เดาความคิด “ผู้นำคิม” ปี 2023 นี้มีแผนจะทำอะไรบ้าง?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




2022 เป็นปีแห่งความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หลังเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธสูงเป็นประวัติการณ์ แล้วในปี 2023 ผู้นำคิมจะทำอะไรอีกบ้าง?

ปี 2022 ที่สิ้นสุดไปเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่เกาหลีเหนือมีการยิงทดสอบขีปนาวุธสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้และกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า ในปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธไปเกือบ 90 ลูก!

ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าเมื่อปี 2020 และ 2021 ที่มีการทดสอบปีละประมาณ 10 ลูกอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกเลยที่ระดับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เกาหลีเหนือทดสอบ “ดาวเทียมสอดแนม” คาดสำเร็จ เม.ย. ปีหน้า

เกาหลีเหนือเล็งพัฒนาอาวุธใหม่ “ขีปนาวุธเชื้อเพลิงแข็ง”

สิ่งที่น่าจับตามองคือขีปนาวุธข้ามทวีปฮวาซอง-17 (Hwasong-17) ซึ่งในทางทฤษฎีมีความสามารถที่จะยิงไปได้ไกลถึงสหรัฐฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2022 ผู้นำสูงสุด คิม จองอึน ยังประกาศให้เกาหลีเหนือมีสถานะเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์ และแก้กฎหมายให้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเหมือนของขึ้นชื่อของชาติที่แม้ตัวเขาจะไม่อยู่ในอนาคต แต่อาวุธเหล่านี้ก็จะไม่หายไปและไม่สามารถยกเลิกได้

เรื่องที่เกิดในปีที่ผ่านมาทำให้บรรดานักวิเคราะห์ให้ความสนใจว่า ขนาดปีที่แล้วยัง “ตึง” ขนาดนี้ แล้วในปี 2023 ผู้นำคิมและเกาหลีเหนือจะทำอะไรอีกบ้าง?

สิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกเห็นตรงกันคือ เกาหลีเหนือจะยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธต้องห้ามอย่างขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ต่อไปอย่างแน่นอนไม่มีผิดพลาด

ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเพิ่งประกาศเร่งพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่และขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงสัปดาห์ที่แล้วในการประชุมใหญ่ประจำปีของคณะกรรมการกลางพรรคคนงานเกาหลีเหนือเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศในปี 2023 เอง ประเด็นความมั่นคงก็ได้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญ

ในการประชุม หนึ่งในคำสั่งของผู้นำคิมคือ “การเพิ่มการผลิตอาวุธนิวเคลียร์แบบทวีคูณ” ซึ่งรวมถึงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่มีขนาดเล็กลงจำนวนมาก ซึ่งสามารถใช้ต่อสู้กับสงครามกับเกาหลีใต้ได้

อังกิต แพนดา ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายนิวเคลียร์จากกองทุนคาร์เนอจีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ในสหรัฐฯ กล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด”

เขาบอกว่า ในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีขนาดเล็ก อันดับแรก เกาหลีเหนือต้องผลิตระเบิดนิวเคลียร์ขนาดจิ๋ว ซึ่งสามารถบรรจุลงในขีปนาวุธขนาดเล็กได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันโลกยังไม่พบหลักฐานว่าเกาหลีเหนือสามารถทำเช่นนั้นได้แล้ว ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองยังไม่พบว่าในปี 2022 มีการทดสอบดังกล่าวในเกาหลีเหนือ แต่ในปี 2023 อาจจะเป็นปีที่ทั่วโลกจะได้เห็นแล้ว

ลิสต์สิ่งที่ต้องทำในปี 2023 นี้ของผู้นำคิมยังมีการปล่อยดาวเทียมสอดแนม ซึ่งเมื่อกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมามีรายงานว่าเพิ่งทำการทดสอบขั้นสุดท้ายสำเร็จ และคาดว่าจะส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือน เม.ย. นี้ ยังมีขีปนาวุธข้ามทวีปชนิดใช้เชื้อเพลิงแข็ง (Solid Fuel) ที่มีการทดสอบไปเมื่อกลางเดือน ธ.ค. เช่นกัน ซึ่งขีปนาวุธที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้จะมีความเสถียร เก็บได้นาน และใช้เวลาเตรียมยิงน้อยกว่าเดิม

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงสันนิษฐานว่า ปี 2023 จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากปี 2022 อย่างชัดเจน โดยที่เกาหลีเหนือจะยังคงทดสอบ ปรับแต่ง และขยายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์อย่างแข็งกร้าวต่อไป แต่สิ่งที่ทำให้มันต่างจากปี 2022 นั้น แพนดากล่าวว่า “การยิงขีปนาวุธส่วนใหญ่ในปีหน้าอาจไม่ใช่การทดสอบ แต่เป็นการฝึกซ้อม เนื่องจากขณะนี้เกาหลีเหนือเตรียมใช้ขีปนาวุธจริง ๆ ในความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น”

ในส่วนของความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ หรือสหประชาชาตินั้น นักวิเคราะห์มองว่าเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 นี้ เนื่องจากเกาหลีเหนือมองว่าแสนยานุภาพทางทหารที่มีในตอนนี้ อาจยังไม่มีอำนาจต่อรองที่มากพอ

คาดว่าผู้นำคิมอาจรอจนกว่าขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจะสามารถยิงไปถึงสหรัฐฯ ได้จริง ๆ จึงจะยอมกลับมานั่งโต๊ะเจรจาอีกครั้ง เพราะถึงตอนนั้น เขาจะเป็นฝ่ายคุมเกมบนโต๊ะเจรจาได้ด้วยอาวุธที่มี

อีกสองเรื่องที่นักวิเคราะห์จับตาคือ การเปิดพรมแดนกับจีน และการเปิดตัวผู้สืบทอด

เรื่องของพรมแดนนั้น เกาหลีเหนือประกาศปิดพรมแดนทั้งหมดนับตั้งแต่โลกเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 แต่ผลของการทำเช่นนั้นก็ทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารและยาภายในประเทศ ซึ่งปกติมักมีการจัดหาผ่านพรมแดนที่ติดกับจีน จนผู้นำคิมถึงกับออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า เกาหลีเหนือประสบวิกฤตด้านอาหาร

หลายฝ่ายจึงคาดว่า 2023 อาจเป็นปีที่เกาหลีเหนือจะตัดสินใจเปิดพรมแดนอีกครั้ง แต่ทั้งนี้คาดว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ในจีนด้วย เพราะหากจีนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละเป็นล้านคน ก็คาดว่าผู้นำคิมจะไม่ยอมเสี่ยงนำเชื้อเข้ามาในประเทศ และอาจเลือกปิดพรมแดนต่อไปหรือเปิดเพียงบางส่วนอย่างระมัดระวังเท่านั้น

ขณะที่เรื่องของผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือนั้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีแผนหรือประกาศใดออกมาอย่างเป็นทางการว่า คิม จองอึน วางให้ใครเป็นผู้สืบทอดของตัวเอง

แต่เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2022 โลกถึงกับต้องขยี้ตาซ้ำ ๆ ว่าไม่ได้ตาฝาด เมื่อเขาเปิดตัวเด็กหญิงที่คาดว่าเป็น “คิม จูแอ” ลูกสาวคนกลางของเขา ทำให้เกิดกระแสวิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานา

นักวิเคราะห์ไม่สามารถฟันธงได้ว่า ในปี 2023 นี้ จะเห็นบทบาทของ คิม จูแอ ชัดขึ้นหรือไม่ หรือนี่เป็นเพียงการปั่นหัวเล่น ๆ จากเกาหลีเหนือเท่านั้น

เกาหลีเหนือเปรียบได้กับแดนสนธยาที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่อง “ความคาดเดาไม่ได้” มาโดยตลอด และในปี 2023 นี้เอง ก็เป็นไปได้ว่า เกาหลีเหนืออาจมีอะไรมาเซอร์ไพรส์โลกอีกครั้ง (หรือหลายครั้ง) ซึ่งที่สุดแล้ว เราก็ได้แต่ติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ

“คิม จูแอ” ปรากฏตัวรอบสอง สื่อโสมแดงระบุ “ลูกสุดที่รักของผู้นำคิม”

ถอดความนัย ทำไม “คิม จองอึน” เปิดตัวลูกสาว “คิม จูแอ”

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ