จับตาท่าทีไบเดน-มกุฎราชกุมาร ระหว่างทริปเยือนซาอุฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังอยู่ระหว่างภารกิจเยือนตะวันออกกลาง โดยเริ่มต้นที่อิสราเอลก่อนจะเดินทางต่อไปยังซาอุดิอาระเบีย

มีหลายประเด็นที่ต้องหารือ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน การเมืองและความมั่นคง ไปจนถึงภัยคุกคามจากชาติศัตรูอย่างอิหร่าน การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเปราะบางอย่างยิ่ง "อิสราเอล" กล่าวหา "อิหร่าน"ว่ากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อโจมตีตนเอง นี่คือเหตุผลที่ต้องจับตาดูท่าทีของไบเดนว่าจะเอาอย่างไรกับอิหร่าน

"ไบเดน" ยันสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวัน หากถูกจีนโจมตี

ไบเดนลงนามงบโครงสร้างพื้นฐานก้อนยักษ์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางถึงอิสราเอลเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น

ผู้นำสหรัฐฯ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากบุคคลระดับสูงของอิสราเอล เช่น จาอีร์ ลาปิด นายกรัฐมนตรี, เบนนี แกนทซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำฝ่ายค้าน

เริ่มต้นทริปด้วยการชมนิทรรศการอาวุธและยุทโธปกรณ์ด้านความมั่นคงที่จัดขึ้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียน

ผู้นำอิสราเอลกล่าวชื่นชมและกล่าวถึงความสำคัญที่โจ ไบเดน มาเยือนทริปนี้ ในขณะที่ไบเดนก็กล่าวย้ำถึงสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างสหรัฐฯ และอิสราเอล

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานฮอโลคอสท์ยาดวาเชม ไบเดนวางพวงมาลัยเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และได้พบปะพูดคุยกับผู้รอดชีวิตชาวยิว

นี่คือการเดินทางเยือนตะวันออกกลางครั้งแรกของประธานาธิบดีไบเดนนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว

เมื่อเสร็จสิ้นจากภารกิจเยือนอิสราเอล 2 วัน ประธานาธิบดีไบเดนจะขึ้นเครื่องบินไปลงยังนครเจดดาห์ เมืองใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย

คาดกันว่านอกเหนือจากประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและน้ำมันที่สหรัฐฯ ต้องการพูดคุยแล้วยังมีอีกหลายประเด็น เช่น ความมั่นคง ที่ขณะนี้อิสราเอลกำลังหวั่นเกรงว่า อิหร่านกำลังพัฒนาโดรนเพื่อช่วยรัสเซียในสงครามยูเครน รวมถึงยังต้องหาวิธียับยั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน

เรื่องสำคัญที่สุดคือ สหรัฐฯ จะทำอย่างไรกับอิหร่าน เนื่องจากอิสราเอลผู้เป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นกล่าวหาอิหร่านว่ากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล สหรัฐฯ และอิหร่านค่อนข้างซับซ้อนอิหร่านเคยเป็นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐและอิสราเอล

 อิหร่านคือประเทศแรกๆในภูมิภาคที่ยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลหลังการก่อตั้งประเทศมื่อปี 1948 ทั้งสองชาติทำการค้าและลงทุนร่วมกันในโครงการต่างๆมากมายกับสหรัฐ อิหร่านเคยเป็นคู่ค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะน้ำมัน และในช่วงสงครามเย็น อิหร่านคือยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯในการสกัดอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลาง

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 1979 อิหร่านปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นรัฐอิสลาม

สหรัฐถูกยกให้เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง เพราะสนับสนุนพระเจ้าชาร์ สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านจึงถูกตัด

จากนั้นอิหร่านปิดประเทศจากชาติตะวันตก และเริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยระบุว่าเพื่อป้องกันตนเอง สหรัฐและชาติตะวันตกไม่พอใจ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านอย่างรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านอ่อนแอลง เพราะไม่สามารถค้าขายกับต่างชาติได้

มีความพยายามประนีประนอม จัดโต๊ะเจรจาเพื่อพิจารณายกเลิกการคว่ำบาตรอยู่บ้าง แต่ยังไม่สำเร็จ และที่ผ่านมาอิหร่านก็พัฒนาโครงการอาวุธมาเรื่อยๆ

เมื่อเดือนที่ผ่านมามีรายงานว่า อิหร่านพัฒนานิวเคลียร์จนอยู่ในขั้นที่อาจทำอาวุธได้แล้วสิ่งนี้ทำให้อิสราเอลเป็นกังวล และต้องการใช้ไม้แข็งหรือใช้วิธีการทางการทหารกับอิหร่าน ก่อนที่ตัวเองจะถูกโจมตี อย่างไรก็ตาม อิสราเอลจะทำเช่นนั้นไม่ได้หากสหรัฐไม่เห็นด้วย

ก่อนเดินทางมาถึงอิสราเอล ไบเดนให้สัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 12 ของอิสราเอล ระบุว่า ทางเลือกสุดท้ายหากอิหร่านยังไม่ยุติการพัฒนาโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์คือ การใช้กำลังทางการทหาร

ผู้นำสหรัฐยังพูดถึงการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นำสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านด้วยว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะการทำเช่นนั้นคือการทำให้อิหร่านหันกลับไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ข้อตกลงที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2015 ในตอนนั้นประธานาธิบดีบารัก โอบามา เปลี่ยนนโยบายต่ออิหร่านจากการใช้ไม้แข็งมาประนีประนอม ทำข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจอีก 5 ชาติรวมถึงสหรัฐ สาระสำคัญของข้อตกลงคือ จะยกเลิกมาตการคว่ำบาตรหากอิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

แต่พอเข้าสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ข้อตกลงนี้ถูกยกเลิก สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลง โดยระบุว่าข้อตกลงนี้ไม่สามารถทำให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ได้

จุดเปลี่ยนนั้นคือสิ่งที่ไบเดนมองว่าเป็นความผิดพลาด อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายระบุว่า การที่ผู้นำสหรัฐพูดว่ายังไม่ตัดทางเลือกในการใช้กำลังทหารกับอิหร่านทิ้ง หากอิหร่านไม่เลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อาจเป็นเพียงคำขู่ เพราะในขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลของไบเดนทำคือ การพยายามทำให้อิหร่านกลับคืนสู่ข้อตกลงยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งโดยมีสหภาพยุโรปเป็นตัวกลาง

แต่กระนั้นระหว่างทริปเยือนอิสราเอล ล่าสุดมีรายงานข่าวระบุว่า ไบเดนทำข้อตกลงบางอย่างกับ จาอีร์ ลาปิด ผู้นำอิสราเอลแล้ว

ข้อตกลงดังกล่าวคือ การขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง ที่เพิ่งลงนามเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

นั่นหมายความว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณทางด้านการทหารแก่อิสราเอลต่อไป

ยังไม่มีท่าทีออกมากจากอิหร่านหลังการแสดงจุดยืนของผู้นำสหรัฐอย่างไรก็ตาม ในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านกำลังอยู่ในภาวะล่อแหลม มีผู้เล่นใหม่ที่น่าสนใจเข้ามา นั่นก็คือ รัสเซียโดยมีรายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเตรียมเยือนอิหร่านในสัปดาห์หน้า

ด้านประธานาธิบดีไบเดน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในอิสราเอล จะบินต่อไปที่ซาอุดิอาระเบียในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.)

ประเด็นใหญ่ที่คาดกันว่าอยู่บนโต๊ะเจรจาคือ ปัญหาน้ำมันแพง ไบเดนอาจเจรจาให้ทางโอเปกผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ราคาปรับตัวลดลง

 

นอกจากนั้นไบเดนยังมีนัดหมายเข้าประชุมกับผู้นำกลุ่มประเทศอ่าว GCC ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน ในวันเสาร์

แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การเดินทางเยือนซาอุฯ ครั้งนี้จะช่วยให้ราคาน้ำมันโลกลดลง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ ถดถอยลงมากนับตั้งแต่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

อีกประเด็นคือ ไบเดนเคยวิจารณ์ประเทศนี้อย่างเผ็ดร้อนย้อนไปในปี 2018 ไบเดนเคยวิจารณ์ซาอุฯว่า เป็นประเทศนอกคอก จากข้อครหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสังหารจามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ ในสถานกงสุลตุรกี

คดีดังกล่าวดังระดับโลก เพราะเป็นการใช้อำนาจส่งทีมสังหารข้ามประเทศ ในตอนนั้นทั้งหน่วยข่าวกรองและผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ระบุตรงกันว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน  เป็นคนออกคำสั่ง

พระองค์เป็นเจ้าชายของราชวงศ์ซาอุฯ ที่ครองตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งทางการเมือง และถูกมองว่าเป็นผู้ปกครองประเทศโดยพฤตินัยแทนที่ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ที่ปัจจุบันมีพระชนมายุ 86 พรรษา

ในทริปนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯมีแผนเข้าเฝ้า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ด้วยสื่อถึงขนาดตั้งคำถามว่า ไบเดนจะยอมจับมือกับเจ้าชายบิน ซัลมาน หรือไม่

ทั้งนี้การเดินทางเยือนซาอุฯ ของผู้นำสหรัฐฯ จะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังก่อนหน้านั้นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเดินทางไปเยือนเมื่อปี 2017

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ