มอง “ม็อบฮ่องกง” ถึงทางสองแพร่ง จะเสรีก็ไม่ได้ - จะเผด็จการก็ไม่ชอบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญด้านกม.จีนชี้สาเหตุการชุมนุมเกิดจากความไม่พอใจเรื่องกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และความไม่ไว้ใจรัฐบาลจีน นักข่าวเผยการประท้วงครั้งนี้มีการเตรียมการอย่างดี แต่ไม่มีแกนนำหลัก ทุกคนต่างทำด้วยความหวัง ด้านรศ. วรศักดิ์ มองคนฮ่องตกอยู่ในภาวะ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก พร้อมเทหมดหน้าตักในการชุมนุมครั้งนี้

จากกรณีการชุมนุมประท้วงที่เกาะฮ่องกง  และเริ่มลุกลามไปสู่การปิดสนามบิน  ทำให้หลายคนมีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น  ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาเรื่อง "ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง"

โดย ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า ย้อนไปในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1997 ตอนนั้นฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษเพราะ ฉะนั้นจะใช้กฎหมายภายในของอังกฤษ หากมีผู้กระทำผิดหลบหนีเข้ามาในประเทศฮ่องกงก็จะใช้กฏหมายของอังกฤษในการดำเนินคดี แต่พอฮ่องกงถูกส่งกลับคืนสู่ประเทศจีน ฮ่องกงเองก็พยายามปรับตัวกฎหมายของอังกฤษให้เป็นกฎหมายของฮ่องกงเอง ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฮ่องกงออกกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของตัวเองขึ้นมา โดยได้ทำสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 20 ประเทศ นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 ฮ่องกงได้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้วประมาณ 100 คน โดยส่งผู้ร้ายกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด แต่ไม่ได้ทำสนธิสัญญานี้กับประเทศจีน แม้จะมีการพยายามเจรจาเรื่องนี้กันมาตลอดแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากทางฮ่องกงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีน ในขณะเดียวกันจีนในตอนนั้นก็ไม่ได้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก

โดยปัจจุบัน เหตุการณ์ที่ทำให้การประท้วงใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นเกิดจากกรณีที่มีวัยรุ่นชาย-หญิงชาวฮ่องกง เดินทางไปเที่ยวที่ประเทศไต้หวัน ทางฝั่งชายได้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าแฟนสาวที่ไต้หวันแล้วหลบหนีกลับมาที่ประเทศฮ่องกง แต่ศาลของฮ่องกงไม่มีอำนาจในการพิจารณาเนื่องจากเกิดเหตุที่ไต้หวัน อีกทั้งฮ่องกงยังไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไต้หวันรวมถึงประเทศจีนด้วย นักกฎหมายจึงเสนอให้ออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบเป็นคดี ๆ ไปในประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง ซึ่งในบางมุมของคนฮ่องกงมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการเปิดช่องให้ทางการฮ่องกงส่งนักโทษทางการเมืองกลับไปพิจารณาคดีที่ประเทศจีนได้ ซึ่งคนฮ่องกงส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีน

หากมองย้อนหลังไป 40 ปี กระบวนการยุติธรรมของจีนมีการพัฒนาอยู่ตลอด แต่จะมีปัญหาทันทีหากเรื่องนั้นเกี่ยวกับคดีการเมือง โดยทางการจีนจะมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการจะเล่นงานแกนนำคนไหน เพราะระบบศาลของจีนไม่ได้เป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้ศาลไม่ได้มีอิสระในการพิจารณาคดี จึงเกิดความกังวลในประชาชนของฮ่องกงว่าหากเป็นศัตรูกับรัฐบาลจีนอาจจะถูกใช้กลไกนี้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปให้ประเทศจีนลงโทษได้ และไม่ใช่ฮ่องกงประเทศเดียวที่ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของจีน ล่าสุดประเทศออสเตรเลียก็ไม่ให้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนเนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันฮ่องกงมีการปกครองที่เรียกว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศจีน แต่มีระบบกฎหมายที่เป็นอิสระของตัวเองภายใต้ธรรมนูญของฮ่องกงเป็นอิสระของตัวเองการบริหารจัดการของฮ่องกงเป็นอิสระจากรัฐบาลปักกิ่ง โดยรัฐบาลปักกิ่งจะดูแลแค่เรื่องการทหารและการต่างประเทศเท่านั้น แต่ความพิเศษของ 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ "ความไม่ชัดเจน"  โดยระบบนี้เกิดขึ้นตามแนวคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่บอกว่าให้ใช้ระบบนี้ไปก่อน 50 ปี และให้คำมั่นว่าหลังจาก 50 ปีผ่านไปค่อยมาคุยกันอีกทีว่าจะปกครองกันอย่างไร แต่การพูดแบบนี้ทำให้ไม่มีความชัดเจนซึ่งคาใจประชาชนชาวฮ่องกงมาโดยตลอด

ถัดมาคือเรื่องการเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงแบบเสรี ในรัฐธรรมนูญของฮ่องกงมาตรา 45 และ มาตรา 48 เขียนไว้ชัดเจนว่า จุดหมายปลายทางของรัฐธรรมนูญคือทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารเขตฮ่องกงและสภานิติบัญญัติของฮ่องกงด้วยคะแนนเสียงของชาวฮ่องกงเอง แต่ไม่ได้มีการะบุไว้ชัดเจนว่ากว่าที่จะเดินไปถึงจุดนั้นต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ด้วยวิธีการไหน นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางการจีนไม่ชัดเจนกับประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ค.ศ. 2007 ที่รัฐบาลปักกิ่งได้ให้คำมั่นว่าในปีค.ศ. 2017  จะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารเขตฮ่องกงโดยใช้ระบบเลือกตั้งเสรี แต่พอในปีค.ศ. 2014 ทางรัฐบาลปักกิ่งกลับคำบอกว่าจะให้ประชาชนฮ่องกงเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่คนที่จะเข้ามารับการคัดเลือกนั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากทางรัฐบาลจีนก่อน ทำให้กลุ่มนิยมประชาธิปไตยในฮ่องกงบอกว่าแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการเลือกตั้งแบบที่เป็นธรรม สุดท้ายนำไปสู่เหตุการณ์ "การปฏิวัติร่ม" และหากมองมาที่ปัจจุบันเรื่องที่ชาวฮ่องกงกังวลก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดของเขตฮ่องกงก็เป็นผู้นำที่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลปักกิ่ง

“สาเหตุที่ทำให้การชุมนุมฮ่องกงยืดเยื้อได้ขนาดนี้ คือ เรื่องของความเชื่อใจกันระหว่างสองฝ่าย” ดร.อาร์มระบุ

เขากล่าวว่า  เราต้องกลับไปดูจุดเริ่มต้นของการชุมนุมคือ เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งกฎหมายนี้ได้ตีตกไปแล้ว คำถามคือแล้วที่ชุมนุมอยู่ตอนนี้เพื่ออะไร คำตอบคือผู้ชุมนุมผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ

1.เรียกร้องให้ถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

2.ไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม

3.ให้เลิกเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็นการจลาจล

4.ให้ตั้งกรรมการอิสระของกรมตำรวจเพื่อมาตรวจสอบการสลายม็อบเกินสมควรหรือไม่

5.เรียกร้องให้มีการปฎิรูประบบเลือกตั้ง

แต่ทว่าข้อเรียกร้องดังกล่าว แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทำเพียงแค่ยกเลิกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเท่านั้น โดยแคร์รี แลม ให้เหตุผลว่าการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการรักษากฎหมายของฮ่องกง ส่วนเรื่องการตั้งกรรมการตรวจสอบตำรวจนั้นไม่จำเป็นเพราะตำรวจมีกรรมการตรวจสอบอยู่แล้ว โดยหากตั้งกรรมการอิสรอาจจะส่งผลทำให้ตำรวจไม่พอใจได้

ส่วนอีกสาเหตุที่การชุมนุมยืดเยื้อคือสิ่งที่มันซับซ้อนจากข้อมูลโซเชียลมีเดีย ต่างฝ่ายต่างรับข้อมูลแต่ของฝ่ายตัวเอง ทำให้ความแตกแยกก็จะยิ่งบานปลาย ทั้งสองฝ่ายพยายามสร้างความจริงและพยายามชักจูงคนตรงกลางให้เข้าร่วมกับฝ่ายตนเอง ส่งผลให้เรื่องยังบานปลายไม่จบสิ้น

ด้านนางสาวประภาภูมิ เอี่ยมสม ผู้สื่อข่าว เปิดเผยว่า ในฐานะสื่อที่เคยไปทำข่าวทั้งการปฎิวัติร่มในปี  2014 และงานครบรอบการส่งมอบฮ่องกงคืนจีนในปี 2017 พบว่าในการประท้วงครั้งนี้ผู้ประท้วงดูมีความหวังและการเคลื่อนไหวที่ดูตื่นตัวมากกว่าในปี 2017 ส่วนสาเหตุที่มีผู้ประท้วงออกมารวมตัวกันนับล้านคน ส่วนตัวคิดว่า เพราะประชาชนชาวฮ่องกงต้องการแสดงพลังให้รัฐบาลเห็นว่าพวกเขาไม่ได้กลัวแก๊สน้ำตาที่ทางตำรวจยิงใส่ประชาชนครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายนเพื่อสลายการชุมนุม และถึงแม้ช่วงเวลานั้นทางรัฐบาลจะระงับการพิจารณากฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเอาไว้ก่อน แต่ประชาชนก็ต้องการแสดงให้เห็นจุดยืนว่าการระงับชั่วคราวนั้นไม่เพียงพอต่อการขอให้ผู้ประท้วงเลิกชุมนุม

หากมองจากมุมมองคนนอก ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการประท้วงครั้งนี้ประชาชนแทบไม่มีทางชนะ รัฐบาลจีนไม่มีทางถอยให้แน่นอน แต่จากการได้ไปยืนอยู่ท่ามกลางการประท้วงจะเห็นได้ว่าทุกคนมีความหวังกับการประท้วงใหญ่ครั้งนี้มาก ทุกคนคิดว่าเมื่อฉันออกมาแล้วรัฐบาลจะต้องยอมเปลี่ยน แต่เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งเดือนม็อบที่ขับเคลื่อนด้วยความหวัง ก็กลายเป็นสิ้นหวัง เพราะไม่ได้รับการตอบรับในทางที่ดีจากรัฐบาล สุดท้ายเป้าหมายที่จะชุมนุมโดยสันติก็ถูกยกระดับความรุนแรงด้วยการบุกรัฐสภาและทำลายทรัพย์สินของรัฐในวันที่ 1 กรกฎาคม ตามมาด้วยการปะทะกับเจ้าหน้าที่และบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน

อีกสาเหตุที่ทำให้การประท้วงครั้งนี้ยืดเยื้อได้นานกว่าครั้งการปฎิวัติร่มเหลืองเกิดจาก การปฎิวัติร่มกินระยะเวลายาวนานหลายเดือน ประชาชนไม่สามารถประท้วงต่อได้เนื่องจากมีผลด้านเศรษฐกิจและความเหนื่อยล้า แต่การประท้วงในครั้งนี้ใช้กลยุทธ์ประท้วงในวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนวันปกติผู้ประท้วงก็ใช้ชีวิตธรรมดา ทำให้ผู้ชุมนุมไม่เหนื่อยล้า

"แม้การชุมนุมครั้งนี้ดูถูกจัดเตรียมและวางแผนรับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นอย่างดี แต่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ยืนยันว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่มีแกนนำ แต่อาศัยว่าใครมีความรู้ด้านไหนก็ออกมาพูดให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ฟัง ใครมีเงินทุนก็ซื้ออุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา ทำให้มันกลุ่มคนหลายความคิดมารวมตัวกัน ส่วนการเกิดความรุนแรงนั้นก็เป็นความคิดของคนเพียงบางกลุ่มในผู้ชุมนุมกว่าล้านคนเท่านั้น ไม่ใช่คนทุกคนจะเห็นด้วย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ตีตัวออกห่างเหมือนที่เราเคยเห็นในประเทศไทย และจุดยืนของทุกคนต่างคิดเหมือนกันว่าการประท้วงครั้งนี้เพื่อฮ่องกง"

ส่วนในเรื่องของการสลายการชุมนุม และการเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้กับการชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมินต้องขอให้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น  รศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมของจีนตอนเทียนอันเหมิน ตอนนั้นจีนยังไม่มีตำรวจสลายการชุมนุมหรือปราบจลาจล เลยต้องใช้กองทัพติดอาวุธสงคราม หลังเหตุการณ์นั้นจีนถูกวิจารณ์อย่างมากจึงได้มีการตั้งกองกำลังตำรวจติดอาวุธเป็นกองกำลังเหมือนตำรวจทั่วโลก ฉะนั้นเหตุการณ์ชุมนุมของฮ่องกงครั้งนี้จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับการชุมนุมที่เทียนอันเหมินได้

สุดท้ายแล้วจีนอาจจะต้องใช้กำลังในการสลายการชุมนุม แต่การใช้กำลังจะมีอยู่ 2 ประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ 1. จังหวะและเวลา  2. ผลลัพธ์ที่จะออกมา  ตอนนี้จีนรอเวลาที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและใช้ข้ออ้างด้านความชอบธรรม โดยพยายามแสดงให้ชาวโลกเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีลักษณะของการก่อการร้าย ทำให้ประชาคมโลกคล้อยตามและจะเข้าใช้กำลังในที่สุด โดยโทษของจีนหากเป็นผู้ก่อการร้ายโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่ส่วนตัวก็มองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทั่วโลกจะคล้อยตามกับการใช้ความรุนแรงในการปราบม็อบครั้งนี้

การชุมนุมในฮ่องกงครั้งนี้จะมีคนเสียชีวิตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปฎิกิริยาของผู้ชุมนุม เพราะครั้งนี้ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมหัวรุนแรงมาร่วมด้วย หากคนกลุ่มฮาร์ดคอร์จะต้องไปเผชิญหน้ากับจีนก็ต้องรอดูว่าทางจีนจะจัดการอย่างไร แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องมีการสูญเสียแน่นอนหากจีนเข้ามาทำการสลายการชุมนุมเอง แต่ด้วยสถานการณ์ของจีนที่ตอนนี้ยังเจอปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯอยู่ ทำให้จีนกังวลว่าถ้าใช้กำลังในการสลายม็อบฮ่องกงจะทำให้สหรัฐฯและกลุ่มอียูมองว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจทำให้จีนโดนคว่ำบาตรได้

สิ่งที่น่าสนใจคือการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีแกนนำหลัก แต่เป็นไปแบบมีระบบ และพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากคนฮ่องกงเป็นประเทศที่มีการศึกษาสูง มหาวิทยาลัยติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ทำให้คิดอะไรเองได้หลาย ๆ อย่างโดยไม่ต้องมีคนชักจูง ซึ่งทำให้การชุมนุมครั้งนี้ทั่วโลกหันมาสนใจพวกเขา

หากมองข้ามช็อตไปที่สถานการณ์หลังจากนี้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงจะพังหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบแต่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีของฮ่องกงเพราะทางจีนต้องการให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการค้า หลังจบเรื่องนี้จะมีการฟื้นฟูขึ้นมา ยกเว้นว่าผู้ชุมนุมจะทำลายศูนย์การเงินของตัวเอง แต่ที่จะเสียหายหนักคือการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบเสรี หลังจากนี้รัฐบาลจีนน่าจะเข้ามาควบคุมเต็มตัว

การชุมนุมในฮ่องกงครั้งนี้คล้ายกับการชุมนุมของม็อบกปปส.จะเห็นได้ว่ามีคนออกมาเป็นล้านคนเหมือนกัน มีข้อเรียกร้องเหมือนกันคือให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลาออก แต่นางสาวยิ่งลักษณ์เลือกที่จะยุบสภา ส่วนทางฝั่งฮ่องกงยกเลิกการออกกฎหมาย แต่ไม่ยอมลาออกทำให้การชุมนุมยืดเยื้อ ย้อนกลับไปหาก แคร์รี แลม และยิ่งลักษณ์ ชินวัฒน์ ยอมลาออกตั้งแต่แรก สถานการณ์การชุมนุมก็จะเปลี่ยนไป การชุมนุมจะไม่สามารถดำเนินต่อได้เพราะทำได้ตามข้อเรียกร้องแล้ว หากชุมนุมต่อก็จะเป็นการประท้วงที่ไม่มีความชอบธรรม นี่คือเรื่องที่น่าเสียดายของทั้ง 2 เหตุการณ์นี้

"อย่างไรก็ตามตอนนี้คนฮ่องกงตกอยู่ในภาวะ “ทวิบถ” คือ ทางสองแพร่ง เพราะประชาชนฮ่องกงต้องการสิทธิเสรีภาพ แต่ก็มีเต็มที่ไม่ได้เพราะรู้อยู่แก่ใจเสมอว่าฮ่องกงเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นระบอบเผด็จการ ในขณะเดียวกันจะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการก็ไม่มีความสุขเพราะคุ้นชินกับชีวิตที่เสรีมานาน ทำให้ไม่รู้จะเลือกไปทางไหนเพราะตันทั้งสองทาง จะเสรีก็ไม่ได้จะเผด็จการก็ไม่ชอบ ทำให้การต่อสู้ครั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องเทหมดหน้าตัก"   รศ. วรศักดิ์ กล่าว

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ