
กบบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เหตุฝรั่งเศส-เบลเยียมบริโภค “ขากบ” เกินพอดี
เผยแพร่
รายงานฉบับใหม่ชี้ กบหลายสายพันธุ์ในอินโดนีเซีย ตุรกี และแอลเบเนีย ใกล้สูญพันธุ์ หลังการ “บริโภคขากบ” ในยุโรปสูงเกินพอดี
รายงานด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ความนิยมในการ “บริโภคขากบ” ของชาวฝรั่งเศสและชาวเบลเยียม กำลังทำให้กบสายพันธุ์ต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย ตุรกี และแอลเบเนีย ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยยุโรปนำเข้ากบป่ามากถึง 200 ล้านตัวทุกปี
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า กบน้ำอนาโตเลียน (Anatolian Water Frog) จะสูญพันธุ์ไปจากตุรกีภายในปี 2032 เนื่องจากถูกจับมากเกินไป ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ เช่น กบน้ำของแอลเบเนีย ก็กำลังถูกคุกคาม รวมถึงกบชวาของอินโดนีเซียเอง ที่ขณะนี้มีการตัดโควตาการส่งออก
“กระเบนแม่โขง” ทุบสถิติเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“ฉลามขาว” อาจเป็นสาเหตุให้ฉลามยักษ์ “เมกาโลดอน” ต้องสูญพันธุ์
“เพนกวินจักรพรรดิ” ขั้วโลกใต้ เสี่ยงสูญพันธุ์ เมื่อธารน้ำแข็งกำลังละลาย
ดร.แซนดรา อัลเทอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรการกุศล Pro Wildlife และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวว่า “ในประเทศอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับในตุรกีและแอลเบเนีย ประชากรกบขนาดใหญ่ในธรรมชาติกำลังลดน้อยลงทีละตัว ทำให้เกิดผลโดมิโนที่ร้ายแรงสำหรับการอนุรักษ์สายพันธุ์กบเหล่านี้”
เธอเสริมว่า “หากการนำเข้ากบป่าของตลาดยุโรปยังดำเนินต่อไป มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเห็นจำนวนกบป่าลดลงอย่างร้ายแรง และอาจสูญพันธุ์ภายในทศวรรษหน้า”
ด้าน ชาร์ล็อตต์ นิตฮาร์ต ประธานองค์กรพัฒนาเอกชนของฝรั่งเศส Robin des Bois ซึ่งร่วมเขียนรายงานนี้ด้วย กล่าวว่า “กบมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในฐานะนักฆ่าแมลง และในกรณีที่กบหายไป การใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการค้าขากบจึงมีผลโดยตรงไม่เพียงต่อตัวกบเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพของระบบนิเวศโดยรวมด้วย”
ตามข้อมูลจากสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาตินานาชาติ (IUCN) ระบุว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเป็นกลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุดในบรรดาสัตว์มีกระดูกสันหลัง
ความต้องการเนื้อกบในยุโรป สูงที่สุดมาจากเบลเยียม จากกบทั้งหมดที่ยุโรปนำเข้ามา มีถึง 70% ที่เป็นการนำเข้าของเบลเยียม แต่ Pro Wildlife กล่าวว่า กบส่วนใหญ่ในจำนวนนี้จะถูกส่งต่อไปยังฝรั่งเศสด้วย ส่วนสัดส่วนการนำเข้ากบโดยตรงของฝรั่งเศสอยู่ที่ 16.7% และรองลงมาคือเนเธอร์แลนด์ที่นำเข้า 6.4%
เจนนิเฟอร์ ลุดต์เก จาก IUCN กล่าววา มีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอย่างน้อย 1,200 สายพันธุ์ หรือคิดเป็น 17% ของทั้งหมด ถูกนำมาซื้อขายในตลาดต่างประเทศ
“มันทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างมากในประเทศที่เป็นแหล่งของกบเหล่านี้ ... จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกในยุโรป ปัญหาประชากรสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ลดลงเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับประเทศที่ยากจนกว่า จากความต้องการของประเทศที่ร่ำรวยกว่า” เธอกล่าว
อินโดนีเซียมีการส่งออกกบประมาณ 74% ไปยังสหภาพยุโรป รองลงมาส่งไปยังเวียดนาม 21% ตุรกี 4% และแอลเบเนีย 0.7%
Pro Wildlife และ Robin de Bois กล่าวว่า พวกเขาต้องการให้สหภาพยุโรปจำกัดการนำเข้ากบ ตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์ขากบ ให้ข้อมูลที่ดีขึ้นแก่ผู้บริโภค และยื่นข้อเสนอคุ้มครองกบป่าบางสายพันธุ์ต่อที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส)
อัลเทอร์ยังเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อกบ เช่น การตัดขากบด้วยขวานหรือกรรไกรโดยไม่ใช้ยาสลบ
เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปคนหนึ่งกล่าวว่า น่าเสียดายที่รายงานของ Pro Wildlife ได้รับการตีพิมพ์ออกมาช้ากว่ากำหนดเส้นตาย 17 มิ.ย. สำหรับการยื่นข้อเสนอหรือประเด็นในการประชุมไซเตสครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นในปานามาในเดือน พ.ย. นี้
เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า “สหภาพยุโรปพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอใด ๆ ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า การค้าระหว่างประเทศมีความเสี่ยงที่จะคุกคามการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใด ๆ”
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก Shutterstock
อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ และการลงทุน ได้ที่ @PPTVOnline