“กรดไหลย้อน”โรคฮิตคนเมือง ระวัง!มะเร็งหลอดอาหาร-ลำคอ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์เตือนระวังเป็นกรดไหลย้อนไม่รีบรักษา เสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำคอได้ โดยกลุ่มคนท้อง-คนเมืองที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ เคร่งเครียด กินอาหารไม่ตรงเวลา เป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ


กรดไหลย้อน ไม่ใช่โรคที่แปลกใหม่แต่กลับพบว่าคนไทยมีอัตราป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกว่าร้อยละ 15 ของคนที่มีการปวดท้องมักพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนด้วย ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคนสังคมเมือง ที่มีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ต้องเผชิญกับความเครียด หรือการกินอาหารไม่ตรงเวลา และกลุ่มคนท้อง แม้เป็นโรคที่ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร หรือ มะเร็งในลำคอ ได้


โรคกรดไหลย้อนคืออะไร ?

โรคกรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยที่ผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นน้อยก็จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นโรคนี้จะแสดงอาการออกมาซึ่งจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง โดยจะมีอาการตั้งแต่ การแสบร้อนในทรวงอก เรอเปรี้ยว อยากอาเจียนหลังรับประทานอาหารทำให้รับประทานได้น้อยลง และจุกแน่นถึงคอ



นพ.บุญชัย โควาดิสัยบูรณะ แพทย์ประจำศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงสาเหตุของกรดไหลย้อนว่า มาจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร หรือการบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ หรือยังมีสาเหตุจากแรงดันช่องท้องสูงจากการที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือจากการที่ใส่เสื้อผ้ารัดแน่น รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื้มน้ำอัดลม ดื่มสุรา รับประทานของทอด ของมัน และอาหารรสจัด ไปจนถึงการรับประทานอาหารมื้อดึกแล้วล้มตัวนอนทันที


"ภาวะกรดไหลย้อนสามารถทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ถ้าเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารตีบ แผลและเลือดออกในหลอดอาหาร ไปจนถึงมะเร็งหลอดอาหารอีกด้วย" นพ.บุญชัยกล่าวเตือน



ในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ นพ.บุญชัย กล่าวว่า สามารถทำได้ทั้งการตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหารและหูรูดหลอดอาหาร, ส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน และการตรวจวัดกรด-ด่างในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมงโดยการติดแคปซูลที่ผนังหลอดอาหาร แล้วจากนั้นแพทย์จะรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยาลดกรด หรือการผ่าตัดรัดหูรูดกระเพาะอาหาร


อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อน กรดที่ออกมาจากกระเพาะอาหาร สามารถย้อนไปถึงกล่องเสียงได้เช่นกัน เพราะหลอดอาหารและกล่องเสียงอยู่ใกล้เคียงกันกรดจึงสามารถซึมไปถึงได้ โดยมีอาการรุนแรงกว่าโรคกรดไหลย้อนทั่วไปเพราะเยื่อบุกล่องเสียงทนกรดได้น้อยกว่าหลอดอาหาร


พญ.จิราวดี จัตุทะศรี แพทย์ประจำศูนย์หู คอ จมูกกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า อาการของโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียงมักจะไม่ชัดเจน ที่พบบ่อยคือ เสียงแหบ มีของเหลวไหลลงคอ และเสมหะในคอตลอดเวลา รวมถึงฟันสึก ฟันหรอ มีกลิ่นปาก กลืนอาหาร น้ำ หรือ ยา ลำบากกว่าปกติ และจะไอเรื้อรัง จุกในลำคอ รู้สึกคล้ายๆมีก้อนในลำคอ ซึ่งเป็นเพราะกล่องเสียงอับเสบจนบวม


"ถ้าอาการเป็นแบบนี้จะต้องรักษาด้วยการควบคุมกรดไหลย้อนจากการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิต รับประทานยาลดกรด และควบคู่กับการรับประทานยารักษาอาการอักเสบของกล่องเสียง หากไม่รักษาเกิน 5 ปี อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งกล่องเสียงมากกว่าคนทั่วไป" พญ.วนิชา กล่าว



นอกจากนี้จากการศึกษาของคณะแพทย์พบว่าผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนร้อยละ 30-50 เป็นกลุ่มของคุณแม่ตั้งครรภ์ แม้บางคนไม่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อนก็ตาม


พญ.วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ กล่าวว่าเมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนและระบบต่างๆในร่างกายอาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยสาเหตุ คือ แรงบีบของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างที่ต่อกับส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำงานได้น้อยลง ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนง่ายขึ้น และมาจากทารกในครรภ์ค่อยๆโตขึ้น จนเริ่มขยายขนาดกดดันกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยไหลย้อนมากขึ้น แต่กรดไหลย้อนไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะมดลูกและกระเพาะอาหารอยู่คนละส่วนกัน ความเสี่ยงจึงอยู่ที่แม่ หากปล่อยไว้ระยะยาวก็ทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหารเช่นกัน


อย่างไรก็ตามโรคกรดไหลย้อนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่ก็สามารถทำให้สุ่มเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆได้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีและถูกต้อง


สำหรับการป้องกันโรคกรดไหลย้อนโดยปรับพฤติกรรมโดยการหลีกเลี่ยงไขมันสูง, อาหารรสจัด, อาหารที่มีกรดสูง งดการดื่มเหล้าและบุหรี่ รวมถึงลดปริมาณอาหารโดยเฉพาะมื้อเย็น นอกจากนี้หลังการรับประทานอาหารไม่ควรล้มตัวนอนทันที ควรเว้นอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดภาวะเครียดและรีบเร่ง เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองปราศจากโรคอื่นๆอีกด้วย



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ