ถอดชีวิตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จุดเริ่มจากความเครียดที่จัดการไม่ได้...


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เล่าถึงประสบการณ์ก่อนรับการรักษาจนอาการดีขึ้น ด้านจิตแพทย์เผยยารักษาได้ เพียงแค่หากเริ่มรีบปรึกษา หรือโทรสายด่วน 1323

“พอเหนื่อยๆ มาก ก็นั่งกรี๊ดดดดดออกมา... เป็นแบบนี้อยู่ 2-3 ครั้ง ลูกก็ตัวเล็กๆ ขวบกว่ามาแตะตัว และพูดว่า แม่ๆ ” คำบอกเล่าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก่อนที่จะเข้ารับการรักษาจนอาการดีขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

เปิด ‘ 3 อันดับ’ ปัญหาสุขภาพจิต  “วัยรุ่นไทย” พบเครียดสูงสุด!

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัย 49 ปี เล่าย้อนถึงอดีต ว่า ป่วยมาประมาณ 20 ปีก่อน ตอนนั้นก็ไม่รู้ตัว แค่รู้ว่าเครียดมาก ทำงานหนัก แทบไม่มีเวลาให้ตัวเอง  โดยตอนนั้นทำงานเกี่ยวกับการแนะนำผลิตภัณฑ์ เซลล์ขายของ ตอนทำงานก็มีความเครียด ประกอบกับปัจจัยหลายๆอย่าง แต่หลักๆ คือ  ไม่สามารถจัดการเวลาตัวเองได้ เพราะเราเริ่มมีลูก มีครอบครัว แม้แฟนจะช่วยเรื่องการเลี้ยงลูก แต่ด้วยแฟนทำงานจ.สมุทรปราการ ออกจากบ้านแต่เช้า กว่าจะกลับบ้าน 4-5 ทุ่ม 

“ส่วนเราตอนนั้นเป็นเซลล์ เช้ามาก็พาลูกส่งเนสเซอรี่ประมาณ 7 โมงเช้า และก็ไปทำงาน หากทำงานเสร็จเร็วก็มารับลูก บางวันก็มารับได้ช้า เหลือลูกอยู่คนเดียว ต้องจ้างพี่เลี้ยงมาดู   ซึ่งรู้สึกว่า เราทำหน้าที่แม่ไม่ดีพอ เคยคิดว่า ทำไมแม่คนอื่นเขาคุยกับลูกดี เราทำได้แค่อ่านนิทาน จนมีช่วงหนึ่งตอนลูกชายเด็กๆ  เราจะอาบน้ำให้   อยู่ๆ เราก็รู้สึกแย่ รู้สึกเฟลมากว่า ทำไมไม่มีเวลาพักผ่อนเลย เหนื่อยมากจนต้องร้องกรี๊ดออกมา  เราเหนื่อย  ก็อยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง”

 หลังจากนั้นเราก็เริ่มรู้ว่าน่าจะป่วย แต่ก็ไม่ไปพบแพทย์ เพราะคิดว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจ หากเรามองโลกบวกก็น่าจะดี แต่ไม่ใช่แบบนั้น กระทั่งวันหนึ่งสามีป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และพี่สาวมาเยี่ยม และเห็นอาการเราแบบคนอมทุกข์ เครียด สังเกตจนรู้ว่า เราไม่ไหว ต้องพบจิตแพทย์แล้ว และพาเข้ารับการรักษาตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมา

“ช่วงที่รักษานั้นก็กินยาบ้าง ไม่กินบ้าง และเราก็นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งๆที่กินยาต่อเนื่องจะดีขึ้น แต่เราก็ขาดยา จนสุดท้ายเราก็ทำเพื่อลูก เพราะคิดว่าต้องอยู่ให้ได้ ก็รักษามาเรื่อยๆ อาการก็ดีขึ้น แต่ช่วงแรกไปทำงานก็มีปัญหา เพราะด้วยอาการเรา  การทำงานจันทร์ถึงศุกร์ 7 โมงเช้า – 6 โมงเย็น ที่ทำงานตลอด เราไม่ไหว เราจะเบลอๆ ทำงานไม่ได้ก็ต้องลาออก”

เธอเล่าอีกว่า แต่หลังจากทราบว่า ที่มูลนิธิ รพ.ศรีธัญญา  มีร้านเพื่อน เพื่อฝึกอาชีพให้ผู้ป่วย เราก็เข้าร่วม ทำเบเกอรี่ ชงกาแฟ พี่ๆที่นี่ใจดี เราก็รู้สึกดีขึ้น ได้งาน ได้อาชีพ และมีเพื่อน เพราะอาการเราต้องหัดคิดบวก และ อย่าอยู่คนเดียว อย่าขาดยา เพราะหากไม่กินยา 3-4 วัน อาการเราก็จะซึม เริ่มงอแง ไม่อยากทำงาน

มองอย่างไรกับคนที่มีความเครียดมากๆ และยังไม่ไปพบแพทย์ เพราะกังวลว่าอาจถูกมองว่าเป็นคนบ้า เธอเล่าว่า ต้องเปลี่ยนค่านิยมของคนไทย เพราะมองว่าการพบจิตแพทย์ เหมือนคนบ้า  เพราะจริงๆ คนปกติเวลาเกิดความเครียดก็ต้องหาคนคุยแล้ว  หาคนเข้าใจเรา แต่คนเข้าใจเราบางทีอาจไม่ใช่ญาติพี่น้อง คนรักเราอาจไม่เข้าใจเราก็ได้ หากรู้สึกเศร้ามากๆ เครียดมาก ชีวิตไม่ปกติ อยากมีความสุขมากกว่านี้ ต้องการให้หลายๆอย่างดีขึ้น แนะนำให้พบจิตแพทย์ หากไม่เป็นเราก็จะได้หาวิธีปรับปรุงตัวเองอย่างอื่น แต่หากเป็นก็จะได้รักษา

สำหรับการรักษานั้น นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา  ให้ข้อมูลว่า  โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่คิดไปเอง แต่เกิดจากสมองที่ทำงานผิดปกติ การรักษาจึงใช้ยา โดยจะทำให้สมองมีการหลั่งสารเคมีอย่างสมดุล และระยะยาวทำให้สมองที่เกิดปัญหากลับมาทำงานได้ปกติ ซึ่งในอนาคตคนไข้ก็อาจไม่ต้องใช้ยาได้ ซึ่งยังมีหลายวิธีที่ใช้ได้ แต่จะได้ผลควบคู่หากเราทำจิตบำบัด ด้วยการพูดคุย ให้คนไข้เข้าใจข้อดีข้อเสียของตัวเอง อะไรเป็นข้อดีเสริมให้ดีขึ้น อะไรเป็นข้อเสียก็ให้ค่อยขจัดหายไป และฝึกให้มีการใช้ศักยภาพของเขาให้ดีที่สุด   การรักษาปัจจุบันยังมีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า   แต่การใช้ยาคือการรักษาหลัก

“ข่าวดีของโรคซึมเศร้าไม่ใช่ว่าต้องกินไปตลอดชีวิต โดยการรักษาแบ่งเป็น 3 ช่วง คือช่วงแรกที่อาการมากๆ ก็อาจกินยา 1-3 เดือนก็จะดีขึ้น แต่ช่วงนี้ยังไม่หายขาด จากนั้นเข้าระยะที่ 2 ที่ต้องกินยาให้นานพอจนหายขาดอาจอยู่ช่วง 8 เดือนถึง 1 ปี และช่วงที่ 3 ก็จะค่อยๆลดยา จนอาการดีขึ้น แต่หากเป็นเรื้อรังเป็นมานาน การรักษาก็ต้องออกแบบให้เหมาะกับบุคคล แต่โรคซึมเศร้าเป็นอาการที่รักษาให้หายขาดได้”  นพ.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สิ่งสำคัญหากรู้สึกเครียดมากๆ จนไม่สามารถจัดการตนเองได้ หรือหากพบเห็นใครที่มีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนไป พักผ่อนไม่พอ สามารถแนะนำโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือพบจิตแพทย์จะดีที่สุด

ผลวิจัยเผย "ป่วยซึมเศร้า" ไม่รักษา อาจทำสมองอักเสบ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ