ส่องจันท์ (บุรี) หาแรงบันดาลใจ จาก 3 กษัตริย์มหาราชสู่นวัตกรรมการพัฒนาประเทศ

โดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

เผยแพร่

“คนสร้างประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์สร้างชาติ” เป็นอีกหนึ่งคำกล่าวที่อธิบาย จังหวัดจันทบุรี ดินแดนชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จุดยุทธศาสตร์สำคัญของชาติมาแต่โบราณได้ดีที่สุด

ด้วยผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เป็นดั่งสักขีพยานเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณ ผูกพันกับพระราชกรณียกิจอันทรงคุณูปการของบูรพมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ทำให้เมืองจันท์ (จันทบุรี) แห่งนี้เป็นดั่งภาพสะท้อนของการต่อสู้ การพัฒนา และการวางรากฐานอันมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งยังคงส่งผลยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ไทยเป็นไทยมาได้จนถึงทุกวันนี้

คอนเทนต์แนะนำ
ฝ่าวิกฤตโลกเดือด ทุบสถิติ 120,000 ปี ด้วยความพอเพียง

และเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าพสกนิกรได้ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ และน้อมนำเอาแนวพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองสืบมา พระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงเกี่ยวข้องกับจันทบุรีอย่างแนบแน่น คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งในการกอบกู้เอกราชครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชประสงค์จะใช้เมืองจันท์ ที่เป็นหัวเมืองใหญ่สุดในทะเลภาคตะวันออกเป็นฐานที่มั่นสำคัญก่อนที่จะยกทัพไปกู้กรุง หากแต่การจะเข้ายึดเมืองจันท์นั้น ไม่ใช่ภารกิจที่จะกระทำให้สำเร็จได้โดยง่าย และในค่ำคืนของวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากได้ใช้ยุทธวิธีเรียกขวัญกำลังใจให้กับพลทหารในสถานการณ์คับขัน โดยทรงรับสั่งว่า “ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด” วีรกรรมดังกล่าวได้ปลุกแรงฮึกเหิมของบรรดาเหล่าทหารกล้าเป็นอย่างมาก เป็นผลให้ทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถยึดเมืองจันท์เป็นฐานที่มั่นได้สำเร็จในเช้าวันรุ่งขึ้น และนำไปสู่การทวงคืนเอกราชให้กับกรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด

วีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สร้างบทเรียนอันล้ำค่าให้เหล่าพสกนิกรได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง กล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ และไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคใดๆ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญที่เราควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศชาติ ให้เจริญรุดหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ในยุคปัจจุบัน โดยจุดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินใช้เป็นสถานที่ตั้งค่ายก่อนเข้าตีเมืองจันทบูรนั้น ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณค่ายตากสิน หรือกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ตั้งอยู่ที่ถนนท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 


และภายในค่ายตากสินแห่งนี้ ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นคือกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน เพื่อให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือที่เรารู้จักกันชื่อ “วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112” (พ.ศ.2436) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่ยอมรับว่ามีพระปรีชาสามารถทางการทูต และการต่างประเทศอย่างยอดเยี่ยม แม้การเสียดินแดนจะเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยอย่างฉลาดหลักแหลม เพื่อป้องกันมิให้ไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นเหมือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น พระองค์ทรงเลือกใช้สันติวิธี การเจรจา และการประนีประนอม เพื่อธำรงรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ในท้ายที่สุด แม้จะต้องเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยภายหลังจากเหตุการณ์นี้ ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณูปโภค เพื่อให้ไทยมีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศสมัยใหม่ที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวได้ว่า บทเรียนจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผู้นำที่ทันสมัย มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ยึดติดกับท่าทีแข็งกร้าวหรือการใช้กำลัง แต่พร้อมจะประนีประนอมเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติ รวมถึงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศ ให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีคุณค่า และยังสามารถประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบัน อาคารที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นฐานบัญชาการของกองทัพฝรั่งเศส วันนี้ได้รับการบูรณะ และใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไป 


พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ผู้ทรงสร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อจันทบุรีและประเทศไทย คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ผู้ทรงเป็นดั่งพลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความมั่นคงยั่งยืน พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานที่จังหวัดจันทบุรีอยู่หลายครั้ง และหนึ่งในโครงการที่ท่านได้พระราชทานให้แก่ชาวจังหวัดจันทบุรี และมีส่วนสำคัญที่ทำให้จังหวัดจันทบุรีสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคง และเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลกในวันนี้ก็คือ โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ 

จุดเริ่มของโครงการนี้ มาจากที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าในอนาคตจะมีการขยายการทำสวนผลไม้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริกับคณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์พัฒนาไม้ผลขึ้น ในปี พ.ศ.2524 ให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแก่ราษฎร ทรงวางรากฐานการพัฒนาการเกษตรและไม้ผลเอาไว้ให้ชาวบ้าน เพื่อให้มีองค์ความรู้ในด้านนี้อย่างแท้จริง ที่จะนำไปต่อยอดและประกอบอาชีพได้ โดยนอกจากศูนย์พัฒนาไม้ผลแห่งนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ผลที่หลากหลายแล้ว ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพไม้ผลด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ปลูกฝังให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์ไม้ผลคุณภาพดีสู่เกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น


วันนี้ จังหวัดจันทบุรีเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะ “เมืองผลไม้” มีมูลค่าการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน รวมกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้มหาศาลให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และทำให้ทุเรียนไทยดังไกลไปทั่วโลก กล่าวได้ว่า พระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้จันทบุรีกลายเป็นแหล่งผลิตผลไม้ชื่อดังในปัจจุบัน บทเรียนจากพระราชกรณียกิจของพระองค์ สอนให้เราเห็นคุณค่าของการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มจากการพึ่งพาตนเอง การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า รวมถึงการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นปรัชญาการพัฒนาที่ทรงพลัง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้และบทเรียนต่างๆ จากอดีต ทั้งวีรกรรม และพระปรีชาสามารถของบูรพมหากษัตริย์ไทย ได้สร้างมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนแนวทางการพัฒนาประเทศอันทรงคุณค่าสู่แผ่นดินไทย นับเป็นแรงบันดาลใจ และแหล่งเรียนรู้ที่ล้ำค่าสำหรับคนรุ่นหลังที่จะสานต่อเจตนารมณ์ และนำไปสร้างเป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สมดังพระราชปณิธานที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่เราทุกคนควรช่วยกันสานต่อ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

โครงการตามรอยพระราชา ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อตามรอยศาสตร์ของพระราชา และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทรงงาน ปัจจุบันจัดเป็นครั้งที่ 40 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey LINE : The King’s Journey

วิเคราะห์บอล! ยูโร 2024 ออสเตรีย พบ ฝรั่งเศส 17 มิ.ย.67

พยากรณ์ฝนล่วงหน้า! มรสุมปกคลุมกำลังแรง-แนวโน้มฝนกระจายเพิ่มขึ้น

เลือก สว.กทม. มาสาย 17 คน “สนธิญา-เหรียญทอง-สันธนะ” ไม่ได้ไปต่อ

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ