นักวิทย์จีนเผยผลวิจัยใหม่ นมแม่ป้องกัน-รักษาโควิด-19 ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทยาศาสตร์จีนเผยผลการศึกษาใหม่ พบนมแม่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้

ทีมวิจัยจากปักกิ่งได้นำน้ำนมแม่มาทดสอบกับเซลล์ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยใช้นมที่ถูกรวบรวมในปี 2017 ก่อนที่จะเริ่มมีการระบาด และชนิดของเซลล์ที่นำมาทดสอบนั้นแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เซลล์ไตของสัตว์ ไปจนถึงเซลล์ปอดและเซลล์ในลำไส้ของมนุษย์ โดยผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน นั่นคือ ไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ถูกฆ่าโดยน้ำนมแม่

สถานการณ์เด่นรอบโลก 28 ก.ย.63

อนามัยโลกยัน น้ำนมแม่ไม่แพร่โควิด-19

หมอ เผย ไทยไม่มีผลยืนยัน พบเชื้อโควิด-19 ในน้ำอสุจิ

ศ.ถงอีกัง (Tong Yigang) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเคมีปักกิ่ง ระบุไว้ในงานวิจัยว่า “นมแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันไวรัสเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันแม้แต่การขยายตัวของไวรัสหากมันเข้าสู่ร่างกายได้”

ศ.ถงและทีมวิจัยได้ทำการผสมเซลล์ที่มีสุขภาพดีบางส่วนในน้ำนมแม่ จากนั้นล้างนมออกและนำไปสัมผัสกับเซลล์ที่มีไวรัสโควิด-19

พวกเขาสังเกตว่า แทบจะไม่มีไวรัสเข้ามาเกาะหรือพยายามเข้าสู่เซลล์ที่มีสุขภาพดีเหล่านี้ และยังสามารถหยุดการจำลองแบบของไวรัสในเซลล์ที่ติดเชื้อแล้ว

พวกเขาจึงตั้งข้อสรุปว่า สามารถยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19 โดยใช้นมแม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีผลยับยั้งแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิด รวมถึง HIV

ศ.ถงและทีมวิจัยตั้งข้อสงสัยว่า ไวรัสโควิด-19 อาจมีความไวต่อโปรตีนต้านไวรัสในนมแม่ เช่น แลกโตเฟอร์ริน แต่เบื้องต้นไม่พบว่ามีโปรตีนชนิดใดที่ทำงานได้ตามที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยพบว่า การให้ความร้อนนมแม่ขึ้นไปถึง 90 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 10 นาที จะทำให้ศักยภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 20

ทั้งนี้ งานวิจัยชินนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบซ้ำโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อสรุปดังกล่าวเป็นจริง

ก่อนหน้านี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถูกมองว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

ในเมืองอู่ฮั่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีรายานว่า ทารกแรกเกิดทุกคนจะถูกแยกจากมารดาที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และจะได้รับอาหารสูตรเฉพาะแทนนมแม่

ด้านศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ก็ออกมาเตือนว่า ทารกที่มีแม่ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อ จะถือว่าเป็นหนึ่งใน “พาหะต้องสงสัย” เช่นกัน

แต่การศึกษาชิ้นนี้สนับสนุนจุดยืนอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ว่า มารดาควรให้นมลูกต่อไปแม้ว่าจะมีโควิด-19 ก็ตาม

องค์การอนามัยโลกติดตามมารดาที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 46 คนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลายประเทศจนถึงเดือนมิถุนายน โดยตรวจพบยีนของไวรัสในน้ำนมของแม่ 3 ราย แต่ไม่มีหลักฐานการติดเชื้อ และมีเด็กเพียงคนเดียวที่ทดสอบโควิด-19 ออกมาเป็นบวก ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่าติดเชื้อจากน้ำนมมารดา

 

เรียบเรียงจาก South China Morning Post

ภาพจาก AFP

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ