ไต้หวัน เชื่อ จีนกำลังหาข้ออ้างใหม่ซ้อมรบเตรียมโจมตี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน ยังคงมีความตึงเครียดมาตลอดนับตั้งแต่จีนซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงความไม่พอใจการเยือนไต้หวันของ ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

ล่าสุด โจเซฟ วู รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันเผยว่า ภัยคุกคามทางการทหารจากจีนต่อไต้หวันร้ายแรงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยรัฐบาลไต้หวันเชื่อว่าจีนกำลังเตรียมการหาข้ออ้างใหม่เพื่อฝึกซ้อมรบสำหรับการโจมตีไต้หวันในอนาคต

วันนี้เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน เผยแพร่บทความสัมภาษณ์พิเศษของโจเซฟ วู รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ภัยคุกคามทางการทหารของจีนที่มีต่อไต้หวันมีความร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม จำนวนเครื่องบินจีนที่รุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่านับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา

ไต้หวันขอเพิ่มงบกลาโหมสูงเป็นประวัติการณ์ สู้ภัยคุกคามจีน

จีน ขู่ใช้กำลังผนวก ไต้หวัน หากสหรัฐฯ ยังแสดงท่าทีสนับสนุน

โดยเมื่อปี 2020 มีเครื่องบินจีนรุกล้ำเขตป้องกันภัยทางอากาศไต้หวัน 380 ลำ แต่ปีนี้มีมากกว่า 1,500 ลำ ซึ่งนี่หมายความว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การยกระดับความตึงเครียดมีมากขึ้นด้วย

การคุกคามครั้งรุนแรงที่สุดก็คือการซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่จีนบอกว่าการซ้อมรบดังกล่าวเป็นยุทธการปิดล้อมที่วันหนึ่งอาจนำมาใช้ต่อไต้หวันในสถานการณ์จริงขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการซ้อมรบใหญ่ในระดับนี้อาจชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมทางการทหารแบบนี้อาจถูกเตรียมการมานานแล้ว และการเยือนของเพโลซีเป็นเพียงข้ออ้างทางการเมืองของจีนเท่านั้น

โดยโจเซฟ วู ระบุว่ารัฐบาลไต้หวันเชื่อว่าจีนอาจต้องการใช้ข้ออ้างอื่นเพื่อ “ฝึกซ้อมการโจมตีไต้หวันอนาคต” และนี่เป็นภัยคุกคามทางการทหารต่อไต้หวัน

ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันยังบอกว่า นอกจากกิจกรรมทางการทหารแล้ว จีนยังใช้แรงกดดันอื่นๆ ผสมกัน ทั้งการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การโจมตีทางไซเบอร์  การทำสงครามด้านกระบวนความคิดและกฎหมาย ตลอดจนแรงกดดันทางการทูตเพื่อพยายามโดดเดี่ยวไต้หวันในเวทีโลก

ทั้งนี้ ในอดีต ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน ยกระดับ ถูกบรรเทาลงผ่านการสื่อสารข้ามช่องแคบไต้หวัน แต่หลังจากที่ประธานาธิบดี ‘ไช่อิงเหวิน’ ผู้นำไต้หวันคนปัจจุบันได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2016 จีนก็ได้ตัดช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการนั้นลง

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันยังเผยว่า ที่ผ่านมาไต้หวันพยายามรักษาช่องทางการสื่อสารบางอย่างกับรัฐบาลจีนผ่านนักธุรกิจไต้หวันและนักวิชาการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีน แต่หลังสี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และสามารถขจัดปีกตรงข้ามทางการเมือง กุมอำนาจเด็ดขาดภายในพรรคได้สำเร็จ ช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นก็ถูกปิดลง

โจเซฟ วู บอกว่า สาเหตุเป็นเพราะระบบการปกครองของจีนที่เป็นอำนาจนิยมเพิ่มขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนที่นักวิชาการยังสามารถให้คำแนะนำแก่รัฐบาลกลาง สื่อสารกับผู้ตัดสินใจนโยบายคนสำคัญของ และนำสิ่งที่ผู้นำระดับสูงของจีนคิดมาบอกกับรัฐบาลไต้หวันได้

แต่ตอนนี้นักวิชาการต่างกังวลในการให้ความเห็นที่ต่างออกไปจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน นักวิชาการเหล่านี้บอกกับรัฐบาลไต้หวันอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่สามารถประสานกับรัฐบาลกลางของจีนได้อีกต่อไป โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสรุปสถานการณ์ในจีนตอนนี้ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือผู้นำสูงสุด และไม่มีใครสามารถท้าทายอำนาจของเขาได้อีกในตอนนี้

ทั้งนี้ ในมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไต้หวันคือมณฑลหนึ่งที่แยกออกไปและรอวันกลับมารวมชาติกันอีกครั้ง แม้ว่าไต้หวันจะมีรัฐบาลของตัวเองที่มาจากการเลือกตั้ง มีกองทัพของตัวเอง ตลอดจนมีระบบการเมืองการปกครองที่แยกขาดจากจีนแผ่นดินใหญ่ และรัฐบาลพรรคอมมิวนิสต์ของจีนไม่เคยปกครองไต้หวันเลยนับตั้งแต่ปี 1949

ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เอง ก็ไม่เคยปกปิดความปรารถนาที่จะทำให้ไต้หวันมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน

หากเราย้อนกลับไปดูถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้นำจีนย้ำชัดว่าแม้จีนจะต้องการให้การรวมชาติเป็นไปอย่างสันติ แต่ก็ไม่ตัดเรื่องการใช้กำลังออกไปหากจำเป็น

ผู้นำจีนไม่เคยพูดถึงกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าต้องการให้การรวมชาติเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการผลักดันอิทธิพลของจีนในเวทีโลกและบรรลุเป้าหมายที่ผู้นำพรรคคนก่อนๆ หน้าทำไม่สำเร็จ ดังนั้น เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาใน 5 ปีต่อจากนี้

ท่ามกลางแรงกดดันจากจีน สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันพยายามทำมาตลอดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็คือการหาแรงสนับสนุนในหมู่ประเทศประชาธิปไตย โดยหลังการเยือนของเพโลซี เราก็ได้เห็นการเยือนไต้หวันของส.ส.จากประเทศเสรีประชาธิปไตยอื่นๆ ตามมามากมาย

ล่าสุด คือการเยือนของสมาชิกคนสำคัญของพรรครัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ผู้นำไต้หวันใช้โอกาสนี้ประกาศเป้าหมาย เพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่น เพื่อรับรองเสรีภาพในภูมิภาค

ภาพของ ‘โคอิจิ ฮากิอูดะ’ ประธานด้านนโยบายของพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลญี่ปุ่น ที่เข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ระหว่างการเยือนไต้หวันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์

รายงานระบุว่า ระหว่างการหารือผู้นำไต้หวันได้กล่าวขอบคุณญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนในประเด็นการรักษาความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันที่มีความเปราะบาง และไต้หวันจะเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือกับญี่ปุนในประเด็นต่างๆ ที่รวมถึงความมั่นคง เพื่อทำให้แน่ใจว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จะมีเสรีภาพและเสถียรภาพ

ขณะที่ฮากิอูดะก็บอกว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของญี่ปุ่น จากการยึดถือในคุณค่าพื้นฐานต่างๆ ร่วมกัน เช่น เสรีประชาธิปไตย หลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ด้วยบริบทเหล่านี้ ความร่วมมือทั้งสองฝ่ายจึงเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง

ญี่ปุ่นและไต้หวันไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสองแห่งมีข้อกังวลร่วมกัน นั่นคือการขยายอิทธิพลของจีนซึ่งดำเนินกิจกรรมทางการทหารใกล้กับไต้หวันและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

แต่นอกจากความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างไต้หวันและญี่ปุ่นกระชับแน่นขึ้นแล้ว ท่าทีแข็งกร้าวของจีน โดยเฉพาะการซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่มีการยิงขีปนาวุธ 5 ลูก ตกลงในทะเลใกล้กับเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น ก็ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นกังวลมากยิ่งขึ้น

และในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมการสำหรับงบประมาณปีหน้า ท่าทีคุกคามจากจีนตลอดจนเกาหลีเหนือ ก็ทำให้นายกรัฐมนตรี ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ ประกาศจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นมาอยู่ที่ราวร้อยละ 2 ของจีดีพีในปี 2027 หรือ 5 ปีข้างหน้า จากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1 ของจีดีพีในปัจจุบัน

การปรับเพิ่มดังกล่าวจะทำให้งบประมาณรายปีด้านกลาโหมของญี่ปุ่นอยู่ที่กว่า 80,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีงบด้านการทหารมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และจีน เมื่อคิดจากตัวเลขงบของทั้งสองประเทศในปัจจุบัน ซึ่งการประกาศของผู้นำญี่ปุ่น ได้ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาบอกว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่อันตราย

แต่ระหว่างการเยือนไต้หวัน ฮากิอูดะในฐานะประธานนโยบายของพรรครัฐบาลญี่ปุ่นก็ย้ำถึงความจำเป็นที่ญี่ปุ่นต้องใช้จ่ายด้านกลาโหมมากขึ้น ท่ามกลางท่าทีคุกคามจากจีน ตลอดจนการทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังถือเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้งของฐานทัพใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ หลายแห่ง รวมถึงบนเกาะโอกินาวา ที่อยู่ไม่ไกลจากไต้หวัน

โดยฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวาถูกมองเป็นฐานสำคัญที่สหรัฐฯ จะส่งความช่วยเหลือให้กับไต้หวัน หากถูกจีนโจมตี

ขณะเดียวกัน วันนี้ 12 ธ.ค.โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เผยว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ 2 คน ได้แก่ ‘แดเนียล เจ. คริเทนบริงค์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียตะวันออก และ ‘ลอรา โรเซนเบอร์เกอร์’ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการจีนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และเข้าพบหารือกับ ‘เซี่ย เฟิง’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน โดยการเยือนมีขึ้นตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้

ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก และยังเป็นการหารือถึงแนวทางกาทำให้ข้อตกลงระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีน ที่ได้มาจากการพบกันที่บาหลีบรรลุผล ซึ่งสิ่งที่ผู้นำสองมหาอำนาจได้พูดคุยกันครอบคลุมถึงการจัดการต่อประเด็นไต้หวันอย่างเหมาะสมด้วย 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ