จนท.สหรัฐฯ เผย อิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในอิหร่าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์ในตะวันออกกลางส่อแววตึงเครียดขึ้นอีก หลังจากที่เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา มีความพยายามโจมตีโรงงานอาวุธของกองทัพอิหร่าน โดยล่าสุดทางการอิหร่านออกมาบอกว่า สามารถสกัดโดรนปริศนาเหล่านั้นเอาไว้ได้

ขณะที่มีรายงานงานว่า อิสราเอลซึ่งถือเป็นศัตรูสำคัญของอิหร่านในตะวันออกกลางอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ แม้ทางการอิสราเอลจะปฏิเสธให้ความเห็นก็ตาม

ภาพเหตุการณ์ขณะเกิดระเบิดเสียงดังสนั่นขึ้นในเมืองอิสฟาฮาน ทางตอนกลางของประเทศเมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น 

หลังเกิดเหตุกระทรวงกลาโหมอิหร่านระบุว่า มีความพยายามใช้โดรน 3 ลำโจมตีโรงงานของกองทัพอิหร่านในอิสฟาฮาน แต่อิหร่านสามารถสกัดเอาไว้ได้

โดรนโจมตีโรงงานผลิตกระสุนในอิหร่าน หวังสร้างความไม่มั่นคงภายใน

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ยิงจรวดตอบโต้ หลังปะทะในเวสต์แบงก์

โดยมีโดรน 1 ลำ ถูกทำลายด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศ ส่วนอีก 2 ลำถูกกับดักป้องกันจับเอาได้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับหลังคาของอาคารโรงงานเล็กน้อย และไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทางการอิหร่านไม่ได้ระบุว่าโรงงานดังกล่าวผลิตอะไร แต่สำนักข่าว IRNA ของอิหร่านบอกว่าโรงงานที่ถูกโจมตีเป็นโรงงานผลิตกระสุน

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านประณามเหตุโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำอันขี้ขลาดของศัตรู แม้จะไม่ยอมระบุชัดว่าศัตรูหมายถึงใคร แต่ประกาศว่าการโจมตีแบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

เจ้าหน้าที่ทางการทหารของอิหร่านสันนิษฐานว่า โดรนถูกปล่อยมาจากในดินแดนของอิหร่าน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกลุ่มไหนออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น

ความพยายามโจมตีโรงงานผลิตกระสุนของอิหร่านเกิดขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกกำลังตึงเครียดจากการเดินหน้ากิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน การที่อิหร่านสนับสนุนโดรนพิฆาตให้กับรัสเซียจนกลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการทำสงครามโจมตียูเครน รวมถึงการประท้วงต้านรัฐบาลอิหร่านที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนจากความไม่พอใจของประชาชน

แม้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่สื่อบางสำนักก็รายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ระบุว่า อิสราเอลน่าจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีที่เกิดขึ้น

หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า อิสราเอลอยู่เบื้องหลังการโจมตีที่เกิดขึ้น

โดยการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่อิสราเอลและสหรัฐฯ กำลังมองหาหนทางใหม่ในการจำกัดความทะเยอทะยานด้านการทหารและนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมถึงหาทางต่อสู้กับการกระชับความร่วมมือทางการทหารระหว่างอิหร่านและรัสเซีย

‘โรเนน โซโลมอน’ (Ronen Solomon) นักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองอิสระระบุว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าโรงงานดังกล่าวของอิหร่านตั้งอยู่บนถนนฝั่งตรงข้ามกับสถานที่ซึ่งเป็นของศูนย์วิจัยอวกาศของอิหร่าน หรือ Iran Space Research Center ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

โดย Iran Space Research Center ทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมอิหร่านและกลุ่มอุตสาหกรรมชาฮิด เฮมเม็ต ซึ่งรับผิดชอบโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน

เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล ยังระบุอีกด้วยว่า การโจมตีนี้เกิดขึ้นหลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ‘วิลเลียม เบิร์นส์’ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ได้เดินทางเยือนอิสราเอลโดยไม่มีการประกาศ เพื่อหารือเรื่องอิหร่านและประเด็นอื่นๆ ของภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสหรัฐฯ และอิสราเอลยังได้ซ้อมรบร่วมคร้ังใหญ่ โดยเป็นการทดสอบความสามารถในสถานการณ์ต่างๆ เช่นการทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศและการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งถูกมองเป็นองค์ประกอบหลักในการโจมตีอิหร่าน

โดยผู้บัญชาการกองทัพอิสราเอลเผยกับเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่าสหรัฐฯ และอิสราเอลกำลังเตรียมการรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุด และเป็นการส่งสัญญาณไปยังอิหร่านถึงศักยภาพพร้อมจู่โจมหากอิหร่านทำผิดพลาด

รายงานของเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ยังสอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์สที่อ้างอิงเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อซึ่งระบุไปในทางเดียวกันว่า ดูเหมือนว่าอิสราเอลน่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีด้วยโดรนที่เกิดขึ้นในอิหร่าน

หากอิสราเอลอยู่เบื้องหลังการใช้โดรนโจมตีโรงงานอาวุธอิหร่านจริง นี่จะถือเป็นการโจมตีครั้งแรกของอิสราเอลภายใต้รัฐบาลผสมขวาจัดชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ที่กลับมาเป็นนายกฯ อิสราเอลอีกครั้ง ซึ่งเนทันยาฮูเคยอนุมัติปฏิบัติการในอิหร่านหลายครั้งตอนที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเมื่อช่วงปี 2009-2021

อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพอิสราเอลปฏิเสธให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว แม้อิสราเอลจะเคยพูดเอาไว้นานแล้วว่า อิสราเอลกำหนดเป้าหมายการโจมตีอิหร่านเอาไว้แล้วหากความพยายามทางการทูตในการควบคุมโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธอิหร่านล้มเหลว

ส่วนโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธให้ความเห็นเพิ่มเติม โดยยืนยันเพียงแค่ว่า กองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนในการโจมตีอิหร่าน

อิหร่านและอิสราเอล ถือเป็นอีกคู่ขัดแย้งสำคัญในตะวันออกกลาง แม้ไม่ได้มีพรมแดนติดกันหรือข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างกันก็ตาม

ความจริงแล้วทั้งสองประเทศเคยเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 44 ปีที่แล้ว

อิหร่านเป็นชาติมุสลิมประเทศที่ 2 ต่อจากตุรกีที่รับรองการก่อตั้งรัฐอิสราเอล ในสมัยที่อิหร่านอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบกษัตริย์ อิหร่านและอิสราเอลต่างเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ในสมัยของพระเจ้าชาห์ ‘โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี’ อิหร่านเคยเป็นที่อยู่ของชุมชนยิวที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ขณะที่อิสราเอลก็นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านถึงร้อยละ 40 แลกกับการสนับสนุนอาวุธ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์การเกษตรให้กับอิหร่าน หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลก็ฝึกฝนให้กับองค์กรตำรวจลับของพระเจ้าชาห์ด้วย

 แต่ทั้งคู่กลายมาเป็นศัตรูกัน หลังอิหร่านเกิดการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 ภายใต้การนำของ ‘อยาตุลเลาะห์ โคมัยนี’

อิสราเอลไม่ยอมรับสาธารณรัฐอิสลามของอิหร่าน ส่วนโคมัยนีก็มองว่าอิสราเอลยึดครองเยรูซาเลมอย่างผิดกฎหมายและต้องรับผิดชอบต่อการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”ชาวปาเลสไตน์ อิหร่านภายใต้การนำของโคมัยนี ประกาศสนับสนุนขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์อย่างเปิดเผย

อิสลามิค ญิฮัด (Islamic Jihad) เป็นองค์กรอิสลามปาเลสไตน์กลุ่มแรกที่จับอาวุธขึ้นสู้อิสราเอลเมื่อปี 1980 โดยมีอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนหลัก

ขณะที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านยังสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ที่ต่อต้านอิสราเอลจากฐานที่มั่นในเลบานอน 

ขณะเดียวกัน การเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านสร้างความกังวลให้อิสราเอล อิสราเอลพยายามทำทุกทางเพื่อขัดขวางการพัฒนาโครงการอาวุธเคลียร์ของอิหร่าน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ถูกลอบสังหารแล้วอย่างน้อย 4 ราย

คนที่โดดเด่นที่สุดคือ โมห์เซน ฟากรีซาเดย์ นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ระดับแนวหน้าของอิหร่านที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2020

ในคราวนั้น จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า อิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังด้วยการใช้อาวุธที่ควบคุมจากระยะไกล และสหรัฐอเมริกาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารด้วย แต่ก็ยืนยันว่าการตายของนักวิทยาศาสตร์ไม่กระทบต่อต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

เมื่อปี 2015 ที่อิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับมหาอำนาจ ตกลงจำกัดการเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์แลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูของอิสราเอลบอกว่านี่เป็น “ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์” และเขาก็เป็นคนแรกที่แสดงความยินดีเมื่อประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี 2018

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ จะพยายามฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านขึ้นมาใหม่ แต่กระบวนการต่างๆ ก็ชะงัก ขณะที่เนทันยาฮูพยายามผลักดันมาอย่างยาวนานให้สหรัฐฯ มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่ออิหร่านมากขึ้น

ทั้งนี้ เหตุโดรนปริศนาโจมตีโรงงานอาวุธอิหร่านเกิดขึ้นในขณะที่ ‘แอนโทนี บลิงเคน’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังเดินทางเยือนตะวันออกกลางเพื่อหาทางบรรเทาความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

หลังกองทัพอิสราเอลบุกค่ายผู้ลี้ภัยเจนินในเขตเวสต์แบงก์และสังหารชาวปาเลสไตน์ไป 10 คน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยอ้างว่าพุ่งเป้าไปที่กองกำลังติดอาวุธอิสลามิค ญิฮัด (Islamic Jihad) 

ก่อนที่อีกวันต่อมาจะเกิดเหตุมือปืนชาวปาเลสไตน์กราดยิงโบสถ์ยิวในเยรูซาเลมตะวันออก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 7 คน

โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯได้เดินทางเยือนอียิปต์เป็นประเทศแรก ก่อนจะเดินทางต่อมายังนครเยรูซาเลม

โดยบลิงเคนจะอยู่ในเยรูซาเลมจนถึงพรุ่งนี้ และมีกำหนดเข้าพบหารือกับนายกรัฐมตรีเนทันยาฮูของอิสราเอล และประธานาธิบดี ‘มามุด อับบาส’ ผู้นำปาเลสไตน์ด้วย

โดยก่อนออกจากอียิปต์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยว่า เขามีเป้าหมายเรียกร้องให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ลดความตึงเครียดท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ถือเป็นความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ​ ระบุว่าเขาเชื่ออย่างหนักแน่นในการเจรจาแก้ปัญหาระหว่างสองรัฐ ว่าเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การยุติความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ