รัสเซีย ไม่สนเสียงประท้วง เดินหน้าประชามติผนวกยูเครน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์ในยูเครนสัปดาห์นี้ยังคงเปราะบาง เพราะมีปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้สงครามมีการยกระดับหรือรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นก็คือการที่รัสเซียเดินหน้าทำประชามติใน 4 แคว้นของยูเครนเพื่อผนวกเอาดินแดนเหล่านั้นมาเป็นของตนเองโดยการทำประชามติที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.จะสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้

และคาดว่าจะทราบผลในเกือบจะทันที การทำประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงและการประณามของประชาคมโลก ด้านผู้นำยูเครนระบุว่าจะไม่มีทางยอมรับการทำประชามติปลอมๆ และจะต่อสู้เอาดินแดนคืนทุกตารางนิ้ว ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียประกาศจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องดินแดนเหล่านั้น

ทั้ง 4 ดินแดนของยูเครนที่รัสเซียผลักดันให้มีการจัดทำประชามติอยู่ที่ไหนบ้าง 2 ดินแดนแรกคือ แคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน

ไม่อยากเป็นทหาร! ชายรัสเซียก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่เกณฑ์ทหารระยะเผาขน

รัสเซียส่อวุ่นวายยกใหญ่ หลังปูตินสั่งระดมกำลังพลสำรอง 3 แสนนาย

 

 

โดยที่นี่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลัง จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลยูเครนมา 8 ปีแล้ว ก่อนประกาศตัวเองเป็นสาธารณรัฐที่มีเพียง 3 ประเทศให้การรับรองคือ รัสเซีย ซีเรียและเกาหลีเหนือ

ดินแดนที่ 3 ที่รัสเซียต้องการผนวกคือ ภูมิภาคซาโปริซเชีย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากดอนบาส และดินแดนที่ 4 คือภูมิภาคเคอร์ซอนที่รัสเซียยึดได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรกของการทำสงคราม ที่นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะเชื่อมต่อกับแคว้นไครเมียบนทะเลดำที่รัสเซียผนวกไปเป็นของตนเองเมื่อปี 2014 รัสเซียใช้เคอร์ซอนเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธที่เดินทัพจากไครเมียในการทำสงครามในยูเครน

การทำประชามติใน 4 แคว้นของยูเครนดำเนินมาเป็นวันที่ 4 แล้ว โดยพรุ่งนี้ (27 ก.ย.)จะเป็นวันสุดท้ายก่อนจะมีการนับคะแนนและประกาศผล

รัสเซียรีบเร่งผลักดันให้มีการลงประชามติหลังจากถูกยูเครนรุกหนัก และต้องสูญเสียพื้นที่ยึดครองไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางตะวันออกที่ยูเครนรุกคืบเข้าไปที่ภูมิภาคดอนบาส ที่ตั้งของแคว้นโดเนสต์และลูฮันสก์แล้ว หลังจากที่ยึดคาร์คีฟได้อย่างสมบูรณ์

บรรยากาศการลงประชามติในแคว้นโดเนสต์และลูฮันสก์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เดนิส ปูชิลิน ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของโดเนสต์กล่าวว่า นี่เป็นวันที่น่าตื่นเต้นเพราะเป็นวันที่จะได้กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียที่ยิ่งใหญ่

การทำประชามติครั้งนี้ถูกประณามจากประชาคมโลกว่าเป็นการทำประชามติปลอมๆเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัสเซียยึดเอาดินแดนของยูเครน

ชาวยูเครนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่การทำประชามติออกมาคัดค้าน รวมถึงที่กรุงเคียฟเมืองหลวง ที่ผู้คนบอกว่าจะไม่มีทางรับประชามติปลอมๆนี้ คาดกันว่า ผลการทำประชามติที่จะประกาศในวันพรุ่งนี้ น่าจะออกมาว่า ทั้ง 4 แคว้นต้องการกลับไปอยู่กับรัสเซีย

เหตุผลแรกคือ รัสเซียเป็นคนคุมการทำประชามติและการนับคะแนน และเหตุผลที่ 2 คือ แม้คนไม่อยากจะกลับไปอยู่กับรัสเซีย แต่ก็ไม่มีทางเลือก

ในพื้นที่ที่ถูกคุมเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยรัสเซียอย่างเมืองมาริอูปอล ซึ่งเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดของสงครามครั้งนี้ ทั้งเมืองถูกทำลาย ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก

คนจำนวนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า อาจจะโหวตไปอยู่กับรัสเซีย เพราะพวกเขาเหนื่อยล้ามาก และจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ชีวิตปกติกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม ความหวังที่ว่าเมื่อทำประชามติแล้ว ทุกอย่างจะคลี่คลาย อาจไม่เป็นจริง ตรงกันข้าม ความพยายามผนวกดินแดนของรัสเซียแบบนี้ ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น เพราะยูเครนไม่มีทางยอมเสียดินแดนเหล่านี้ไปง่ายๆโดยเฉพาะในวันที่กำลังได้เปรียบ

เมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนประกาศว่า จะเอาพื้นที่ที่เป็นของยูเครนทั้งหมดกลับมา ไม่เฉพาะ 4 ดินแดนที่รัสเซียกำลังจะเอาไปเป็นของตนเอง แต่ยังรวมถึงแคว้นไครเมียที่รัสเซียผนวกไปตั้งแต่ปี 2014 ด้วย

การประกาศอย่างมั่นใจของผู้นำยูเครนเกิดขึ้นหลังจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กองทัพยูเครนประสบความสำเร็จในการใช้ปฏิบัติการสายฟ้าแลบยึดแคว้นคาร์คีฟคืนได้เกือบทั้งหมด โดยยึดเมืองอีซุม และเมืองคูเปียนสก์ (Kupiansk) คืนมาได้ ซึ่ง 2 เมืองนี้รัสเซียเคยใช้เป็นศูนย์กลางการส่งกำลังบำรุง

จากเมืองคูเปียนสก์ ยูเครนกำลังรุกต่อไปทางตะวันออกเพื่อปลดปล่อยดอนบาส แต่ก็ไม่ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ยูเครนรุกคืบได้ช้าลงเพราะฝนที่ตกหนัก บางจุดมีแม่น้ำขวางกั้น และในบางจุดทหารรัสเซียยังคงโต้กลับอย่างหนัก

สภาพอากาศจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดว่าใครจะได้เปรียบในสงคราม โดยขณะนี้ที่ยุโรปกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ในทางทฤษฎี รัสเซียจะได้เปรียบในการทำสงครามฤดูหนาว เพราะผืนดินในยูเครนจะกลายเป็นน้ำแข็งทำให้สามารถเคลื่อนทัพที่ใช้รถถังเป็นหลักได้ง่ายกว่า

แต่ในทางปฏิบัติ ยากที่จะชี้ชัดว่า หน้าหนาวนี้รัสเซียจะกลับมาได้เปรียบเหนือยูเครนหรือไม่ เพราะขณะนี้ชัดเจนว่า รัสเซียขาดแคลนกำลังพล ดูจากการประกาศระดมพลสำรอง 300,000 นายของประธานาธิบดีปูตินเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

การประกาศระดมพลสำรองที่หมายถึงการเกณฑ์ประชนชนคนธรรมดาเข้าร่วมรบ กำลังทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินต้องเจอกับการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 7 เดือน การประท้วงเริ่มแต่วันประกาศระดมพลต่อเนื่องมาจนถึงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา

การประท้วงในเมืองหลวงกรุงมอสโก และเมืองใหญ่อันดับ 2 อย่างนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยตำรวจใช้กระบองทุบตีและจับผู้ประท้วงในทุกจุดแทบจะในทันที

ผู้ประท้วงรายหนึ่งในมอสโกนั่งวีลแชร์และถือป้ายว่า “ พวกคุณอยากมีสภาพแบบฉันใช่ไหม” ก่อนที่ตำรวจจะยึดป้ายไป

ผู้คนในนครเซนต์สปีเตอร์เบิร์กบอกว่า พวกเขาจะไม่ยอมไปทำสงครามเพื่อปูติน OVD-info ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในรัสเซียระบุว่าตั้งแต่เกิดการประท้วงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปแล้วมากกว่า 1,000 คนในกว่า 36 เมืองทั่วประเทศ

ส่วนของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการระดมพลและการทำสงครามจำนวนหนึ่งยังคงทะยอยออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง

ภาพบริเวณชายแดนรัสเซียที่ติดกับประเทศจอร์เจียเมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ขบวนรถยนต์ต่อแถวยาวกว่า 20 กิโลเมตรเพื่อเดินทางออกจากรัสเซีย

ส่วนที่บริเวณชายแดนฝั่งที่ที่ติดกับคาซัคสถาน ทั้งรถทั้งคนต่อแถวกันยาวเหยีดเพื่อเดินทางข้ามแดนเช่นกัน

สำหรับคนที่อยู่ใกล้กับชายแดนด้านตะวันตกก็หนีไปประเทศฟินแลนด์ เหตุผลของคนที่ออกจากรัสเซียคือ ความโกรธและความกลัว

โฆษกหน่วยรักษาความปลอดภัยชายแดนของฟินแลนด์ระบุว่า จำนวนชาวรัสเซียที่เดินทางเข้ามาในฟินแลนด์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ต้องออกประกาศแผนยุติการรับชาวรัสเซียเข้าประเทศแล้ว

ส่วนทางรัสเซียก็มีการออกประกาศเช่นกัน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินลงนามประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ระบุว่า ผู้ละทิ้งหน้าที่ต่อประเทศชาติ มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี กฎหมายฉบับใหม่นี้บังคับใช้กับทหารที่ยอมจำนนต่อข้าศึก พยายามหลบหนีหรือปฏิเสธการรบ

นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่อยู่ในเกณฑ์และถูกระดมไปรบไม่ไปไหน แต่เข้าลงทะเบียนเพื่อร่วมการฝึกก่อนถูกส่งไปสงครามในยูเครน

นี่คือศูนย์คัดเลือกกำลังพลสำรองแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก หลายคนบอกว่ามาเพราะหมายเรียก ถึงแม้ว่ากังวลกับการที่ต้องออกไปเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิตก็ตาม

นอกเหนือจากกฎหมายลงโทษการหนีทหารแล้ว อีกกฎหมายหนึ่งที่ประธานาธิบดีปูตินลงนามและประกาศใช้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาคือ กฎหมายให้สิทธิความเป็นพลเมืองรัสเซียแก่ชาวต่างชาติที่สมัครเข้าเป็นกองกำลังของกองทัพรัสเซีย

นักวิเคราะห์มองว่า กฎหมายฉบับล่าสุดที่ออกมาสะท้อนถึงการขาดแคลนกองกำลังทหารของรัสเซียอย่างรุนแรง จึงต้องลัดขั้นตอนการขอสิทธิพำนักในรัสเซีย ที่ปกติต้องใช้เวลาในการดำเนินการถึง 5 ปี

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ