นักวิทย์สแกนหาคำตอบ “ข้างในมัมมี่” มีสภาพเป็นอย่างไร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีสแกนมัมมี่ เพื่อศึกษาว่าภายในเป็นอย่างไรโดยไม่ต้องแกะผ้าห่อศพออกมา

มัมมี่ พีระมิด สุสานฟาโรห์ คือความลึกลับของดินแดนไอยคุปต์ที่ยังคงความขลังและปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ และในวันที่โลกก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยี เราก็เริ่มที่จะสามารถไขความลับต่าง ๆ จากในอดีตได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาหนึ่งของการศึกษาโบราณวัตถุหรือสิ่งล้ำค่าทางโบราณคดีต่าง ๆ นั่นคือเราไม่อยากที่จะไม่แตะต้องหรือทำอะไรกับมันมากนัก หากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการชำรุดเสียหาย หนึ่งในนั้นคือโบราณวัตถุประเภท “มัมมี่ (Mummy)”

พบมัมมี่อายุ 4,300 ปี “เก่าแก่และสมบูรณ์สุดที่เคยพบในอียิปต์”

แก่นโลกชั้นใน “หยุดหมุน-เปลี่ยนทิศ” เรื่องปกติหรือสัญญาณอันตราย?

นอร์เวย์พบ “หินจารึกอักษรรูน” เก่าแก่ที่สุดในโลก

การทำมัมมี่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งในชาวอียิปต์โบราณที่พยายามรักษาสภาพศพของผู้เสียชีวิตไว้ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณที่ว่า ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต วันหนึ่งจะกลับมาเข้าร่างอีกครั้ง จึงต้องรักษาศพไว้เพื่อรอวันนั้น

ซึ่งการจะรู้ว่าผู้ที่ถูกทำมัมมี่เป็นใครนั้น ในอดีตทำได้เพียงใช้การสังเกตจากลวดลายฝาโลงที่บรรจุมัมมี่ไว้ ว่ามีความหรูหรามากน้อยแค่ไหน และหากต้องการรู้ชัดว่าเป็นมัมมี่ของใคร ก็คือต้องแกะผ้าที่ห่อศพออกเท่านั้น

แต่ปัจจุบันนี้มีวิธีหนึ่งซึ่งนักวิทยาศาสตร์เริ่มนำมาใช้ นั่นคือการใช้เทคโนโลยีซีทีสแกน (CT Scan) มาฉายดูว่า “ข้างในของมัมมี่มีลักษณะเป็นอย่างไร?”

ล่าสุด ซาฮาร์ ซาชีม นักรังสีวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไคโร และเพื่อนร่วมวิจัย ได้ใช้เทคโนโลยีซีทีสแกนกับมัมมี่อายุกว่า 2,300 ปีร่างหนึ่ง และได้ทราบข้อมูลวำคัญหลายประการเกี่ยวกับเจ้าของร่างนี้โดยไม่ต้องแกะนำร่างข้างในออกมา

มัมมี่ดังกล่าวมีชื่อว่า “Golden Boy” (กรุณาอย่าแปลว่ากุมารทอง...) ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1916 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว โดยพบที่สุสานแห่งหนึ่งในนัก เอล-ฮัสเซย์ ทางตอนใต้ของประเทศ

สุสานดังกล่าวถูกใช้เป็นสถานที่ฝังศพในช่วง 332 ปีก่อนคริสต์กาลถึง 30 ปีก่อนคริสต์กาล จึงคาดว่ามัมมี่รายนี้มีอายุราว 2,300 ปีมาแล้วนั่นเอง ที่ผ่านมา มัมมี่ Golden Boy ยังไม่เคยถูกนำมาศึกษามาก่อน และถูกเก็บไว้ใต้พิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโรมาโดยตลอด

ผลการซีทีสแกนพบว่า เจ้าของร่างที่ถูกทำเป็นมัมมี่นี้เป็นเด็กวัยรุ่นผู้ชาย อายุประมาณ 14-15 ปีขณะเสียชีวิต โดยคาดว่าเป็นเด็กในตระกูลที่มั่งคั่งและมีสถานะทางสังคมสูง เนื่องจากพบเครื่องประดับล้ำค่าถึง 49 ชิ้นประดับอยู่ตามร่างกาย

ซาลีมกล่าวว่า “เครื่องรางหลายชิ้นทำจากทองคำ ในขณะที่บางส่วนทำจากหินกึ่งมีค่า บ้างก็เป็นดินเผา จุดประสงค์ของเครื่องรางเหล่านี้คือเพื่อปกป้องศพ และให้พลังแต่เจ้าของร่างในชีวิตหลังความตาย”

เธอเสริมว่า หนึ่งในเครื่องรางที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ สคารับสีทอง ซึ่งประดับอยู่ที่คอเด็กชาย และอีกชิ้นคือ ลิ้นสีทองในปากของเขา

ซาลีมบอกว่า “เครื่องรางถูกจัดเรียงอย่างสวยงามเป็น 3 แถวระหว่างรอยพับของห่อ และภายในโพรงร่างของมัมมี่ด้วย ตัวอย่างเครื่องรางเหล่านี้ก็เช่น ดวงตาของฮอรัส, แมลงสคารับ, เครื่องรางตะวันฉาย (Ankhet), รก, เงื่อนของไอซิส และอื่น ๆ”

ผลการสแกนพบว่า เด็กชายรายนี้สวมรองเท้าแตะไว้ด้วย ซาลีมกล่าวว่า “รองเท้าแตะน่าจะมีเพื่อช่วยให้เด็กสามารถเดินออกจากโลงศพได้เมื่อฟื้นคืนชีพกลับมา ขณะที่ตามพิธีการในคัมภีร์แห่งความตายของชาวอียิปต์โบราณระบุว่า ผู้ตายจะต้องสวมรองเท้าสีขาว เพื่อแสดงถึงใจที่เป็นกุศลและสะอาด ก่อนที่จะท่องโองการทางศาสนาต่าง ๆ”

สำหรับการที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าเจ้าของร่างเป็นเด็กชายอายุประมาณ 14 หรือ 15 ปีนั้น เกิดจากการพิจารณาระดับของกระดูก และการไม่มีฟันคุดในปาก รวมถึงยังไม่ได้เข้าพิธีสุหนัตด้วย

ประเด็นสุดท้ายนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เจ้าของร่างนี้ในความจริงแล้วอาจไม่ใช่ชาวอียิปต์ และสนับสนุนสมมติฐานที่เคยมีคนตั้งไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีคนนอกหรือชาวต่างชาติถูกทำเป็นมัมมี่ในอียิปต์ด้วย

ศ.ซาลิมา อิกรัม หัวหน้าภาควิชาไอยคุปต์วิทยา มหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการค้นพบครั้งนี้ กล่าวว่า “การไม่เข้าสุหนัตเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันอาจบอกเราบางอย่างเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของเขา ชาวอียิปต์ทั่วไปมักจะเข้าสุหนัตก่อนอายุ 13 ปี”

อิกรัมเสริมว่า “นี่อาจบ่งชี้ว่ามีชาวต่างชาตินำวิธีการประกอบพิธีศพของชาวอียิปต์มาใช้ อย่างน้อยเราก็รู้ว่าชาวเปอร์เซียทำแบบนั้น ... เขาอาจมาจากหลายที่ก็ได้ เขาอาจเป็นชาวนูเบียน กรีก เปอร์เซีย หรือที่ใดก็ได้จากเอเชียไมเนอร์ที่พวกเขาไม่ได้เข้าสุหนัต สิ่งที่เราบอกพอจะได้คือเขาอาจไม่ใช่ชาวยิว”

เธอชื่นชมงานวิจัยนี้ด้วยว่า เป็นการฉายภาพภายในมัมมี่ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีซีทีสแกนนั่นเอง “เป็นเรื่องดีมากที่มีการศึกษาด้วยรายละเอียดระดับนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุดข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นสำหรับนักไอยคุปต์วิทยาเพื่อทำความเข้าใจชีวิตของคนโบราณและความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น”

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก Frontier

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ