบุว่า ในขณะที่ชาติตะวันตกพากันคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ยอดนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไปอินเดียกลับเพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าน้ำมันเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในสัดส่วนทั้งหมด น้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 57

นอกจากนั้นรายงานยังระบุด้วยว่า อินเดียยังนำเข้าถ่านหิน, ถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวันจากรัสเซียด้วย รวมถึงยังซื้ออาวุธจากรัสเซีย ปัจจุบันคาดกันว่ายุทธโธปกรณ์ที่กลาโหมอินเดียใช้เป็นอาวุธจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65-85

อย่างไรก็ตามอินเดียไม่สามารถแสดงออกชัดเจนแบบจีนได้ว่าสนับสนุนรัสเซีย เนื่องจากอินเดียเองก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม Quad ที่ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ถือเป็นความร่วมมืออีกกลุ่มหนึ่งที่มีจุดประสงค์ในการคานอำนาจเศรษฐกิจจีนและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สะท้อนว่า อินเดียเองยังต้องพึ่งพาชาติตะวันตก ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอินเดียจึงยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

อีกประเทศสมาชิกคือ บราซิล ภายใต้การนำของจาอีร์ บอลโซนาโร บราซิลวางตัวเป็นกลางต่อกรณีรัสเซียบุกยูเครน จุดนี้นักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะบราซิลเป็นคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย ในฐานะประเทศที่ส่งออกถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก บราซิลต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมากและร้อยละ 23 ของปุ๋ยที่ใช้นำเข้ามาจากรัสเซีย

ปิดท้ายที่แอฟริกาใต้ ในตอนที่เข้าเป็นสมาชิกในปี 2010 นักวิเคราะห์คาดกันว่า เป็นเพราะประเทศนี้จะเป็นประตูที่จีนใช้ในการขยายเศรษฐกิจไปสู่ทวีปแอฟริกา เนื่องจากเมื่อเทียบกับอีก 4 สมาชิกก่อนหน้า ประเทศนี้มีพื้นที่และขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็ก

ปี 2021 ที่ผ่านมา ร้อยละ 17 ของการส่งออกในแอฟริกาใต้มีประเทศปลายทางคือกลุ่มประเทศ BRICS ส่วนสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 29
ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา เคยกล่าวถึงนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียว่า กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและทำให้หลายประเทศเดือดร้อน โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา

ดังนั้นแล้วในมุมของแอฟริกาใต้ เวที BRICS เวทีแห่งโอกาสที่แอฟริกาใต้จะฟื้นคืนเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเป็นการรับประกันความมั่นคงด้านอาหาร ที่ทวีปนี้จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด หากเกิดวิกฤตความอดอยากขึ้น

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ