หลายปัจจัยส่งราคาหมูพุ่งสูงขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายปัจจัยส่งราคาหมูปัญหาราคาเนื้อหมูราคาแพง ที่ตอนนี้พุ่งไปที่กิโลกรัมละ 180 บาท ถือว่าเป็นราคาที่แพงที่สุดในรอบ 10 ปี หมูราคาแพงนั้น นอกจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนจากราคาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้บอกว่าพวกเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ร้านอาหารโอดหมูแพง จ่อปรับขึ้นราคา

น่าห่วง! ราคาเนื้อหมูอาจทะลุ 200 บาท แนะรัฐคุมส่งออกทันที

แถวของประชาชนที่มาเข้าคิวรอซื้อเนื้อหมู ที่เปิดจำหน่ายในเวลา 4 โมงเย็น ยาวอ้อมพื้นที่สนามกีฬาของเทศบาลตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี นี่เป็นงานขายหมูในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ที่หลายหน่วยงานร่วมมือกันจัดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสจับจ่ายซื้อเนื้อหมูในราคาที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้หลายคนมาเข้าคิวเพื่อรอซื้อเนื้อหมูตั้งแต่บ่าย 3 เพราะกลัวจะซื้อเนื้อหมูราคาพิเศษไม่ทันและต้องไปซื้อเนื้อหมูที่ตลาดที่ตอนนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 บาท ซึ่งนับว่าแพงที่สุดในรอบ 10 ปี

หนึ่งในเจ้าของเขียงหมูในตลาดเทศบาลเมืองอำเภอศรีราชา บอกว่าสาเหตุที่ทำให้เขียงหมูของเธอต้องขึ้นราคา มาจากราคาหมูเป็นที่หน้าฟาร์มที่เธอไปซื้อนั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-85 บาท จากเดิมราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 55-70 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ในฐานะเขียงหมูก็ต้องยอมรับกับราคาที่เป็นไปตามกลไกของตลาด ทำให้การค้าขายที่เคยสร้างกำไรกลายเป็นภาวะขาดทุน และนั่นก็ทำให้เธอต้องไปหยิบยืมเงินเพื่อนำมาจ่ายส่วนต่าง ในยามที่ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับสูงขึ้นเรื่อยๆแต่เขียงหมูอย่างเธอต้องตรึงราคาเนื้อหมูเพื่อรักษาลูกค้าของร้าน

ชาวบ้านโอดให้รัฐเร่งเข้าดูแล หลังราคาหมูพุ่งต่อเนื่อง

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มมีราคาสูงขึ้น มาจากความต้องการหมูไทยที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีน เวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ขณะที่ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังไม่เกิดการระบาด นั่นคือสั่งที่ผู้จัดการจักกริชฟาร์ม หนึ่งในฟาร์มหมูขนาดกลางในจังหวัดชลบุรี บอกกับทีมข่าว

แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัย สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มมองว่าราคาหมูที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ยังมาจากปัจจัยปริมาณหมูในประเทศที่ลดลงหลังหลายฟาร์มในไทยตัดสินใจเลิกทำฟาร์มหมู เพราะราคาหมูตกต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยตกต่ำที่สุดที่กิโลกรัมละ 38 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงหมูอยู่ที่กิโลกรัมละ 68 บาท

ขณะเดียวกันการระบาดของโรค ASF ที่ระบาดหนักในภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ฟาร์มที่สายป่านทางการเงินไม่เพียงพอต้องเลิกกิจการเพราะไม่สามารถรอวันที่ราคาหมูจะกลับมาดีได้อีกครั้ง

สำหรับฟาร์มที่ตัดสินใจเดินหน้าต่อแม้จะต้องประสบกับภาวะขาดทุนสะสม ก็ต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันโรค ASF เพราะหากฟาร์มไหนเกิดการระบาดของโรค ASF ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรค ASF จะส่งผลให้ต้องปิดฟาร์มและเลิกกิจการแบบถาวร

มาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นมาในแทบจะทุกกระบวนการ กลายเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลที่ฟาร์มหมูต้องแบกรับ แม้ราคาหมูจะเพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยค่าใช้จ่ายที่ต้องหามาพยุงธุรกิจให้ดำเนินการต่อได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนมีมาตรการของรัฐในการตรึงราคาหมูให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ผู้ประกอบการมองว่ารัฐบาลก็ควรมีมาตรการประกันราคาขั้นต่ำของหมูเพื่อช่วยเหลือพวกเขาเช่นกัน

ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลให้เนื้อหมูมีราคาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำมากบ้างน้อยบ้างลดหลั่นกันไป กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบจึงได้ออกมาตรการล่าสุดโดยระบุว่า หากการตรึงราคายังไม่ทำให้ราคาเนื้อหมูลดลง ก็จะต้องจำกัดจำนวนการส่งออกไม่ให้เกินวันละ 5,000 ตัว จากที่ตอนนี้ส่งออกวันละ 10,000 ตัวและหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะใช้มาตรการรุนแรงสูงสุด นั่นก็คือการ “ระงับการส่งออกชั่วคราว” จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ