เมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ออกเดินทางออกจากฐานทัพอากาศในรัฐแมรี่แลนด์เพื่อไปยังอิสราเอล ในภารกิจเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
จุดประสงค์ของการไปเยือนครั้งนี้ เพื่อพบกับทั้งฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยจะเข้าพบกับประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซอค ของอิสราเอลก่อน จากนั้นจะไปที่เยรูซาเลม และต่อไปที่เมืองเบธเลแฮมในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นเขตปกครองของปาเลสไตน์ เพื่อพบปะกับมาห์หมุด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์
"ไบเดน" ยันไม่ถอนคำพูดว่า "ปูตินไม่ควรอยู่ในอำนาจ"
ตำรวจอิสราเอลวิสามัญชาวปาเลสไตน์ 5 คน
ที่นครเยรูซาเลมก่อนไบเดนจะเดินทางมา เจ้าหน้าที่ช่วยกันตกแต่งถนนหนทางด้วยธงชาติสหรัฐฯ เตรียมพร้อมต้อนรับผู้นำประเทศ
ชาวอิสราเอลในนครเยรูซาเลมบอกว่า ดีใจและตื่นเต้นที่ผู้นำสหรัฐฯจะมาที่นี่ เพราะสหรัฐคือหุ้นส่วนที่สำคัญในทุกทาง โดยเฉพาะด้านความมั่นคง
ประเด็นความมั่นคงของอิสราเอลมีหลายมิติ เนื่องจากมีศัตรูจากหลายด้าน แต่ที่เป็นความกังวลมากที่สุดในช่วงหลังๆคือ ภัยความมั่นคงจากอิหร่าน หลังจากมีกระแสข่าวที่ชัดเจนมากขึ้นว่ามีความคืบหน้าไปมากในเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์
บทบาทและนโยบายของสหรัฐต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ในอิหร่านแตกต่างกันไป ในแต่ละสมัยของประธานาธิบดี
ในช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ เขาประกาศถอนตัวจากข้อตกลงที่มีชื่อว่า Joint Comprehensive Plan for Action (JCPOA) ที่ทำขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโอบามา โดยสาระสำคัญของข้อตกลงคือ อิหร่านจะจำกัดโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อแลกกับการถูกยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
เมื่อทรัมป์นำสหรัฐออกจากข้อตกลง อิหร่านก็กลับมาพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ต่อ มีการเสริมสร้างสมรรถนะของแร่ยูเรเนียมให้สูงขึ้น และหลายคนประเมินว่า อิหร่านอาจถึงจุดที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้
ส่งผลให้อิสราเอลหวาดระแวง โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาอิสราเอลได้เพิ่มงบประมาณทางการทหารเพื่อรับมือ
ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลเพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นมีข่าวว่า อิสราเอลมีแผนโจมตีทำลายคลังเก็บอาวุธของอิหร่าน
บทบาทของประธานาธิบดีโจ ไบเดนขณะนี้คือ ต้องคลายความตึงเครียดตรงนี้ โดยเมื่อเดือนที่แล้วมีความพยายามทำให้อิหร่านกลับมาสู่การทำข้อตกลงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ใหม่โดยมีสหภาพยุโรปเป็นตัวกลาง และการเดินทางมาอิสราเอลคราวนี้ก็หารือถึงท่าทีและบทบาทของอิสราเอลต่อเรื่องนี้ด้วย
อีกประเด็นคือ ปัญหาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ การที่ไบเดนมีแผนพบปะกับมาห์หมุด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์สะท้อนว่า สหรัฐฯ ยังต้องการเป็นคนกลางในการสร้างสันติภาพบนความขัดแย้งนี้
อย่างไรก็ตามแม้คนอิสราเอลจะยินดีที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางมาเยือน แต่สำหรับคนปาเลสไตน์ พวกเขามองว่า สหรัฐฯ ยังคงปกป้องผลประโยชน์ของอิสราเอล
มุสตาฟา บาร์กูธี เลขาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งองค์การ Palestinian National Initiative หรือ PNI ให้สัมภาษณ์ว่า การปกป้องปาเลสไตน์ไม่เคยอยู่ในแผนของสหรัฐฯ และไบเดนคงไม่ต่างจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
อีกประเด็นที่จะทำให้การเดินทางเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ถูกวิจารณ์ก็คือ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อความตายของ ชีริน อาบู อัคเลห์ นักข่าวหญิงของอัลจาซีราที่ถูกกระสุนปริศนายิงเสียชีวิตขณะลงพื้นที่ทำข่าวความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
สหรัฐฯ ถูกมองว่าทำน้อยเกินไปเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักข่าวหญิงชาวปาเลสไตน์ที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีนัยยะของการปกป้องอิสราเอล โดยแถลงการณ์จากเน็ด ไพรซ์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า กระสุนมีแนวโน้มที่จะมาจากฝั่งของอิสราเอลจริง แต่ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ เนื่องจากวัตถุพยานได้รับความเสียหาย
สหรัฐฯและอิสราเอลถือเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน เมื่ออิสราเอลประกาศก่อตั้งประเทศในปี 1948 สหรัฐฯ ถือเป็นชาติแรกที่ออกมารับรองอธิปไตย
นักวิเคราะห์มองว่า การดำรงอยู่ของอิสราเอล คือภาพแทนของประชาธิปไตยท่ามกลางชาติอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่ยังคงมีกษัตริย์หรือมีผู้นำครองอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงเป็นที่มาที่ทำให้สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ อิสราเอลกลายมาเป็นฐานทหารสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในการส่งกองทัพไปเพื่อจัดการกับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง ตลอดจนการทดสอบอาวุธสำคัญต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯ เองก็มีงบประมาณช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารให้แก่อิสราเอลทุกปี
เมื่อเสร็จสิ้นจากภารกิจเยือนอิสราเอล 2 วัน ประธานาธิบดีไบเดนจะเดินทางต่อไปซาอุดิอาระเบีย ภารกิจสำคัญคือ การโน้มน้าวให้ซาอุดิอารเบียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงานโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน
นอกเหนือจากตะวันออกกลาง อีกภูมิภาคหนึ่งที่สหรัฐฯ เองก็มีพันธะที่ต้องยื่นมือเข้าไปพัวพันคือ กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
ในวันนี้ที่กรุงซูวา เมืองหลวงของฟิจิ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ในงาน Pacific Islands Forum หรือ PIF
สหรัฐฯ ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 21,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีแผนที่จะตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในตองกาและคิรีบาติ และกลับมาตั้งสถานทูตบนหมู่เกาะโซโลมอนอีกครั้ง รวมถึงยังมีแผนแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคแปซิฟิกคนแรกอีกด้วย
เรียกได้ว่าต้องการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความพยายามของสหรัฐฯ มีเพื่อคานอิทธิพลจีนที่กำลังแผ่ขยายในภูมิภาคนี้
ข้อมูลจาก สถาบัน Lowy Institute ในนครซิดนีย์ระบุว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเข้ามาลงทุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มประเทศในโอเชียเนียหรือประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 60,000 ล้านบาท
มีหลายเหตุผลที่จีนเข้ามาในแถบนี้ เหตุผลแรกเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
จีนเข้ามาที่นี่เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ถนน ท่าเรือ ให้เตรียมพร้อมสำหรับโครงการในอนาคต มีรายงานว่า เงินที่จีนให้ประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาสาธารณูปโภค มีทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่า เงินกู้เพื่อการลงทุน
อีกเหตุผลหนึ่งที่จีนเข้ามาคือ เรื่องการเมืองและความมั่นคง แต่เดิมหลายประเทศในแถบนี้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามล็อบบี้ประเทศเหล่านี้ให้เปลี่ยนใจ
ตอกย้ำด้วยทริปเดินทางเยือนหมู่เกาะแปซิฟิกของ หวัง อี้ รมว. การต่างประเทศจีน ที่ระบุว่าต้องการสร้างข้อตกลงทวิภาคี
ในช่วงของการเยือน สหรัฐฯ ไม่อยู่เฉย เน็ด ไพรซ์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกให้ระมัดระวังข้อตกลงใดๆ ที่จะทำกับจีน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างการทำประมง
โดยเขาระบุว่า ที่ผ่านมาข้อตกลงของจีนที่ทำกับประเทศต่างๆ มักไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้ประเทศคู่สัญญาเสียเปรียบ