แนวปะการัง “เกรตแบริเออร์รีฟ” ตกอยู่ในอันตราย อาจหลุดจากมรดกโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้แนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ เสี่ยงที่จะหลุดออกจากสถานะมรดกโลก

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 พ.ย.) คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมายจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้เปิดเผยรายงานแนะนำว่า ควรจัดให้ เกรตแบริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) เป็นแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในสถานะอันตราย เนื่องจากเวลานี้ที่นั่นกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น และมลพิษทางการเกษตร ทำให้แนวปะการังต้องตกอยู่ในความเสี่ยง และสูญเสียความสามารถในการฟื้นตัว

บางส่วนของแนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ฟื้นตัวมากสุดในรอบ 36 ปี

23 ม.ค.66 บังคับใช้กม. JSOC นักโทษ 117 ราย ได้รับการปล่อยตัว

ทั้งนี้หลังจาก ยูเนสโก ได้มอนิเตอร์ตรวจสอบแนวปะการังในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็พบปะการังฟอกขาวจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็พบความเป็นกรดเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล ซึ่งสร้างความกังวลต่อผลกระทบระบบนิเวศของแนวปะการังแห่งนี้ พร้อมแนะนำให้ออสเตรเลียเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลงทุนดูแลคุณภาพน้ำ

โฆษกของยูเนสโก เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า กำลังเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลชุดปัจจุบันของออสเตรเลีย หลังจากเมื่อปีที่แล้วยูเนสโกได้พิจารณาเพื่อนำเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ขึ้นบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย แต่ถูกรัฐบาลออสเตรเลียชุดก่อนหน้าล็อบบี้อย่างหนัก จนทำให้ยูเนสโกเลื่อนการตัดสินใจมาในปีนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะผลักดันไม่ให้ยูเนสโกกำหนดให้แนวปะการังแห่งนี้ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย พร้อมย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้คุกคามแค่แนวปะการังที่นี่เพียงที่เดียวเท่านั้น แต่ว่าได้คุกคามแนวประการังทุกแห่งบนโลกใบนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามรายงานล่าสุดของยูเนสโก ได้ออกมายอมรับถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียในการปกป้องแนวปะการังแห่งนี้ แต่ก็พบว่า แม้ออสเตรเลียมีความพยายามในการจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ว่า เกรตแบริเออร์รีฟ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษจากเกษตรกรรมที่ไหลลงสู่ทะเล

ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ออสเตรเลียรายงานว่า แนวปะการัง 91 % ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาว หลังเผชิญกับคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อนที่ยาวนาน และปีนี้เป็นครั้งแรกที่พบว่า แนวปะการังแห่งนี้เกิดการฟอกขาวในช่วงปรากฏการณ์ลานีญา

เว็บไซต์ของมูลนิธิเกรตแบริเออร์รีฟ ระบุว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ได้เผชิญกับการฟอกขาวหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วง 6 ปีที่ผ่านมาพบว่าที่นั่นเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดถึง 4 ครั้งคือ ปี 2016, ปี 2017, ปี 2020 และ ปี 2022

ทั้งนี้ผลการศึกษาหนึ่งพบว่า หลังเกิดปะการังฟอกขาว ในปี 2016 และ ปี 2017 ก็มีปะการังที่โตเต็มวัยเหลืออยู่ไม่มากพอที่จะช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

ขณะที่ปี 2019 ออสเตรเลียได้ลดระดับโอกาสการฟื้นตัวในระยะยาวของแนวปะการังลงมาอยู่ที่ระดับแย่มาก ทั้งนี้จากปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวปะการังแห่งนี้ได้สูญเสียปะการังไปแล้วราวครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 1995

ขณะที่งานวิจัยล่าสุดจาก Australian Academic of Science ได้ออกมาเตือนว่า วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก และอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น อาจทำให้แนวปะการังแห่งนี้เกือบ 99% มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียปะการังไปภายในปี 2025

รัฐบาลออสเตรเลียได้แก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง?

หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียได้พยายามปกป้องเกรตแบริเออร์รีฟไม่ให้ตกอยู่ในสถานะเสี่ยงอันตราย เพราะอาจส่งผลทำให้แนวปะการังสูญเสียการเป็นแหล่งมรดกโลก และไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

ซึ่งหลังเกิดการฟอกขาวของปะการังในปี 2016 และ 2017 รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า จะมอบงบประมาณช่วยเหลือมูลค่า 5 ร้อยล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย รวมถึงออกมาตรการต่าง ๆ เช่น กำจัดดาวมงกุฎหนาม และจ่ายเงินให้เกษตรกรเพื่อลดการปล่อยน้ำจากการทำการเกษตรลงทะเล

ขณะที่เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลก็ระบุว่า จะมอบงบประมาณมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อฟื้นฟูแนวประการัง ล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดสรรเงิน 1 พัน 2 ร้อยล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่อปกป้องแนวปะการังแห่งนี้ และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมารัฐสภาออสเตรเลียได้ผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ด้วย

แนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟมีความสำคัญอย่างไร?

สำหรับแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลกที่ครอบคลุมความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย โดยที่นั่นเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก รวมถึงมีความสำคัญทางธรรมชาติ และทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 1981

ทั้งนี้เกรตแบริเออร์รีฟ  ประกอบด้วยแนวปะการังน้อยใหญ่ราว 3,000 แห่ง มีปะการังอาศัยอยู่ประมาณ 600 ชนิด ปลา 1,625 สายพันธุ์ ฉลามและปลากระเบน 166 สายพันธุ์ โลมา และวาฬ 30 สายพันธุ์ ทำให้ที่นั่นเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมากที่สุดของออสเตรเลีย

สมาคมอนุรักษ์ทะเลออสเตรเลีย เปิดเผยว่า แนวปะการังแห่งนี้ได้สร้างงานให้กับผู้คน 60,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้ให้กับออสเตรเลียปีละ 6 พัน 4 ร้อยล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกว่า 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หากแนวปะการังแห่งนี้ถูกขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกที่มีสถานะอันตราย ซึ่งเป็นใบเหลือง ก่อนหน้าใบแดงอย่างการถอนสถานะมรดกโลก ก็อาจทำให้ออสเตรเลียต้องตกที่นั่งลำบาก และสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตามต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ออสเตรเลียจะสามารถรั้งไม่ให้แนวประการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกสถานะอันตรายไปได้อีกปีหรือไม่ และออสเตรเลียจะใช้มาตรการใดในการชุบชีวิตปะการังเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ