นักบินอวกาศยิ่งอยู่ในอวกาศนาน ยิ่งสูญเสียมวลกระดูก และฟื้นฟูกลับได้ยาก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิจัยพบ นักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในอวกาศเป็นเวลานานจะสูญเสียมวลกระดูกในระดับที่ฟื้นฟูกลับได้ยาก

นักวิจัยพบว่า นักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในอยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน จะสูญเสียมวลกระดูก (Bone Mass) ในระดับที่หลายคนไม่สามารถฟื้นตัวได้แม้เวลาผ่านไปแล้ว 1 ปีบนโลก

การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละเดือนที่อยู่ในอวกาศ นักบินอวกาศจะสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกประมาณ 1-2% ต่อเดือน เนื่องจากภาวะที่ไร้แรงโน้มถ่วงทำให้ขาของนักบินอวกาศไม่ได้ใช้งานหรือรับน้ำหนักเมื่อยืนและเดิน

ไม่ใช่แค่โลกร้อน มนุษย์กำลังทำให้สภาพภูมิอากาศโลก “โกลาหล”

จักรวาลมี “จุดสิ้นสุด” หรือไม่ สุดขอบจักรวาลมีจริงหรือแค่คำเปรียบเทียบ

พบการเปลี่ยนแปลงในสมองของนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในอวกาศนานครึ่งปี

เพื่อศึกษาว่า นักบินอวกาศฟื้นตัวอย่างไรเมื่อพวกเขากลับคืนสู่พื้นโลก การศึกษาใหม่ได้สแกนข้อมือและข้อเท้าของนักบินอวกาศ 17 คน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูก

ดร.สตีเวน บอยด์ จากมหาวิทยาลัยคาลการีแห่งแคนาดา และผู้อำนวยการสถาบันแม็กเคกเพื่อสุขภาพกระดูกและไขข้อ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า หลังนักบินอวกาศกลับมายังโลก พบว่า ความหนาแน่นของกระดูกที่นักบินอวกาศสูญเสียไปนั้น เป็นปริมาณเทียบเท่ากับที่หากอยู่บนโลกจะต้องใช้เวลาหลายสิบปีจึงจะสูญเสียไปเท่านี้

นักวิจัยพบว่า ความหนาแน่นของกระดูกหน้าแข้งของนักบินอวกาศ 9 คนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่หลังจากผ่านไป 1 ปีบนโลก

ในงานวิจัยนี้ นักบินอวกาศที่ไปปฏิบัติภารกิจยาวนานที่สุด ซึ่งอยู่บน ISS เป็นเวลา 4-7 เดือนนั้น เป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุด บอยด์กล่าวว่า “ยิ่งคุณใช้เวลาในอวกาศนานเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งสูญเสียกระดูกมากขึ้นเท่านั้น”

บอยด์กล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบกระดูกเป็นเหมือนหอไอเฟล มันจะเหมือนกับว่าแท่งโลหะที่ยึดโครงสร้างนั้นหายไป “และเมื่อเรากลับมายังโลก เราก็ทำให้โครงสร้างที่เหลืออยู่ข้นขึ้น แต่แท้จริงแล้วเราไม่ได้สร้างโลหะแท่งใหม่ขึ้นมายึดโครงสร้าง” เขากล่าว

ชีลแมตต์ โกเกอแลง-คุช หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านการแพทย์ของหน่วยงานอวกาศ CNES ของฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับงานวิจัย กล่าวว่า ภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศคือ “ภาวะที่ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่รุนแรงที่สุด”

ทั้งนี้ นักบินอวกาศซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพร่างกายฟิตเปรี๊ยะและอายุน้อยกว่า 40 ปี มักจะไม่รู้สึกถึงการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรุนแรง ภาวะมวลกระดูกหายจากการปฏิบัติภารกิจในอวกาศนี้ จึงถือเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่งสำหรับนักบินอวกาศ

บอยด์เตือนว่า นี่อาจเป็น “ข้อกังวลใหญ่” สำหรับภารกิจบนดาวอังคารในอนาคต ซึ่งนักบินอวกาศจะต้องใช้เวลาหลายปีอยู่ในอวกาศ

ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาแบบจำลองในปี 2020 คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลา 3 ปีที่ยานอวกาศเดินทางไปยังดาวอังคาร จะทำให้ 33% ของนักบินอวกาศเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน

“มันจะแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่? เราไม่รู้ ... มันอาจเป็นไปได้ที่เราจะเข้าสู่สภาวะคงที่หลังจากผ่านไประยะหนึ่ง หรือเป็นไปได้ที่เราจะสูญเสียมวลกระดูกต่อไป แต่ผมไม่คิดว่าเราจะสูญเสียกระดูกไปจนไม่เหลืออะไรเลย” บอยด์กล่าว

เขาเสริมว่า อาจได้รับคำตอบมากขึ้นมาจากการวิจัยศึกษาในนักบินอวกาศที่ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ