“จิตแพทย์” แนะ 6 วิธี 3 ห้าม รับมือน้ำท่วม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รพ.จิตเวชโคราช แนะ 6 วิธีเตรียมรับมือน้ำท่วม 3 ห้ามลดสูญเสีย ย้ำ ชุมชนเตรียม 3 เรื่องก่อนน้ำมา

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุโซนร้อนคาจิกิ ซึ่งพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ เป็น 4 ใน 20 จังหวัดในภาคอีสานที่อาจได้รับผลกระทบ ว่า ส่วนของสถานพยาบาล รพ.จิตเวชโคราชได้เตรียมพร้อมจัดบริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง จัดระบบไฟสำรอง จัดระบบการสื่อสารให้คำปรึกษาดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินเชื่อมโยงกับรพ.ชุมชนตลอด24 ชั่วโมง ส่วนของประชาชน ขอให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าในอดีตจะไม่เคยประสบปัญหาในพื้นที่มาก่อนก็ตาม ก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากภัยธรรมชาติอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ การรับมือที่ดีที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมล่วงหน้าทั้งในระดับครอบครัว ระดับชุมชน หมู่บ้าน เพื่อการเอาชีวิตรอดและอยู่อย่างปลอดภัย

พายุ“คาจิกิ” จ่อคิวเข้าไทย แจง “พายุเหล่งเหลง” ไม่กระทบไทย

ทั้งนี้ข้อแนะนำมี 6 ประการ คือ 1.เตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย เน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา  2.สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด อย่างน้อย 3 วัน  3.เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย  4.ผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันสูญหาย 5.จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น และ 6.จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น ญาติสนิท เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสายด่วน 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

นอกจากนี้เมื่อเกิดน้ำท่วมจริงและน้ำท่วมถึงบ้าน ขอให้ตั้งสติจะช่วยให้เห็นวิธีแก้ปัญหาดียิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงไว้เสมอ 3 ประการ คือ 1.ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหลแม้ระดับน้ำจะไม่สูง เนื่องจากความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้ 2.ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมเพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ 3.ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ที่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง หากรายใดยาใกล้หมด ไม่สามารถเดินทางออกไปพบแพทย์ตามนัดจากฝนตกหนัก ให้รีบแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้านทุกแห่ง เพื่อดำเนินการจัดส่งยาไปให้ที่บ้าน

ส่วนของชุมชน ให้เตรียมพร้อมล่วงหน้า 3 ประการ คือ 1. จัดเตรียมแผนการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะความปลอดภัยกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ช่วยกันเฝ้าระวังทรัพย์สินในชุมชน  2. จัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำและแจ้งเตือนชุมชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง 3.จัดเตรียมศูนย์กลางให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกและประสานกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลกันในเบื้องต้นได้รวดเร็วและทั่วถึงที่สุด

อุตุฯ คาดหลัง 4 ก.ย.ฝนจะลดลง

กรมสุขภาพจิตพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมสกลนคร เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 ราย

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ