ยอดขายแชมเปญพุ่ง แม้เศรษฐกิจโลกทรุดหนัก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้จำหน่ายแชมเปญจากฝรั่งเศสคาดยอดขายปีนี้ทะลุเป้า แม้ว่าหลายประเทศจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคคิดหนักขึ้นกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่คนยังนิยมซื้อแชมเปญ

กลุ่มผู้จำหน่ายแชมเปญ เปิดเผยกับ สำนักข่าวรอยเตอร์สว่ายอดขายแชมเปญในปีนี้กำลังจะทำสถิติเกินเป้าที่ตั้งไว้และมากกว่าปีที่แล้ว โดยมียอดขายประมาณ 5,700 ล้านยูโร หรือประมาณ 2 หมื่น 8 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตที่ผ่อนคลายมากขึ้นของประชาชน หลังผ่านการระบาดครั้งใหญ่ และต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่ห้ามออกนอกบ้าน และงดการสังสรรค์

ดาวิด ชาตียง (David Chatillon) ประธานสมาคมผู้ผลิตแชมเปญ บอกว่ายอดขายแชมเปญในปีนี้กำลังจะทำสถิติใหม่ และทุบสถิติเก่า

ส.บอล ประสานฝ่ายเกี่ยวข้อง หารือด่วนถ่ายทอดสดชิงแชมป์อาเซียน 2022

อากาศหนาวเลวร้ายที่สุด! พายุฤดูหนาวถล่มสหรัฐฯ ดับ 12 ศพ

 

อันเป็นผลมาจากปริมาณการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้ยอดขายในปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว ที่แชมเปญถูกจำหน่ายออกไป 320 ล้านขวด แม้จะยังไม่แตะระดับที่คาดไว้ แต่ก็ใกล้มากแล้ว ในขณะที่สถิติเดิมที่เคยทำไว้สูงสุดเมื่อปี 2007 อยู่ที่ 339 ล้านขวด ซึ่งเขาเองก็คาดหวังว่าปลายปีของเทศกาลเฉลิมฉลอง จะสามารถทำลายสถิติเดิมได้

ทำไมแชมเปญถึงขายดี สวนกระแสเงินเฟ้อและผลพวงจากสงครามรัสเซีย ยูเครน?

สิ่งที่น่าสนใจคือเหตุใดแชมเปญถึงมียอดขายเติบโตอย่างมาก ด้วยราคาที่ไม่ใช่ถูกๆ ซึ่งสิ่งนี้นับว่าสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนจากพิษโรคระบาดโควิด 19 ตลอดจนผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ข้าวของต่างๆ แพงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งโดยทั่วไปตามที่เข้าใจคือประชาชนจะต้องกระมิดกระเมี้ยนที่จะจับจ่ายใช้สอย ยิ่งเป็นข้าวของที่มีราคาแพงก็ยิ่งคิดหนักมากขึ้น แต่ชาทิลลอนกลับบอกว่าเขามีกลุ่มผู้บริโภคที่เงินเฟ้อมีผลน้อยมากต่อพวกเขา ยิ่งผู้คนที่หลงรักและหลงใหลในแชมเปญก็แทบจะไม่มีผลเลย ประกอบกับในปีนี้มีสัญญาณบวกจากมาตรการการผ่อนคลายการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 มากขึ้นในหลายประเทศ ผู้คนต่างกระหายอยากจะออกมาใช้ชีวิตสังสรรค์ข้างนอก ตลอดจนอยากผ่อนคลายแม้แต่ในบ้านก็หันกลับมาจัดงานเฉลิมฉลองได้เหมือนดังที่เคยทำ และแน่นอนว่าพวกเขาต้องการของดีๆ เช่น การเปิดแชมเปญที่เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง

ในขณะที่ยอดการส่งออกหลักๆ มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้เติบโตขึ้นอย่างมากและเป็นตลาดลูกค้าสำคัญของแชมเปญฝรั่งเศสอย่างมาก ส่วนยอดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็เติบโตด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนราคาของแชมเปญ ชาตียงบอกว่าโดยปกติแล้วแชมเปญที่มาจากต้นกำเนิดในแคว้นช็องปาญเช่นนี้ มักมีราคาที่สูงอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ผลิตไวน์ได้ขอขึ้นราคาเนื่องจากมีต้นทุนของขวดบรรจุและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยราคาของแชมเปญก็แพงขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ว่าผลพวงจากสงครามรัสเซีย ยูเครนที่ผลักดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้น แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับกลุ่มผู้ผลิตไวน์และแชมเปญมากเท่ากับกลุ่มผู้ผลิตที่ต้องใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากการเก็บเกี่ยวองุ่นที่เป็นหัวใจหลักของแชมเปญยังคงใช้แรงงานคนมากกว่าใช้เครื่องจักร

ในขณะที่การเก็บเกี่ยวในปีนี้ก็ให้ผลดีอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ที่มีน้ำค้างลงมาและทำให้องุ่นมีเชื้อราเกาะจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนในปีนี้ ชาทิลลอนนิยามความสำเร็จของการเก็บเกี่ยวว่า “มหัศจรรย์” หลังตัวเลขการเก็บเกี่ยวเติบโตขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบจากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งดีกว่าเมื่อปีที่แล้วถึงสองเท่า

อย่างไรก็ดี สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อยอดขายแชมเปญ เนื่องจากขวดบรรจุแชมเปญเหล่านี้นั้นหลังจากถูกส่งไปยังตลาดกระจายสินค้าอื่นๆ ก็ได้ถูกส่งต่ออีกทีไปยังตลาดที่มีความต้องการสูงที่มีรองรับอยู่แล้ว

แชมเปญ สัญลักษณ์ของฝรั่งเศส การเฉลิมฉลอง และการปรองดอง

“แชมเปญ” ที่คุ้นหูกันในภาษาอังกฤษ หากแต่ในภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า “ช็องปาญ” ซึ่งมาจากชื่อของแคว้นช็องปาญ ในเมืองแร็งส์ (Reims) ทางตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตแชมเปญและไวน์ชั้นดีระดับโลก

ในขณะที่หลายคนอาจคุ้นเคยว่าแชมเปญก็คือเครื่องดื่มที่มีความซ่า มีฟองที่เห็นเด่นชัด แต่ที่จริงแล้วแชมเปญแต่แรกเริ่มไม่ได้ซ่าแบบนั้น ย้อนกลับไปในสมัยโรมัน ตั้งแต่ศตววรษที่ 10 เป็นต้นมา เวลาที่กษัตริย์ของฝรั่งเศสขึ้นครองราชย์ พิธีจะถูกจัดขึ้นที่มหาวิหารในเมืองแร็งส์ โดยมีการนำเอาไวน์ที่มาจากผลผลิตองุ่นซึ่งที่นี่เป็นแหล่งเพราะปลูกองุ่นใหญ่ที่สุดในประเทศมาเฉลิมฉลองในพิธี และได้ให้กษัตริย์ที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลกได้ลิ้มรสชาติด้วย ชื่อเสียงของไวน์ในเมืองแร็งส์เริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ และคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีว่าเป็นตัวแทนของการเฉลิมฉลอง ก่อนที่ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 16 พื้นที่เพราะปลูกองุ่นในเมืองนี้ก็กลายเป็นของที่มีคุณค่าอย่างมาก เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 แห่งสเปนทรงเป็นเจ้าของไร่องุ่น

ขณะที่แรงบันดาลใจของการกำเนิดแชมเปญมาจากจุดเด่นของมันเองก็คือ “ฟอง” แต่ฟองเจ้าปัญหานี้กลับสร้างความรำคาญใจให้แก่นักบวชที่ชื่อว่า “ดง ปิแอร์ เปรี-ญง” (Dom Pierre Perignon) เขาไม่ปรารถนาจะเห็นฟองอยู่ในไวน์ที่ตัวเองผลิตขึ้นมาเลยพยายามหาทางกำจัดมันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการใส่ยีสต์และน้ำตาลลงไป แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่ายิ่งทำให้ฟองมากขึ้น

ก่อนที่ต่อมาในศตวรรษที่ 17 กรรมวิธีการทำให้เกิดฟองนี้ก็คือสมบัติล้ำค่าของแชมเปญฝรั่งเศสที่เรียกว่า “méthode champenoise” หรือ เมธตอด ชองเปนัวส์ ฟองในเวลานั้น ได้กลายมาเป็นจุดสนใจของกลุ่มชนชั้นสูงของ ในช่วงฤดูหนาว พวกเขาได้นำเข้าไวน์ที่บรรจุอยู่ในลังไม้ขนาดใหญ่ หลังจากมันมาถึงอังกฤษพวกเขาก็เอาออกมาใส่ขวดและใช้จุกไม้ก๊อกปิดฝาไว้ พอมาถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นเวลาของการเปิดขวดไวน์ แรงดันที่อยู่ภายในขวดก็ปะทุออกมาและกลายเป็นความซ่าที่เราเห็นในแชมเปญปัจจุบัน ชาวอังกฤษตื่นตาตื่นใจกับฟองที่อยู่ในขวดนี้มาก จนถึงขั้นที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ เมอร์เรตต์ ตีพิมพ์เรื่องราวนี้เมื่อปี 1662 แชมเปญถูกยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส

ตลอดจนในการเฉลิมฉลองอย่างมีเกียรติ ดังเช่น เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลานั้นได้กล่าวข้อความสำคัญว่า “Remember gentlemen, it’s not just France we’re fighting for, it’s Champagne.” ซึ่งหมายความว่า "จดจำไว้สุภาพบุรุษทั้งหลาย ไม่ใช่แค่ฝรั่งเศสที่ร่วมรบ แต่มีแชมเปญร่วมด้วย" หรือแม้กระทั่งนักออกแบบแฟชั่นชื่อดังอย่างโคโค ชาแนล เคยพูดไว้ว่า จะดื่มแชมเปญแค่ 2 เวลานี้เท่านั้นก็คือเวลาที่ตกอยู่ในความรัก กับเวลาที่อกหัก

นอกจากแชมเปญยังถูกนับให้เป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสและการเฉลิมฉลองแล้ว ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองด้วย ปิแอร์-เอ็มมานูเอล เตติงเฌร์ ประธานบริหารของ Champagne Hillsides, Houses and Cellars Mission อธิบายถึงเหตุการณ์ปรองดองนี้ว่าเมืองแร็งส์ของแคว้นช็องปาญ คือสมรภูมิรบที่ทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มาประจันหน้ากันก่อนจะกลายเป็นเถ้าถ่าน และหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่แม้จะเป็นฝ่ายที่แพ้สงครามก็ได้ร่วมกันสร้างมหาวิหารรานส์นี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 1962 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความปรองดองกันนั่นเอง

MG แนะนำการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 'ที่ถูกต้อง' พร้อมเผยยอดขายสะสม 7,000 คัน

ปรับโฉมบอลถ้วยใหญ่เอเชีย ลดทีมจาก 40 เหลือ 24 ทีม

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ