จับตาจีน-รัสเซีย สานสัมพันธ์รัฐบาลตาลีบัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สภาพความเป็นอยู่ของคนอัฟกานิสถานที่อดอยากยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากการผงาดขึ้นตั้งตนเป็นรัฐบาลของกลุ่มตาลีบันเมื่อหนึ่งปีก่อน ส่งผลให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากกนานาชาติถูกระงับ หลังจากวันนั้นมีเพียงคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือ ICRC เท่านั้นที่ให้ความช่วยเหลือ ล่าสุดเนื่องในวันครบรอบหนึ่งปี ทาง ICRC ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติกลับมาช่วยเหลืออัฟกานิสถาน

วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ครบรอบหนึ่งปีที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน เมื่อวานนี้มีผู้คนจำนวนหนึ่งออกมาเฉลิมฉลอง รวมตัวกันเดินขบวน โบกสะบัดธงสีขาวของตาลีบัน

ตาลีบันเรียกชื่อประเทศใหม่ว่า Islamic Emirate of Afghanistan และคนเหล่านี้ระบุว่า พวกเขามีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอัฟกานิสถานยุคใหม่

ด้านฝ่ายผู้ปกครอง เมื่อวานนี้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลตาลีบันได้จัดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ยึดคืนกรุงคาบูลเมื่อหนึ่งปีก่อน

“ตาลีบัน” สั่งเจ้าของร้านตัดหัวหุ่นโชว์เสื้อผ้า

เจอแล้ว! ทารกอัฟกันพลัดหลงกับครอบครัว ระหว่างอพยพจากคาบูล

ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ขึ้นกล่าวโดย โมฮัมหมัด ยาคูป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่า จะไม่ยอมให้ศัตรูหรือภัยคุกคามใดใดเข้ามาในอัฟกานิสถาน

แต่สำหรับชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้สนับสนุนตาลีบัน วันครบรอบเมื่อวานนี้ยิ่งตอกย้ำว่า พวกเขาอยู่ภายใต้การปกครองของตาลีบันมานานถึงหนึ่งปีแล้ว โดยที่คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

ผู้คนตกงาน ยากจนลง หลายครอบครัวต้องอดมื้อกินมื้อ และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้การลักขโมยและการปล้นเกิดถี่ขึ้น

ในขณะที่มุมมองของผู้หญิงอัฟกันระบุว่า พวกเธอรู้สึกแย่ที่ถูกกีดกันจากการศึกษาและการทำงาน

สาเหตุของความลำบากในอัฟกานิสถานมาจากสถานะของรัฐบาลตาลีบันที่ขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ส่งผลให้อัฟกานิสถานถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางการค้าและตัดเงินทุนช่วยเหลือในด้านต่างๆ

อัฟกานิสถานที่เดิมต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติในการขับเคลื่อนประเทศอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว อีกทั้งยังถูกแช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารกลางที่คาดกันว่ามีราว 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัญหาที่ตามมาคือ วิกฤตเงินเฟ้อ ข้าวของขาดแคลน อาหารหายาก ผู้คนอดอยาก ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์หร่อยหรอจนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นานาชาติตั้งเงื่อนไขว่า จะกลับมาให้ความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อตาลีบันแสดงสัญญาณว่าจะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คน รวมถึงเปิดเสรีภาพให้ผู้หญิง แต่ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดขึ้น อัฟกานิสถานในภาพรวมจึงยิ่งดิ่งลงเรื่อยๆ

ในขณะที่นานาชาติหันหลังให้กับอัฟกานิสถาน ที่ผ่านมามีเพียงคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ที่ยังคงส่งความช่วยเหลือไปให้

อย่างไรก็ตามล่าสุด โรเบิร์ต มาร์ดินี ผู้อำนวยการ ICRC ได้ออกมาขอร้องเนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีเมื่อวานนี้ว่า ความเดือดร้อนทางมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานกำลังย่ำแย่จนเกินที่ผู้คนจะรับไหว และทาง ICRC วิงวอนให้บรรดาผู้บริจาคกลับมาช่วยเหลืออัฟกานิสถานอีกครั้ง

โดยย้ำว่าอัฟกานิสถานปลอดภัยขึ้น แต่ผู้คนกำลังอดอยาก องค์การสหประชาชาติประเมินว่า หนึ่งปีผ่านมาหลังตาลีบันขึ้นปกครอง คาดว่าชาวอัฟกันมากถึง 25 ล้านคน จากทั้งประเทศที่มี 39 ล้านคนกำลังมีชีวิตอยู่กับความยากจน

ด้าน ICRC เสริมว่า  ครึ่งหนึ่งของประชากร 39 ล้านคน กำลังต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้นทาง ICRC ยังเน้นถึงความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมานอกจากโรคระบาดแล้ว อัฟกานิสถานยังเผชิญกับภัยแล้งและเหตุแผ่นดินไหว ในขณะที่ความช่วยเหลือทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัด เพราะที่ผ่านมาต้องพึ่งพาเงินบริจาค

ICRC ระบุว่า พวกเขาช่วยโรงพยาบาล 33 แห่งในอัฟกานิสถานให้ยังคงเปิดทำการต่อไปได้ ซึ่งความช่วยเหลือนี้ครอบคลุมถึงการจ่ายเงินเดือนบุคลากร การจ่ายเงินค่าน้ำมันให้แก่รถพยาบาล ไปจนถึงจ่ายค่าอาหารให้แก่ผู้ป่วย

เหล่านี้คือภาพสะท้อนของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งหนักหนาเกินที่ ICRC จะช่วยเหลือเพียงผู้เดียว

โรเบิร์ต มาร์ดินี ย้ำว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ขณะนี้อัฟกานิสถานมีปัจจัยมากมายที่จะพาให้ประเทศนี้จมดิ่งสู่ความไร้เสถียรภาพและหายนะ ดังนั้นจึงไม่มีเวลาให้ประวิงสถานการณ์อีกต่อไป

ล่าสุดเนื่องในวันครบรอบ มีเสียงจากประเทศจีนบนเวทีประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ยุติการแช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน เนื่องจากเงินก้อนนี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้ นานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกมีเหตุผลอะไรที่ต้องแช่แข็งเงินก้อนนี้?

ขณะที่เสียงจากจีนที่พูดแทนอัฟกานิสถานมีความหมายอย่างไรในวันที่อัฟกานิสถานถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ?

นี่คือจุดยืนและแนวทางของแต่ละฝ่ายที่มีต่ออัฟกานิสถาน ซึ่งขณะนี้อนาคตยังไม่ชัดเจน

เมื่อคืนนี้ก่อนการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะเริ่มขึ้น จาง จุน ผู้แทนจากจีนให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่นานาชาติต้องให้การยอมรับรัฐบาลใหม่อัฟกานิสถาน รวมถึงเรียกร้องให้ยุติการแช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถานที่มีมูลค่ามากถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 300,000 ล้านบาท

โดยระบุว่า ทรัพย์สินนี้เป็นของอัฟกานิสถาน และเงินนี้สามารถช่วยเหลือคนอัฟกันที่กำลังยากลำบากได้ และในวันเดียวกัน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ออกแถลงการณ์ให้ยุติการแช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกันเช่นกัน ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีชาติใดให้การยอมรับรัฐบาลตาลีบัน ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม หรือการบังคับใช้กฎอิสลามอย่างเข้มงวดซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คน

ตาลีบันเคยใช้ข้อบังคับเข้มงวดช่วงปี 1996-2001 ข้ามมาปัจจุบันพวกเขาระบุว่า เปิดกว้างมากขึ้นแล้ว แต่การเปิดกว้างของตาลีบันยังคงอยู่ในระดับที่ผู้หญิงไม่สามารถไปโรงเรียนหรือไปทำงานได้ ซึ่งสำหรับนานาชาติยังไม่สามารถรับได้

อีกความกังวลคือ การที่ตาลีบันมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายที่เคยก่อเหตุวินาศกรรมอย่าง อัลกออิดะห์ ส่งผลให้สหรัฐฯ เลือกอายัติทรัพย์สินของธนาคารกลางไว้เนื่องจากกังวลว่า เงินเหล่านี้จะกลายมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงก่อความไม่สงบ

และเหตุผลนี้เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่นานาชาติยุติการบริจาคเงินช่วยเหลืออัฟกานิสถาน เพราะไม่อยากให้เงินของพวกเขากลายเป็นเงินสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

ความกังวลนี้ค่อนข้างมีน้ำหนัก จากการที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า แม้เงื่อนไขในข้อตกลงโดฮาปี 2020 จะระบุไว้ว่า ตาลีบันต้องไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใดเติบโตบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน แต่พวกเขาเชื่อว่า สายสัมพันธ์ที่มีต่ออัลกอออิดะห์ยังคงไม่ถูกตัดขาด

ประกอบกับเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงความสำเร็จในการใช้โดรนยิงขีปนาวุธสังหาร อัยมาน อัล-ซาวาฮิรี ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ซ่อนตัวอยู่ในเซฟเฮาส์ทางตอนใต้ของกรุงคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถาน

นี่คือหลักฐานว่า อัลกออิดะห์และตาลีบันยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และรัฐบาลตาลีบันได้อนุญาตให้กลุ่มเหล่านี้กบดานซ่อนตัวในอัฟกานิสถาน

ดังนั้นจะเห็นเงื่อนไขว่า ตราบใดที่รัฐบาลตาลีบันยังไม่เปิดกว้างให้ผู้หญิงมีเสรีภาพในการเรียนและการทำงานมากกว่านี้ ชาติตะวันตกก็จะยังคงไม่ยอมรับ

เป็นเงื่อนไขที่ผ่านเวลามาแล้วหนึ่งปี ความเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันฝ่ายตาลีบันเองก็โต้แย้งว่า การกระทำของชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ที่ยังไม่ให้การยอมรับพวกเขาในฐานะรัฐบาล ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงโดฮาเมื่อปี 2020 ที่สหรัฐฯ และตาลีบันเคยลงนามร่วมกันไว้

แม้จนถึงตอนนี้จะยังไม่มีชาติใดยอมรับตาลีบันในฐานะรัฐบาล แต่บางชาติยอมรับในฐานะทางการทูตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียกลายมาเป็นชาติล่าสุดที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอัฟกานิสถานอีกครั้ง หลังนานาชาติตัดความสัมพันธ์เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว

ปัจจุบันมีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่กลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ ได้แก่ จีน, ปากีสถาน, เติร์กเมนิสถาน และรัสเซีย

แต่หากนับความสัมพันธ์ทางการทูตแบบไม่เป็นทางการ อัฟกานิสถานที่นำโดยตาลีบันยังคงมีอีกหลายประเทศเป็นมิตร ได้แก่ อิหร่าน, มาเลเซีย, กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย

ในบรรดาชาติที่มีสัมพันธ์อันดีกับอัฟกานิสถาน ผู้เล่นที่น่าสนใจที่สุดคือ จีนกับรัสเซีย อนาโตล ลีเวน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Quincy Institute of Responsible Statecraft ของสหรัฐฯ มองว่า จีนและรัสเซียจะยังคงช่วยเหลืออัฟกานิสถานต่อไป ตราบใดที่ตาลีบันยังคงเดินหน้าปราบปรามกลุ่มไอซิสเค ซึ่งขณะนี้มีกองกำลังอยู่ในอัฟกานิสถาน

กลุ่มนี้เป็นศัตรูของตาลีบัน และทั้งจีนและรัสเซียเองก็ไม่อยากให้ไอซิสเคผงาดขึ้นมามีอิทธิพลในภูมิภาค จีนยังมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ คาดหวังว่าตาลีบันจะช่วยปรามไม่ให้กลุ่มนักรบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอุยกูร์ขยายตัวขึ้นมา

ในภาพรวมจะเห็นว่า จีนกังวลด้านความมั่นคง เนื่องจากจีนมีโครงการเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าและเศรษฐกิจที่ตัดผ่านเอเชียกลาง ดังนั้นแล้วความมั่นคงของอัฟกานิสถานจึงมีผลต่อโครงการของจีนด้วย

และความกังวลนี้ถูกดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาหลังตาลีบันขึ้นสู่อำนาจได้ไม่นาน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมก็ปรากฏภาพของหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเข้าพบกับมุลเลาะห์ อับดุลลาห์ หนึ่งในผู้นำระดับสูงของกลุ่มตาลีบัน

ส่วนในมุมของรัสเซียนอกเหนือจากความมั่นคงแล้ว การสานสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานกลายมาเป็นกลยุทธ์ในการคานอำนาจกับชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ

เนื่องจากรัสเซียในวันนี้อยู่ในสถานะที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตรจากการบุกยูเครน นโยบายการแสวงหาชาติที่สหรัฐฯ หันหลังให้มาเป็นพันธมิตรจึงกลายมาเป็นเรื่องสำคัญ และก่อนหน้านี้รัสเซียเองก็จับมือกับเมียนมามาแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ดิมิทรี เซอร์นอฟ ทูตรัสเซียประจำกรุงคาบูลในอัฟกานิสถานออกมาให้สัมภาษณ์เนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีที่ตาลีบันปกครอง

ระบุว่า รัสเซียเองพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลตาลีบันโดยพิจารณาจากผลประโยชน์ของรัฐบาลรัสเซียเป็นหลัก เนื่องจากไม่ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร โลกต้องยอมรับความจริงว่า ตาลีบันกลับมาแล้ว

ด้วยแนวคิดและจุดยืนเหล่านี้จึงคาดกันว่าในอนาคตอันใกล้ ทั้งจีนและรัสเซียอาจกลายมาเป็นชาติสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ไขเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่กี่วันก่อนวันครบรอบ เยว่ เสี่ยงหยง ทูตพิเศษด้านอัฟกานิสถานของจีนเพิ่งจะทวิตข้อความว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนเขาเพิ่งจะพบกับผู้แทนกลุ่มตาลีบัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการนำเข้าไพน์นัท หญ้าฝรั่น แอปริคอต และผลมะเดื่อจากอัฟกานิสถานเข้ามาในจีนและอีกเหตุผลหนึ่งคือการที่อัฟกานิสถานเต็มไปด้วยภูเขาที่มีแหล่งแร่ปริมาณมหาศาล

ที่นี่มีทั้งแร่เหล็ก แร่ทองแดง ไปจนถึงแร่สำคัญอย่างลิเธียมที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า ความอุมสมบูรณ์เหล่านี้จึงดึงดูดชาติมหาอำนาจให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยฉพาะจีน

การลงทุนในเหมืองแร่ลิเธียมต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับจีน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกกำลังเติบโต จีนมีเหมืองลิเธียมในโบลิเวีย อาร์เจนตินา ชิลี เม็กซิโก หรือแม้แต่ในแอฟริกาอย่าง ดีอาร์คองโก เทียบกับอัฟกานิสถานที่มีชายแดนห่างจากจีนไม่มาก แหล่งแร่นี้ใกล้กว่ามาก

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ