“งบหมด” เหตุผลแท้จริงที่จีนปลดมาตรการโควิด-19 และเปิดประเทศ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิเคราะห์สาเหตุจีนปลดมาตรการโควิด-19 และเปิดประเทศ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่เพราะแรงกดดันจากการประท้วง แต่เพราะ “งบหมด” ต่างหาก

การเปิดประเทศและปลดมาตรการโควิด-19 ของประเทศจีนถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลก เพราะไม่มีใครคิดว่าทางการจีนที่เข้มงวดกับการป้องกันโควิด-19 มาตลอด 3 ปีจะยอมง่ายขนาดนี้ แม้จะบอกว่าเป็นเพราะแรงกดดันจากการประท้วงทั่วประเทศที่เกิดได้ยากยิ่งในจีนก็ตาม

ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากว่า สาเหตุที่จีนยอมยกเลิกมาตรการเข้มงวดจริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะความไม่พอใจของประชาชน แต่เกิดจาก “ทางการจีนมีงบไม่มากพอจะบังคับใช้มาตรการแล้ว” ต่างหาก

จีนเผยยอดเสียชีวิตโควิดรอบ 1 เดือน เกือบ 6 หมื่นราย

เผยภาพหลุมฝังศพในจีน สะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ขาขึ้น

คนดังในจีนเสียชีวิตต่อเนื่อง ประชาชนข้องใจ ใช่โควิดหรือเปล่า?

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและความเห็นส่วนบุคคลของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่เหมือนจะยืนยันความเป็นไปได้ของข้อสันนิษฐานดังกล่าวออกมา

ข้อมูลนั้นคือบทความของซินหัว สื่อที่กำกับดูแลโดยรัฐจีน ที่เคยเขียนบทความออกมาในวันเปิดประเทส 8 ม.ค. ว่า “เป็นการยากที่จะกำจัดไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด และต้นทุนค่าใช้จ่ายของการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ก็เพิ่มสูงขึ้น”

พูดง่าย ๆ ก็คือ จีนมองว่าการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการควบคุมการแรพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องที่ “คุ้มค่า” อีกต่อไปแล้ว

หากถามว่าจีนหมดเงินไปกับการควบคุมโควิด-19 มากแค่ไหน ตัวเลขงบประมาณการใช้จ่ายรายปีของรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลต่าง ๆ ทั่วจีนที่มีการเปิดเผยออกมาในช่วงสัปดาห์ก่อน น่าจะเป็นคำตอบได้ดี

จากรายงานงบประมาณ พบว่า เฉพาะมณฑลกวางตุ้ง ใช้เงินไปทั้งสิ้น 1.46 แสนล้านหยวน (7.2 แสนล้านบาท) ในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2020

งบส่วนนี้ครอบคลุมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 การฉีดวัคซีน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้นโยบาย ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์อื่น ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

มีข้อมูลด้วยว่า ในช่วง 3 ปีนี้ งบประมาณด้านโควิด-19 ของกวางตุ้งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50% ต่อไป โดยปี 2022 ใช้งบมากที่สุดคือ 7.11 หมื่นล้านหยวน (3.47 แสนล้านบาท) หรือเกือบครึ่งหนึ่งของงบตลอด 3 ปี

ขณะที่ ปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน มีการใช้เงินไปเกือบ 3 หมื่นล้านหยวน (1.46 แสนล้านบาท) ในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 เพิ่มขึ้น 140% จากปี 2020

ส่วนมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลชายฝั่ง ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ใช้เงินไป 3.05 หมื่นล้านหยยวน (1.49 แสนล้านบาท) เพื่อรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะในปี 2022 ที่ผ่านมาใช้ไปถึง 1.3 หมื่นล้านหยวน (6.35 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2021

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลท้องถิ่นของจีนหลายแห่งกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนเงินสด เนื่องจาก 3 ปีของนโยบายปลอดโควิด-19 สร้างแรงกดดันเป็นพิเศษต่อสถานภาพทางการเงินของพวกเขา เพราะไม่มีทั้งผู้ลงทุนรายใหม่ นักธุรกิจก็ถอยหนี ประชาชนจะออกมาทำงานบางครั้งยังไม่ได้ด้วยซ้ำ ในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำก็ทำให้เงินทุนที่จะนำมาหมุนเวียนก็น้อยลง

ประเทศจีนประสบปัญหาขาดดุลทางการคลังในวงกว้าง โดยเป็นการขาดดุลของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นรวมกัน แตะระดับ 6.66 ล้านล้านหยวน (32.5 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 ตามการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ และคาดว่า การขาดดุลทั้งปี 2022 อาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านล้านหยวน (48.8 ล้านล้านบาท)

ดังนั้น ข้อสันนิษฐานของผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินว่า การที่จีนปลดมาตรการโควิด-19 นั้นไม่ใช่เพราะแรงกดดันทางสังคม แต่เป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่างหาก ก็ดูเหมือนจะมีเค้ามูลความจริงอยู่ไม่น้อย

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 17 มกราคม 2566 ลอตเตอรี่ 17/1/66
“ตรุษจีน 2566” วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหน อะไรที่ไม่ควรทำ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ