รัสเซียเหลือทุนทรัพย์แค่ไหนในการทำสงครามกับยูเครน?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ รัสเซียยังมีทุนทรัพย์เพียงพอในการทำสงครามยืดเยื้อกับยูเครนหรือไม่?

ผ่านมา 9 เดือนแล้วนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน” ชวนให้เกิดความสงสัยว่า จากการต่อสู้ที่คาดว่าจะจบลงอย่างรวดเร็วกลับกลายเป็นศึกที่ยืดเยื้อใกล้จะข้ามปีนี้ รัสเซียยังมีทุนทรัพย์เหลือในการทำสงครามต่อหรือไม่?

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และพันธมิตร ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ ธุรกิจการนำเข้าและส่งออก อุตสาหกรรมหนัก และรายได้จากน้ำมันและก๊าซ

"โดรนจู่โจมระยะไกล" ภัยความมั่นคงใหม่ของรัสเซีย

ฐานทัพอากาศรัสเซีย 2 แห่งถูกโจมตี เชื่อเป็นฝีมือยูเครน

"ยุโรป" เริ่มเผชิญวิกฤตพลังงานในฤดูหนาว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และส่งผลให้พญาหมีขาวยุติสงคราม อย่างไรก็ตาม เซอร์เกย์ อเล็กซาเชนโก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังรัสเซีย ประเมินว่า “รัสเซียจะไม่ประสบกับข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ” ซึ่งหมายความว่า โอกาสที่รัสเซียจะยุติสงครามเพราะทุนทรัพย์ไม่พอนั้น “เป็นไปได้น้อยมาก”

มาตรการคว่ำบาตร ได้ผลไม่มาก

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยชาติตะวันตกทำให้เศรษฐกิจในรัสเซียตกต่ำได้ประมาณหนึ่ง จากข้อมูลของรัฐบาลรัสเซีย ในปี 2022 GDP ลดลงประมาณ 2.9% ขณะที่ธนาคารกลางระบุว่าจะลดลง 3-3.5%

รัสเซียยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้น 10% ในช่วง 8 สัปดาห์แรกของการรุกราน แต่เมื่อถึงเดือน พ.ค. ดัชนีราคาก็ลดระดับลง

นอกจากนี้ ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียยังร่วงลงอย่างมากในเดือน ก.พ.-มี.ค. จาก 75 รูเบิลต่อดอลลาร์เป็น 135 รูเบิลดอลลาร์ ทางการรัสเซียจึงกำหนดข้อจำกัดทางการเงินอย่างเข้มงวดในการทำธุรกรรมและเงินทุน ในที่สุดค่าเงินรูเบิลก็ทรงตัวที่ระดับ 60-70 รูเบิลต่อดอลลาร์

การคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ควบคู่ไปกับอุปสงค์ที่ลดลง ทำให้การนำเข้าสินค้าไปยังรัสเซียลดลงอย่างมาก โดยลดลง 23% และ 14% ในไตรมาสที่สองและสามของปี 2022 ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าลดลง 20% รวมถึงภาษีและอากรศุลกากรในช่วง 10 เดือนแรกของปี

ความขัดแย้งกับตะวันตกในเรื่องสงครามยูเครนยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกเชื้อเพลิงของรัสเซีย ซึ่งในปี 2021 คิดเป็นเกือบ 50% ของการส่งออกทั้งหมดและ 45% ของรายได้งบประมาณของรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ ก่อนการรุกรานยูเครน บริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัสเซีย ก็ได้เริ่มลดการจัดหาก๊าซไปยังยุโรปตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น

ในเดือน เม.ย. ปูตินประกาศให้บริษัทยุโรปชำระค่าเชื้อเพลิงของรัสเซียเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น แต่ประเทศในยุโรปจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม ทำให้รัสเซียหยุดจ่ายก๊าซให้กับประเทศเหล่านั้น ประกอบกับเหตุการก่อวินาศกรรมท่อส่งนอร์ดสตรีม (Nord Stream) ก็ทำให้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ส่งไปยังยุโรปแทบจะถูกตัดขาดโดยสมบูรณ์

ดังนั้น ณ กลางเดือน พ.ย. การส่งออกของก๊าซพรอมไปยังยุโรปจึงลดลง 43% แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัสเซียลดลง ในทางตรงกันข้าม ก๊าซพรอมและงบประมาณของรัฐบาลกลางมีผลกำไรก้อนใหญ่จากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเดือน ส.ค. ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งแตะจุดสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 460% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ผลกำไรของก๊าซพรอมเพิ่มขึ้นอย่างมากจนรัฐบาลรัสเซียสามารถเก็บภาษีชั่วคราวจากรายได้ของบริษัทตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. ได้ โดยนำเงิน 1.24 ล้านล้านรูเบิล (ราว 6.9 แสนล้านบาท) เข้าสู่กองทุนของรัฐ

 

คอนเทนต์แนะนำ
กองทัพรัสเซีย ยังคงถูกโจมตีจากโดรนของยูเครน 2 วันติดต่อกัน
อินโดนีเซียเข้ม! ห้ามอยู่กิน-มีเซ็กส์ก่อนแต่ง ฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี

 

สถานการณ์ในภาคน้ำมันก็คล้ายกัน แผนการของสหภาพยุโรปที่จะจำกัดการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซีย บีบให้บริษัทรัสเซียต้องมองหาลูกค้ารายใหม่และตกลงที่จะลดราคาลงมากถึง 25%

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ราคาน้ำมันของรัสเซียจึงยังคงสูงกว่าในปี 2021 และขายได้ราคาดีอยู่แม้ว่าจะมีส่วนลดให้กับลูกค้าก็ตาม

โดยรวมแล้ว ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 รัสเซียมีรายรับจากภาคการผลิตและส่งออกพลังงานและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปี 2021

งบกลาโหมรัสเซียพุ่ง

ในด้านงบประมาณการใช้จ่ายทางการทหารของรัสเซียในปีนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกระทรวงการคลังรัสเซียรายงานว่า ภายในสิ้นปีนี้ การใช้จ่ายด้านกลาโหมจะเพิ่มขึ้น 31% จาก 3.57 ล้านล้านรูเบิล (ราว 1.98 ล้านล้านบาท) เป็น 4.68 ล้านล้านรูเบิล (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) และยังมีเงินอีกราว 7 แสนล้านรูเบิล (3.9 แสนล้านบาท) ที่กระทรวงกลาโหมใช้ในการซื้อและซ่อมแซมอาวุธในปีนี้

อีกหนึ่งงบประมาณของรัฐบาลกลางรัสเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2022 คือ “งบสำหรับประเด็นระดับชาติทั่วไป” ซึ่งเพิ่มขึ้น 50% เปอร์เซ็นต์เป็น 2.63 ล้านล้านรูเบิล (1.46 ล้านล้านบาท) โดยมาจากการบริหารของหน่วยงานทุกแห่งของรัฐบาล

การใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสำหรับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 19% เมื่อเทียบกับปี 2021 เป็น 2.78 ล้านล้านรูเบิล (1.55 ล้านล้านบาท) เงินพิเศษบางส่วนเหล่านี้จัดสรรให้กับกองกำลังพิทักษ์ชาติรัสเซีย

ยังมีการ “ประกาศระดมกำลังพลสำรองบางส่วน” ที่มีการเกณฑ์ทหารเพิ่มราว 318,000 นายเข้ากองทัพ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3.72 แสนล้านรูเบิล (ราว 2 แสนล้านบาท) เพื่อจ่ายเงินเดือนทหารเกณฑ์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

แม้จะมีรายจ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นมหาศาล กระนั้นรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ชดเชยการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสงครามได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น รัสเซียจะสิ้นสุดปีนี้ด้วยการขาดดุลที่ 0.9% ของ GDP หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.2 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ กองทุนสำรองสะสมของรัสเซียมีเงินอยู่ประมาณ 10.7 ล้านล้านรูเบิล (5.9 ล้านล้านบาท) ส่วนที่สามารถนำออกมาใช้ได้มีอยู่ 7.5 ล้านล้านรูเบิล (4.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลในปี 2022 ที่เกิดขึ้น

คาดการณ์งบและรายได้ของรัสเซียปีหน้า

อเล็กซาเชนโกประเมินว่า งบประมาณการใช้จ่ายในปีหน้าของรัสเซียเป็นเรื่องที่ปะเมินได้ยาก แต่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นจากการที่ค่าใช้จ่ายในการระดมกำลังพลสำรองเพิ่มเติมไม่ได้รวมอยู่ในงบประมาณปี 2022 ซึ่งรวมถึงความล่าช้าในการจ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากสงคราม ทำให้มีแนวโน้มว่ารัฐบาลรัสเซียจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยงบปี 2023

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เกย์ ชอยกู ประกาศเพิ่มการจัดซื้อของกองทัพ 50% ในปีหน้าด้วย

ขณะที่ในส่วนของรายได้นั้นก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ง่ายเช่นกัน หลังจากที่ในปีนี้รัสเซียมีผลกำไรอย่างคาดไม่ถึงจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทำให้รัฐบาลคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไตรมาสแรกของปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ และธนาคารแห่งชาติรัสเซียคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 มากกว่า

อเล็กซาเชนโกบอกว่า สิ่งที่เขาไม่ทราบคือ รายได้จากเชื้อเพลิงในปีหน้าของรัสเซีย โดยเฉพาะจากน้ำมัน จะเป็นอย่างไร เพราะสหภาพยุโรปหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค. และจะหยุดการซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียทั้งหมดในวันที่ 5 ก.พ.  สหภาพฯ รวมถึง G7 และออสเตรเลียก็กำหนดราคาน้ำมันสูงสุดที่ไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้นสำหรับน้ำมันรัสเซีย

ผลที่ตามมาคือ ไม่น่าเป็นไปได้ที่รัสเซียจะสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำมันในปีหน้าเพื่อให้เท่ากับระดับก่อนสงครามได้ ราคาเฉลี่ยของน้ำมันส่งออกของรัสเซียในปี 2021 อยู่ที่ 69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนรูเบิล-ดอลลาร์ในปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2021 ถึง 15% และมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปจนถึงปีใหม่ ปัจจัยเหล่านี้อาจลดรายได้งบประมาณปี 2023 จากการผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงลง 15-20% หรือ 2.2-2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.7 แสนล้านบาท – 1 ล้านล้านบาท)

แน่นอนว่ารัฐบาลรัสเซียมีแผนรับมือรายได้ที่คาดว่าจะลดลงแล้ว โดยประกาศขึ้นภาษีกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับผู้ผลิตโลหะและถ่านหิน ซึ่งคาดว่าสามารถสร้างรายได้มากพอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลงไปได้ถึง 75%

อเล็กซาเชนโกประเมินว่า ความเสี่ยงที่รัสเซียจะมีรายได้ไม่ถึงตามแผนในปี 2023 จะยังคงอยู่ แต่จะจำกัดอยู่ที่ 5-6% ของรายได้งบประมาณทั้งหมด ดังนั้น แม้ว่ารายได้จะลดลง แต่การขาดดุลงบประมาณเชื่อว่าจะไม่เกิน 3% ของ GDP (5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งสามารถชดเชยจากกองทุนเงินสำรองได้ทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าโอกาสที่ประเทศตะวันตกจะเพิ่มแรงกดดันในการคว่ำบาตรรัสเซียจะมีอยู่ไม่มาก ซึ่งหมายความว่างบประมาณปี 2023 ของรัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรนักจากการคว่ำบาตร

เมื่อคำนึงถึงทั้งหมดนี้แล้ว อเล็กซาเชนโกให้ข้อสรุปว่า “รัสเซียไม่น่าจะมีข้อจำกัดทางการเงินที่สำคัญใด ๆ ที่อาจบีบให้ต้องยุติการรุกรานยูเครน”

 

คอนเทนต์แนะนำ
“สเปน” บอดโทษพ่าย “โมร็อกโก” ร่วงฟุตบอลโลก 2022 รอบ 16 ทีม
“เซาธ์เกต” ไม่เร่ง “สเตอร์ลิง”กลับเข้าแคมป์ ฟุตบอลโลก 2022

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ