สำรวจความทะเยอทะยานของยุโรป ในการเป็น "เจ้าอวกาศ"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังปล่อยให้สหรัฐฯและจีนครองอวกาศมานานหลายปี นาทีนี้แต่ละชาติในยุโรปกำลังขวนขวายหาที่ทางของตนบนอวกาศบ้าง โดยสวีเดนเปิดสถานีอวกาศแห่งใหม่ และสหราชอาณาจักรก็กำลังทดสอบจรวดปล่อยดาวเทียม ทั้งหมดเพื่ออนาคต เพราะอวกาศคือตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่จะนำมาซึ่งงานและรายได้  ขณะเดียวกันก็เพื่อความมั่นคง เพราะสงครามในยูเครนและรัสเซียได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ยุโรปจำเป็นต้องมีวงโคจรดาวเทียมเป็นของตัวเอง

ไปไม่ถึงวงโคจร! ภารกิจยิงดาวเทียมของอังกฤษล้มเหลว

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ "เจมส์ เว็บบ์" 1 ปี กับการไขปริศนาจักรวาลลี้ลับ

ความหวังใหม่ในการเป็นเจ้าอวกาศของสวีเดนตั้งอยู่ที่นี่ ณ เมืองคิรูนา อันห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศ ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์สูงกว่าเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลถึง 200 กิโลเมตร เมืองที่มีประชากรบางเบา เต็มไปด้วยพื้นที่ธรรมชาติเหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นฐานปล่อยจรวด

โดยเดิม คิรูนา มีฐานอวกาศอยู่แล้วในชื่อ Esrange Space Center ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1966 ช่วงเวลาที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่ศึกษาชั้นบรรยากาศและการเกิดแสงเหนือ
 

หลังผ่านการบูรณะและปรับปรุง วันนี้สถานีอวกาศยุคสงครามเย็นได้ชื่อใหม่ว่า "SSC SmallSat Express" เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ในฐานะฐานปล่อยจรวดและดาวเทียมแห่งใหม่ของสวีเดนและองค์การอวกาศยุโรป

ฟิลิป พอลสัน ผู้จัดการโครงการพาชมโกดัง ที่ในอนาคตจะเป็นสถานที่เตรียมดาวเทียมก่อนบรรจุลงในจรวดปล่อยออกไปนอกโลก โดยอนิเมชันในวันเปิดตัวฐานอวกาศใหม่ฉายให้เห็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและความรุ่งโรจน์ที่กำลังจะมาถึง สวีเดนตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอวกาศของยุโรป หลังดำรงสถานะเป็นเงาของโครงการอวกาศรัสเซียตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ใจความหนึ่งของสุนทรพจน์โดยอุล์ฟ คริสเตอช็อน นายกรัฐมนตรีสวีเดนระบุว่า สงครามที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครนกระตุ้นให้ยุโรปต้องสร้างความก้าวหน้าทางอวกาศของตนเองขึ้น ใต้บรรทัดของประโยคนี้มีหลายมิติด้วยกัน

  • มิติแรก คือความมั่นคง สถานการณ์ที่ยูเครนเผชิญตอกย้ำว่า การมีดาวเทียมในวงโคจรของตนเองสำคัญแค่ไหน ท่ามกลางสงครามอันดุเดือด การทหารและการสื่อสารของยูเครนยังดำเนินอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะดาวเทียมสตาร์ลิงก์ เครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำที่อีลอน มัสก์ใช้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ยูเครน
  • มิติที่สอง คือความร่วมมือ หลายชาติในยุโรปร่วมมือด้านอวกาศกับรัสเซียมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่ในช่วงหลังมานี้เทคโนโลยีของรัสเซียก้าวหน้าเชื่องช้า เมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจที่กำลังขับเคี่ยวด้านอวกาศอย่าง สหรัฐฯ และจีน


หลังรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน บรรดาชาติตะวันตกทยอยถอนความร่วมมือตั้งแต่การค้า การเมือง จนมาถึงด้านอวกาศ องค์การอวกาศยุโรประงับโครงการ ExoMars โครงการสำรวจดาวอังคารที่มีแผนปล่อยจรวดในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการถอนนักบินอวกาศของตนออกจากสถานีอวกาศในเฟรนซ์เกียนา รวมถึงประกาศกร้าวว่าจะไม่สนับสนุนเทคโนโลยีด้านจรวดให้กับชาติยุโรปอีกต่อไป

นาทีนี้แต่ละชาติในยุโรป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยืนหยัด และพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของตนเอง ขณะนี้หนึ่งในโครงการสำคัญที่สุดคือ ความพยายามปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร  หากไม่นับรัสเซีย ทุกวันนี้วงโคจรเดียวของดาวเทียมที่ยุโรปมีอยู่ที่สถานีอวกาศในเฟรนซ์เกียนา ฐานอวกาศของฝรั่งเศสที่หลายชาติยุโรปใช้เป็นศูนย์ปล่อยจรวด



เฟรนซ์เกียนา คือ จังหวัดของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาใต้ ตำแหน่งที่ตั้งห่างไกลจากยุโรปนี้ เพราะเฟรนซ์เกียนาอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร เป็นตำแหน่งที่การปล่อยจรวดเพื่อให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลกนั้นทำได้ง่ายที่สุด

การที่สวีเดนตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยดาวเทียมจากสถานีอวกาศที่ตั้งอยู่เกือบขั้วโลกเหนือ จึงเป็นความทะเยอทะยานอย่างมาก และหากทำได้สวีเดนจะกลายมาเป็นฐานปล่อยจรวดใหม่ของยุโรป ซึ่งจะตามมาด้วยรายได้มหาศาล

แต่สวีเดนไม่ใช่ชาติเดียวที่ลงสนามแข่งขัน สหราชอาณาจักรก็เช่นกัน แผนงานของสหราชอาณาจักรเหนือชั้นกว่าด้วยการปล่อยจรวดที่บรรทุกดาวเทียมจากเครื่องบินโบอิง 747 หรือเครื่องบินพาณิชย์ โครงการนี้เป็นของบริษัท Virgin Orbit โดยปกติแล้วการปล่อยจรวดจะยิงขึ้นในแนวตั้งฉาก 90 องศา เพื่อให้พุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในเวลาที่รวดเร็วที่สุด แต่แนวทางของ Virgin Orbit ต้องการให้จรวดถูกยิงออกมาในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่  จากนั้นจรวดจะพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศตามที่โปรแกรมไว้

ซึ่งหากทำได้จริง การปล่อยจรวดจะสามารถทำจากจุดไหนก็ได้บนท้องฟ้า ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับฐานปล่อยเพียงฐานเดียวอีกต่อไป ความยึดหยุ่นนี้ช่วยให้การยิงดาวเทียมขึ้นวงโคจรทำได้หลากหลายพื้นที่มากขึ้น และกระบวนการปล่อยก็ไม่ต้องรอคิวนานหรือถูกเลื่อนเพราะสภาพอากาศบริเวณฐานปล่อยไม่เป็นใจอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามถือเป็นแผนการล้ำสมัยและหากทำได้ สหราชอาณาจักรจะได้เปรียบยิ่งกว่าใครในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศ การทดสอบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมาที่สนามบินในมณฑลคอร์นวอลล์ เครื่องบินโบอิงที่พ่วงจรวดไว้ใต้ปีกบินขึ้นตามแผน จรวดถูกปล่อยออกมาและส่งตัวเองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ การจุดระเบิดขั้นที่ 1 เป็นไปด้วยดี แต่กลับมีปัญหาในการจุดระเบิดขั้นที่ 2 ที่ความสูง 177 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ส่งผลให้ทีมงานต้องยกเลิกภารกิจ

พวกเขาระบุว่าจะสืบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและปรับปรุงให้การทดสอบครั้งใหม่สำเร็จให้ได้ โครงการอวกาศของยุโรปกำลังคึกคักและน่าติดตามอย่างยิ่ง นอกจากการขับเคี่ยวที่จะเป็นผู้นำด้านการขนส่งดาวเทียมแล้วยังมีโครงการน่าสนใจอีกมากที่จะช่วยขยายขอบเขตการสำรวจและเปิดประตูสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ



เช่น โครงการจรวดธีมิส จรวดใช้ซ้ำขององค์การอวกาศยุโรป หลักการคือยิงจรวดขึ้นไปปล่อยดาวเทียมแล้วให้จรวดกลับมาลงยังฐานปล่อย ส่วนในฝรั่งเศส สตาร์ทอัพอย่าง Venture Orbital Systems ก็กำลังพยายามสร้างจรวดจากเครื่องพิมพ์สามมิติ

ในอนาคตอันใกล้เมื่อพูดถึงอวกาศ สหรัฐฯ และจีน จะไม่ใช่แค่สองชาติผู้นำอีกต่อไป เพราะบรรดาประเทศในยุโรปเหล่านี้ต่างกำลังไขว่คว้าที่ทางของตนเพื่อประกาศศักดาบนห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลเช่นกัน

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ