นักวิเคราะห์ เชื่อ จีนยังไม่บุกไต้หวันเร็วๆนี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คงไม่มีคำถามแล้วว่าจีนต้องการผนวกไต้หวันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและรัฐบาลจีนก็พูดไว้ในหลายโอกาสว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่คำถามคือ การผนวกไต้หวันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะใช้วิธีการไหน การซ้อมรบใหญ่ของจีนในขณะนี้ทำให้เกิดคำถามว่า จะนำไปสู่การใช้กำลังทางการทหารกับไต้หวัน เหมือนที่รัสเซียทำกับยูเครนหรือไม่ คำตอบที่เป็นไปได้คือ "อาจจะไม่" อย่างน้อยก็ในระยะอันใกล้

ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์นี้มาจากบทความในเว็บไซต์โกลบอลไทม์ สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนบทความนี้ชี้ว่าการซ้อมรบครั้งนี้เป็นการ “ซ้อม” หรือ “จำลอง” สถานการณ์จริง  

โกลบอลไทม์อ้างอิง ‘ซ่ง จงผิง’ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ระบุว่า หากเกิดความขัดแข้งทางการทหารขึ้นในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ที่แผนการซ้อมรบตอนนี้จะถูกแปลงให้เป็นปฏิบัติการรบจริง

"เกาะไต้หวัน"และความพร้อมทางการทหาร

กองทัพไต้หวัน ยกระดับเตือนภัย รับมือจีนซ้อมรบ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีถ้อยคำข่มขู่จากจีน แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดสงครามในไต้หวันขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาอันใกล้นี้

โดย ‘บอนนี กลาเซอร์’ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียของกองทุนมาร์แชลในสหรัฐฯ มองว่าสิ่งที่จีนทำอยู่ในตอนนี้คือการเตือนสหรัฐฯ และไต้หวันว่า อย่าดำเนินมาตรการอะไรที่ถือเป็นการท้าทายเส้นที่จีนขีดไว้เพิ่มอีก

กลาเซอร์ บอกว่าในการซ้อมรบครั้งนี้ จีนต้องการให้เห็นถึงขีดความสามารถทางการทหารของตัวเองในการปิดล้อมไต้หวัน แต่ประธานาธิบดีสิจิ้นผิงไม่ต้องการทำสงครามกับสหรัฐฯ เขาจึงตัดสินใจไม่บุกไต้หวัน

 แต่ต่อให้จีนซึ่งถือเป็นประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคิดจะใช้กำลังยึดไต้หวันจริง ก็มีความเสี่ยงร้ายแรงที่จีนต้องคิดให้ดี เพราะถึงแม้จีนจะมีกองทัพที่ใหญ่กว่าไต้หวัน แต่สภาพภูมิศาสตร์ของไต้หวันที่เป็นเกาะก็ทำให้ไต้หวันได้เปรียบ

หากจีนต้องการยึด นั่นหมายความว่าจีนต้องส่งยานพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงทหารและเสบียงมาทางเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน

นี่เป็นข้อเสียเปรียบของจีน เพราะการขนส่งทางเรือแม้จะขนได้มากแต่ก็ช้ากว่าทางเครื่องบิน ส่งผลให้ไต้หวันสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวและเตรียมตัวรับมือได้ทัน โดยจุดที่สั้นที่สุดในการข้ามช่องแคบมีระยะห่างราว 145 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ตั้งอยู่ระหว่างมณฑฝูเจี้ยนกับนครซินจู๋

โดยหากกองทัพจีนยกพลข้ามช่องแคบไต้หวัน กองทัพจีนก็ต้องเผชิญกับการระดมยิงทั้งทางอากาศและทางเรือ หากสามารถเคลื่อนมาถึงชายฝั่งไต้หวันได้สำเร็จ กองทัพจีนก็ยังต้องเผชิญความยากในการยกพลขึ้นบก เพราะชายฝั่งของไต้หวันไม่ได้มีหาดที่เหมาะสมต่อการลำเลียงกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นฝั่งมากนัก

โดยเมื่อพิจารณาจากแผนที่จะเห็นว่า ไต้หวันเองก็วางกำลังการป้องกันไว้แล้วรอบเกาะ โดยเฉพาะจุดที่มีระยะสั้นที่สุดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมณฑลฝูเจี้ยน จุดนั้นมีฐานทัพอากาศของนครซินจู๋ตั้งอยู่

ส่วนรอบๆ เกาะในทุกทิศทาง ไต้หวันตั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศไว้ประปราย โดยเน้นไปที่จุดเปราะบาง เช่น พื้นที่ทางตอนใต้อย่าง เกาสง ที่ล่าสุดจีนดำเนินการซ้อมรบห่างออกไปเพียง 20 กิโลเมตร ตรงจุดนั้นมีฐานทัพเรือสองแห่งและฐานทัพอากาศอีกสามแห่งตั้งอยู่

ขณะเดียวกัน การบุกไต้หวันก็ยังเสี่ยงทำให้จีนต้องทำสงครามกับสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่า จะเป็นสงครามที่ใหญ่กว่าไต้หวันเป็นแน่

แม้ว่าสหรัฐฯ ไม่ให้การรับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการในฐานะรัฐที่เป็นอิสระ แต่ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันปี 1979 สหรัฐฯ มีพันธกรณีที่จะต้องช่วยไต้หวันป้องกันตนเอง 

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ได้ส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหากจีนใช้กำลังบุก

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ย้ำมาตลอดว่าไม่สนับสนุนเอกราชไต้หวัน โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ต่อประเด็นไต้หวันทวีขึ้น จากข่าวการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี

เมื่อวานนี้ ‘แอนโทนี บลิงเคน’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำอีกครั้งระหว่างการร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยระบุว่าสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ของไต้หวันในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการใช้กำลัง

พร้อมเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดนโยบายจีนเดียว แต่ก็มีพันธะตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน หรือ Taiwan Relations Acts ไปจนถึงแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับระหว่างจีน-สหรัฐฯ และหลักประกัน 6 ประการ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถคงความสัมพันธ์กับไต้หวันและปกป้องความมั่นคงของไต้หวัน

แม้ที่ผ่านมา ประเด็นการปกป้องประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ พูดถึงเสมอเมื่อเอ่ยถึงการปกป้องไต้หวัน แต่การที่สหรัฐปกป้องด้านความมั่นคงของไต้หวันไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องการยึดคุณค่าประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องถือว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองด้วย

เพราะเมื่อมองจากภูมิศาสตร์แล้ว เกาะไต้หวันคือด่านหน้าเพื่อกันไม่ให้จีนทะลุทะลวงไปถึงจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซฟิกอย่างเกาะกวม ซึ่งจากนั้นก็จะเป็นรัฐฮาวาย

ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “แนวห่วงโซ่เกาะชั้นที่ 1” หรือ First Island Chain ซึ่งเป็นกลุ่มดินแดนพันธมิตรของสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีความสำคัญต่อการต่อต้านการรุกรานของกองทัพจีน

‘จูน ทอยเฟล เดรเยอร์’ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไมอามีระบุว่า จีนมองไต้หวันว่าเป็นเหมือนหัวเข็มขัดหรือตัวล็อกสำหรับป้องกันไม่ให้กองทัพจีนสามารถออกไปจากแนวห่วงโซ่เกาะชั้นที่ 1 ได้

แต่หากจีนสามารถยึดไต้หวันสำเร็จ ก็หมายความว่าจีนจะสามารถเคลื่อนพลเข้าสู่เมืองท่าสำคัญอย่างเมืองเกาสงทางตอนใต้ของไต้หวัน เปิดทางเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและไปยังเกาะกวมซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ และอีกครึ่งทางก็จะถึงเกาะฮาวาย

ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของไต้หวัน จึงเป็นเหตุผลและปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้ามาเกี่ยวพันแบบเต็มตัว ซึ่งต่างจากสหภาพยุโรป

หลังจีนประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้แก้ปัญหาความตึงเครียดผ่านการเจรจาและขอให้รักษาการเปิดช่องทางการสื่อสารกับจีนเอาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการคาดการณ์ที่ผิดพลาดที่จะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงขัดแย้ง

ส่วนกลุ่ม G7 หรือ 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น ก็ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาชี้ว่าการซ้อมรบของจีนหลังการเยือนไต้หวันของเพโลซีเป็นการเสี่ยงเพิ่มความตึงเครียดและสั่นคลอนเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
ล่าสุด วันนี้กระทรวงการต่างประเทศของจีนเผยว่า ได้เรียกเอกอัครราชทูตของประเทศในยุโรปบางประเทศ รวมถึงเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเข้าพบเมื่อคืนที่ผ่านมาเพื่อแสดงการประท้วงต่อแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปและ G7 โดยบอกว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน แต่ไม่ให้รายละเอียดว่าเรียกทูตประเทศไหนเข้าพบบ้าง

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวานนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แสดงความไม่พอใจต่อแถลงการณ์ของ G7 ไปแล้ว 

ส่วนท่าทีของอาเซียน ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในภูมิภาคใกล้เคียง และหลายประเทศถือเป็นผู้ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคต หากความขัดแย้งจีน-ไต้หวันทวีขึ้น เนื่องจากชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศมีข้อพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหนือทะเลจีนใต้

เมื่อวานนี้อาเซียนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน อาเซียน เตือนว่า ความตึงเครียดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างเปิดเผยและผลลัพธ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ พร้อมขอให้มีการใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงสุด  โดยอาเซียนพร้อมรับบทเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำลังประชุมกันอยู่ที่กัมพูชา โดยมีการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีประเทศคู่เจรจาทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซียเข้าร่วมด้วย  ซึ่งก็ทำให้กรณีจีนซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันกลายเป็นประเด็นร้อนในการประชุมครั้งนี้ไปโดยปริยาย

โดยล่าสุดมีรายงานว่า ‘หวังอี้’ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนและ ‘เซอร์เก ลาฟรอฟ’ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียได้เดินออกจากห้องประชุมระหว่างที่ ‘โยชิมาสะ ฮายาชิ ’ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นขึ้นพูดในเวทีการประชุมที่เกี่ยวข้องเพื่อประท้วงที่ญี่ปุ่นวิจารณ์การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของจีนรอบเกาะไต้หวัน

ส่วนเมื่อคืนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนยังได้เดินออกจากห้องรับรองก่อนที่งานกาลาดินเนอร์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเริ่มขึ้นโดยไม่ชี้แจ้งเหตุผล แต่ในงานดังกล่าวมีทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ