"เทราปที เมอร์มู" ปธน.หญิงชนเผ่าชายขอบคนแรกของอินเดีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"เทราปที เมอร์มู" ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ และถือเป็นหญิงชนเผ่าชายขอบคนแรกของอินเดียที่ได้นั่งตำแหน่งประมุขของรัฐ

"เทราปที เมอร์มู" นักการเมืองหญิงวัย 64 ปี ที่มาจากชนเผ่าชายขอบของอินเดียสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

โดยเธอได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนที่ "ราม นาถ โกวินท์" ประธานาธิบดีจากวรรณะจัณฑาล ที่เพิ่งหมดวาระไป

อินเดียได้จัดพิธีอย่างสมเกียรติ ที่ราษฎร์ปติภวัน หรือทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงนิวเดลี 

กองกำลังอิสราเอล สังหารผู้บัญชาการกลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซา

จีนระงับความร่วมมือสหรัฐฯ 8 ด้าน ตอบโต้การเยือนไต้หวันของ “เพโลซี”


 

โดยมีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี มุขมนตรีจากรัฐต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารและข้าราชการพลเรือนเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้หลัง "เมอร์มู" เข้ารับตำแหน่งได้กล่าวว่า การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเธอ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสำเร็จของเธอ แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทุกคนในอินเดีย โดยเฉพาะคนที่มีความใฝ่ฝัน มีโอกาสจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ได้

สำหรับ "เมอร์มู" ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบหญิงคนที่สองของอินเดียต่อจาก "ประติภา เทวีสิงห์ ปาฏีล" ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 12 ระหว่างปี 2007-2012 อีกทั้งยังเป็นประธานาธิบดีจากชนเผ่าชายขอบคนแรกของอินเดียด้วย

พื้นเพของ "เมอร์มู" เป็นชาวสันตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนชายขอบของอินเดียที่มีประมาณ 7 ล้าน 4 แสนคนที่กระจายตัวอยู่ในรัฐฌารขัณฑ์ รัฐเวสต์เบงกอล และรัฐโอริสสา

เธอได้เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นครู ตลอดอาชีพการทำงานของเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นชุมชนอย่างแข็งขัน ก่อนผันตัวเข้าสู่เส้นทางการเมือง และเข้ามานั่งในรัฐสภาในนามของพรรคภารติยะ ชนตะ ( BJP ) ถึง 2 ครั้งคือปี 2000 และ ปี 2009

อย่างไรก็ตาม ปี 2009 ชีวิตของเธอกลับพลิกผันอย่างน่าเศร้า โดยเธอสูญเสียลูกชายคนโตอย่างปริศนา และ 2 - 3 ปีถัดมาก็สูญเสียลูกชายอีกคนหนึ่งและสามีไปด้วย และเวลานี้เธอเหลือลูกสาวเพียงแค่คนเดียว

เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจในการเติบโตในเส้นทางการเมืองของเธอหยุดชะงัก "เมอร์มู" ได้ขยับสถานะจากนักการเมืองธรรมดามาเป็นมุขมนตรี หรือผู้ว่าการหญิงคนแรกของรัฐฌารขัณฑ์ในปี 2015 และดำรงตำแหน่งจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2021

ทั้งนี้ชื่อของ "เมอร์มู" ได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนของพรรค BJP ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดในการลงคะแนนเสียงของสมาชิกโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) และราชยสภา (วุฒิสภา) ตลอดจนสภาท้องถิ่นหลายรัฐรวม 5,000 คน

 

ขณะที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ร่วมแสดงความยินดีกับ "เมอร์มู" พร้อมทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ชื่นชมเธอว่าเป็นบุคคลที่อุทิศชีวิตเพื่อรับใช้สังคม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ยากไร้ ผู้ถูกกดขี่ และผู้ถูกบังคับให้เป็นคนชายขอบ และเชื่อมั่นว่าประสบการณ์และผลงานที่โดดเด่นของเธอที่ผ่านมา จะทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีที่ยอดเยี่ยมให้กับอินเดีย

นักวิเคราะห์มองว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของเมอร์มู น่าจะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับพรรค BJP ในกลุ่มคนชายขอบของอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 8% หรือราว 100 ล้านคน จากประชากร 1,400 ล้านคน ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ "เมอร์มู" เป็นหมากอีกตัวหนึ่งในกระดานหมากรุกทางการเมืองของนายกฯโมดี ซึ่งตัวนายกฯโมดีเองเป็นฝ่ายสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมฮินดู แต่ "เมอร์มู" ได้ยอมให้นายกฯโมดีใช้เป็นหมากในเกมการเมืองเพื่อแสดงให้ชาวอินเดียเห็นว่าเขาได้เปิดกว้าง และขยายฐานเสียงของพรรค BJP ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคชาตินิยม

อย่างไรก็ตาม "เมอร์มู" ไม่ได้เป็นหมากในเกมการเมืองที่ใช้ระบบวรรณะมาดึงฐานเสียงเป็นตัวแรกของนายกฯโมดี

อราติ จีรัธ (Arati Jerath) คอลัมนิสต์ชาวอินเดียระบุว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สมาชิกพรรค BJP ได้เลือก "เมอร์มู" ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 แต่เวลานั้นนายกฯโมดีกลัวว่าจะสูญเสียคะแนนเสียงการเลือกตั้งจากกลุ่มดาลิต (Dalit) หรือวรรณะจัณฑาล สุดท้ายเขาตัดสินใจเลือก "ราม นาถ โกวินท์" ซึ่งมาจากวรรณะจัณฑาล เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อขยายฐานเสียงการเลือกตั้งของพรรค BJP และเอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ด้านล่างสุดของระบบวรรณะ

ทั้งนี้การพลิกหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่นำหญิงจากชนเผ่าชายขอบขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ทำให้ผู้คนบางส่วนมองว่าเป็นชัยชนะที่เป็นแรงบันดาลใจในทางการเมืองของกลุ่มชนเผ่าในอินเดีย และเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาชุมชนดังกล่าว ซึ่งถูกละเลย และถูกเอารัดเอาเปรียบจากหลายรัฐบาลมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามอำนาจของประธานาธิบดีอินเดีย แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะประธานาธิบดีอินเดียทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ประมุขของรัฐ และมีบทบาทคล้ายกับบทบาทของกษัตริย์อังกฤษ หรือเนเธอร์แลนด์ และสเปน
หลายคนชี้ว่า ประธานาธิบดีอินเดียเป็นแค่ตรายางในทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญอินเดียกำหนดให้ประธานาธิบดีปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐมนตรี และอำนาจการบริหารประเทศทั้งหมดอยู่ในมือของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ ศาสตราจารย์เจมส์ แมเนอร์ (James Manor) แห่งสถาบันเครือจักรภพศึกษาในกรุงลอนดอน ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับตำแหน่งประธานาธิบดีชี้ว่า ประธานาธิบดีอินเดียไม่ได้เป็นตรายางเสมอไป เพราะที่ผ่านมาก็มีประธานาธิบดีที่ไม่ได้เออออไปกับนายกฯทุกเรื่อง และบางคนก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแถลงการณ์ต่อสาธารณชนด้วย

นอกจากนี้ประธานาธิบดีอินเดียก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจชี้ขาดทางการเมืองเช่นกัน หากเกิดกรณีไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้ง ส.ส. ประธานาธิบดีมีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้พรรคใดพยายามจัดตั้งรัฐบาลก่อน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ