“กอดกัน” คำพูดง่ายๆ เมื่อเห็นสัญญาณการฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จิตแพทย์เผยแนวทางช่วยเหลือ เมื่อพบผู้มีสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตายบนโซเชียลมีเดีย คำง่ายๆ “กอดกัน”

ประเด็นการทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย กลายเป็นปัญหาที่มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายที่ปัจจัยมาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งที่ผ่านมาจะพบในศิลปิน ผู้มีชื่อเสียง แต่จริงๆ แล้วทุกคนมีความเสี่ยงได้ทั้งหมด ยิ่งในโซเชียลมีเดียจะพบเห็นการโพสต์ตัดพ้อ หรือท้อแท้ใจ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือน   

กรมสุขภาพจิตแนะสัญญาณเตือนอันตราย วอนอย่าชม แชร์ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิต เตือนอย่าชม อย่าแชร์ คลิปฆ่าตัวตาย หวั่นเกิดการเลียนแบบ

เรื่องนี้ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต  ให้ข้อมูลว่า  สัญญาณเตือนที่เห็นชัดในยุคดิจิทัล คือ การโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก  ทวิตเตอร์  แต่คนทั่วไปอาจไม่ทราบ หรือคิดว่า สิ่งที่บางคนโพสต์อาจเป็นเพียงแค่การระบายความรู้สึก  ไม่ได้มีภาวะที่คิดทำร้ายตัวเอง  แต่จริงๆ แล้ว หากทุกคนเห็นการโพสต์ลักษณะตัดพ้อ ท้อแท้ใจ หรือเริ่มรู้สึกว่า ผิดปกติ ควรสอบถามผู้โพสต์ แต่ที่ผ่านมา หลายคนมองข้าม จนไม่สามารถช่วยเหลือกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักโพสต์ลักษณะท้อแท้ใจ การบอกให้สู้ๆ เหมาะสมหรือไม่ นพ.ณัฐกร กล่าวว่า  คำว่า “สู้”  เป็นคำที่คุ้นชินพอๆกับการใช้คำว่า “เป็นกำลังใจให้นะ”  ในขณะที่บางคนบอกว่า “ทำไมไม่ดูคนที่ลำบากกว่าเรา” คำพูดเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่อาจไม่ทราบว่า ควรพูดอย่างไร  แต่แทนที่จะพูดแบบนี้ ควรเอาเวลามารับฟังพวกเขาดีกว่า   

 นพ.ณัฐกร    กล่าวว่า   การฟังจึงเป็น ปัจจัยที่สำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  โดยการที่มนุษย์จะมีการเชื่อมความสัมพันธ์ หรือการแสดงออกถึงการช่วยเหลือกันและกันนั้น จะมี 2 อย่าง  ประกอบด้วย   1. การสัมผัส  (human touch)    และ 2. การรับฟัง     ซึ่งในบริบทสังคมไทย การรับฟังเหมาะสมกว่า เพราะจะไปกอดคงใช้ไม่ได้กับทุกคน 

 ผู้สื่อข่าวถามว่า   หากต้องการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ว่า เป็นห่วงผู้ที่โพสต์รู้สึกท้อแท้ หรือหมดกำลังใจ จะมีวิธีการโพสต์อย่างไรให้เหมาะสม นพ.ณัฐกร กล่าวว่า  จากประสบการณ์ที่เห็นเมื่อมีการโพสต์ในโซเชียลแพลตฟอร์ม     เวลามีการโพสต์เหล่านี้ ก็จะมีคนไปถามว่า  “โอเคมั้ย.. เล่าให้ฟังได้”   หรือบางคนก็จะตอบว่า  “กอดๆ” “กอดกันๆ”    ซึ่งเป็นคำที่คนยุคนี้ใช้บ่อย    สำหรับตนมองว่าค่อนข้างโพสิทีฟ  เพราะเป็นตัวแทนของการสัมผัสที่ดีอย่างหนึ่ง   

เมื่อถามว่า หลายคนเข้าใจว่าการฆ่าตัวตายมาจากโรคซึมเศร้า  นพ.ณัฐกร กล่าวว่า  การฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าพบเพียงร้อยละ 10   ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก อย่างไรก็ตาม  ตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยไม่ได้พบมาก ยังอยู่ในค่าเฉลี่ยไม่สูง

เฟซบุ๊กเริ่มใช้ AI ตรวจสอบผู้ใช้มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า  ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  เกี่ยวกับสถานการณ์การฆ่าตัวตาย พบว่า อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคน ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2561  ดังนี้

ปี 2551 พบอัตราการเสียชีวิต 5.98  ต่อประชากรแสนคน

ปี 2552 พบอัตราการเสียชีวิต 5.97  ต่อประชากรแสนคน

ปี 2553 พบอัตราการเสียชีวิต  5.9  ต่อประชากรแสนคน 

ปี 2554 พบอัตราการเสียชีวิต  6.03  ต่อประชากรแสนคน 

ปี 2555 พบอัตราการเสียชีวิต  6.2  ต่อประชากรแสนคน

ปี 2556 พบอัตราการเสียชีวิต  6.08 ต่อประชากรแสนคน

ปี 2557 พบอัตราการเสียชีวิต  6.08 ต่อประชากรแสนคน

ปี 2558 พบอัตราการเสียชีวิต  6.47   ต่อประชากรแสนคน  

ปี 2559 พบอัตราการเสียชีวิต 6.35 ต่อประชากรแสนคน

ปี 2560 พบอัตราการเสียชีวิต 6.03  ต่อประชากรแสนคน

ปี 2561 พบอัตราการเสียชีวิต 6.32 ต่อแสนประชากร   

 

 

 

 

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ