เลบานอน-อิสราเอล ลงนามเขตแดนทางทะเล ยุติข้อพิพาท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเกิดข้อตกลงใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ที่บรรเทาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและเลบานอนลงได้ระดับหนึ่ง หลังทั้งสองชาติลงนามกำหนดเขตแดนทางทะเลและเปิดให้แต่ละชาติใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในทะลเมดิเตอร์เรเนียนที่เดิมเป็นพื้นที่พิพาท ข้อตกลงนี้มีสหรัฐฯ เป็นคนกลาง และเป็นที่คาดหวังว่าทความเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างเม็ดเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับอิสราเอล ขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องหลายปีในเลบานอน

ช่วงเวลาการยื่นเอกสารข้อตกลงให้กับ มิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิเลบานอนในการเก็บเกี่ยวทรัพยากรทางทะเลตามพื้นที่ที่กำหนด จากเดิมที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่พิพาททางทะเลระหว่างสองชาติ

เอกสารจะผ่านการรับรองโดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศและคาดว่ารายละเอียดของเขตแดนและข้อตกลงจะถูกประกาศออกมาในภายหลัง

ด้านอิสราเอลเองก็ยินดีกับข้อตกลงด้านเขตแดนทางทะเล  

ไซโลเก็บธัญพืชพังถล่มที่ท่าเรือเบรุต หลังเกิดเพลิงไหม้นานหลายสัปดาห์

อิสราเอลไม่พอใจหนักหลังรัสเซียพูดบิดเบือนเรื่อง"ยิว"

บัญชีทวิตเตอร์ของยาอีร์ ลาปิด นายกรัฐมนตรีอิสราเอลระบุว่า ข้อตกลงนี้เป็นการระงับข้อพิพาท อีกทั้งยังเป็นไปตามแผนที่อิสราเอลต้องการพัฒนาความมั่นคงและเศรษญกิจของประเทศ

ทั้งเลบานอนและอิสราเอลตั้งอยู่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลของทั้งสองชาติถูกเรียกว่า ลิแวนต์ ตามชื่อของภูมิศาสตร์ที่หมายถึงพื้นที่ทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

พื้นที่ทางทะเลที่เรียกว่าลิแวนต์นี้มีความสำคัญอย่างมากในด้านพลังงาน เพราะเมื่อปี 2009 พื้นที่นี้ถูกสำรวจพบว่าเต็มไปด้วยก๊าซธรรมชาติ

และช่วงหลายปีที่ผ่านมาอิสราเอลได้ขุดเอาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาส่งออกไปยังยุโรปแล้ว ในขณะที่โครงการพลังงานของเลบานอนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น

ปัญหาคือพื้นที่พิพาททางทะเลระหว่างสองชาติ ที่แต่ละชาติลากเส้นออกจากชายฝั่งราว 200 ไมล์ทะเลเพื่อแสวงหาทรัพยากร

เส้นที่อิสราเอลลากเรียกว่า เส้น 23 ถูกเลบานอนมองว่ากินพื้นที่สูงเกินไปจนล้ำเขตแดนทางทะเลของเลบานอน

ส่วนเส้นที่เลบานอนลากเรียกว่า เส้น 29 ก็ถูกมองว่ากินพื้นที่ต่ำเกินไปจนล้ำเขตแดนทางทะเลของอิสราเอล

ปัญหาจากทั้งสองชาติส่งผลให้เกิดพื้นที่พิพาททางทะเลรูปสามเหลี่ยมขนาด 860 ตารางกิโลเมตรขึ้น พื้นที่สามเหลี่ยมที่เป็นข้อพิพาทมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่สองแหล่ง

แหล่งแรกคือ แหล่งก๊าซธรรมชาติ"คาริช" ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอิสราเอลและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในสามเหลี่ยมพิพาท

แหล่งที่สองคือ แหล่งก๊าซธรรมชาติ"กานา" พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในสามเหลี่ยมพิพาท และส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่อยู่ในเขตเลบานอน

ในข้อตกลงกำหนดเขตแดนที่ทั้งสองฝ่ายสรุปผลได้จนเป็นที่พอใจแล้วนั้น ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา แต่มีรายงานเบื้องต้นระบุว่า ทั้งสองชาติตกลงดังนี้

- ให้แหล่งก๊าซธรรมชาติคาริชเป็นของอิสราเอล ส่วนแหล่งก๊าซธรรมชาติกานาที่พิพาทอยู่ในสามเหลี่ยมก็ให้อิสราเอลเช่นกัน

- ฝ่ายเลบานอนจะได้แหล่งก๊าซธรรมชาติกานาที่เหลือทั้งหมด

อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามต่อว่า รายละเอียดของเขตแดนและข้อตกลงเพิ่มเติมที่จะทยอยเผยแพร่ออกมาจะเป็นอย่างไร

ล่าสุดมีเสียงจากศัตรูของอิสราเอลอย่าง กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ องค์กรทางการเมืองและการทหารนิกายชีอะห์ในเลบานอน

พวกเขาระบุว่า จะยังคงจับตาดูข้อตกลงนี้และยังไม่ไว้วางใจจนกว่ารัฐบาลของทั้งสองชาติจะประกาศรายละเอียดออกมาอย่างเป็นทางการ

ในทางปฏิบัติทั้งสองชาติยังอยู่ระหว่างการทำสงครามกันนับตั้งแต่อิสราเอลก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 1948 และความคืบหน้าของเขตแดนทางทะเลนี้ทางฝ่ายเลบานอนชี้ว่า ไม่ได้หมายถึงการรับรองอธิปไตยของอิสราเอล

แม้ในทางความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจะยังคงเป็นศัตรูกัน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือตามมาคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ ( 11 ต.ค.)หลังข่าวข้อตกลงเขตแดนเผยแพร่ออกมา วาลิด ฟายัด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเลบานอนออกมาระบุว่า Total บริษัทพลังงานขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสที่ร่วมทำสัญญาสำรวจแหล่งพลังงานกับเลบานอนพร้อมลงพื้นที่สำรวจแหล่งพลังงานกานาทันที เนื่องจากที่ผ่านมา พื้นที่พิพาททำให้โครงการด้านพลังงานของเลบานอนติดขัดและล่าช้า

ในขณะที่ฝ่ายอิสราเอลเองก็คาดหวังว่าแหล่งพลังงานในพื้นที่พิพาทเดิมนี้จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และล่าสุดก็เพิ่งเปิดให้บริษัทพลังงานของสหราชอาณาจักรเข้ามาทดสอบการผลิตก๊าซแบบลอยน้ำเหนือแหล่งก๊าซธรรมชาติคาริชไป

ข้อตกลงนี้ผ่านการเจรจาหลายครั้งนานกว่าสองปี โดยมีสหรัฐฯ เป็นคนกลางและผู้ไกล่เกลี่ย

ล่าสุดหลังมีสัญญาณที่ดีจากทั้งอิสราเอลและเลบานอนว่าจะยอมรับข้อตกลง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแสดงความยินดี ระบุว่า ความสำเร็จนี้ไม่เพียงเป็นตัวอย่างของการแสวงหาพลังงานอย่างสันติ แต่ยังจะป้อนพลังงานใหม่เข้าสู่ตลาดโลก

หลายเดือนของความพยายามไกล่เกลี่ยโดยสหรัฐฯ ในที่สุดรัฐบาลอิสราเอลและเลบานอนก็บรรลุข้อตกลงด้านเขตแดนทางทะเล นี่คือโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างสันติ อีกทั้งจะช่วยนำพาพลังงานใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ไม่เฉพาะทั้งสองประเทศข้างต้น แต่ทั่วทั้งโลก

เลบานอนจมอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยมานานหลายปี เหตุการณ์ที่ผู้คนจำกันได้คือ เหตุระเบิดท่าเรือกลางกรุงเบรุตเมืองหลวงในปี 2020 จากคลังเก็บแอมโมเนียไนเตรต ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 218 และผู้ได้รับบาดเจ็บ 7,000 คน และอีกราว  3 แสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

เลบานอนสูญเสียเงินมหาศาลในการฟื้นฟู จากนั้นก็เกิดวิกฤตการเมืองตามมา รวมถึงโควิด-19 ที่ฉุดให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

รัฐบาลเลบานอนเต็มไปด้วยหนี้สิน ส่งผลให้ต้องประหยัดและใช้มาตรการดับไฟฟ้าเป็นรายชั่วโมง ในขณะที่ประชาชนก็ยากลำบาก เพราะค่าเงินลีราตกต่ำและข้าวของแพงขึ้นจากสงครามยูเครน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ