36ข่าวแห่งปี : ระเบิดกรุงเบรุต หายนะของเลบานอน สะท้อนความบกพร่องของรัฐ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พีพีทีวี นิวมีเดีย คัดเลือก 36 ข่าวแห่งปี ความสูญเสียครั้งใหญ่ของเลบานอน กับเหตุระเบิดกรุงเบรุต

อภิมหาระเบิดกรุงเบรุต (Beirut Blast)

36ข่าวแห่งปี: มหากาพย์ "เรือดำน้ำ" ค้านหนัก ทหารเรือถอนสมอ ชะลอจัดซื้อ

36ข่าวแห่งปี : จุดกำเนิด !! แฟลชม็อบเยาวชน เติบโตเป็น กลุ่มราษฎร

วันที่ 4 สิงหาคม 2020 เวลาประมาณ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (22.00 น. ประเทศไทย) เกิดกลุ่มควันหนาทึบลอยขึ้นมาจากจุดเกิดเหตุใกล้กับท่าเรือของเมือง ก่อนเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง จนสามารถมองเห็นได้จากหลายจุดของเมือง และเกิดแรงสั่นสะเทือนจนรู้สึกได้แม้อยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร

36 ภาพ "ระเบิดเลบานอน" กรุงเบรุตพังราบ

เกิดเหตุระเบิดใหญ่ ท่าเรือกรุงเบรุต เลบานอน ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก

คลิปวิดีโอที่โพสต์ทางออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มควันคล้ายดอกเห็ดขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และภาพความเสียหายเป็นวงกว้าง ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ

เหตุระเบิดส่งผลให้ในท้ายที่สุด มีผู้เสียชีวิต 204 คน บาดเจ็บมากกว่า 6,500 คน จนโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเบรุตมีคนเจ็บเข้ามารักษาตัวเป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 300,000 คน

ด้านสื่อท้องถิ่นรายงานว่ายังมีประชาชนจำนวนมากติดอยู่ตามซากอาคารหลายแห่งที่ถูกทำลาย ด้วยแรงระเบิด ขณะที่อาคารสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายเช่นกัน

หลังเกิดเหตุ ประธานาธิบดี มิเชล อูน (Michel Aoun) ของเลบานอนเรียกประชุมสภากลาโหมสูงสุด ซึ่งที่ประชุมได้แนะนำรัฐบาลให้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในกรุงเบรุต และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมอบหน้าที่ให้กองทัพดูแลความมั่นคงในเมืองหลวง พร้อมสั่งกักบริเวณเจ้าหน้าที่ท่าเรือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลโกดังเก็บ “แอมโมเนียมไนเตรท” ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุการระเบิด

เจ้าหน้าที่ คาด "แอมโมเนีย ไนเตรท"ชนวนเหตุระเบิดเลบานอน

“แอมโมเนียมไนเตรท” ภัยเงียบในคลังสินค้า

เจ้าหน้าที่เลบานอนเชื่อว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเบรุตมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีแอมโมเนียไนเตรท ซึ่งเป็นส่วนผสมของปุ๋ย และการผลิตระเบิด น้ำหนักกว่า 2,750 ตัน ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าภายในท่าเรือจุดเกิดเหตุ นานถึง 6 ปี

ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่รายงานข่าวหลายชิ้นระบุว่า อาจเป็นเพราะเกิดเพลิงไหม้รุนแรงที่โกดังเก็บดอกไม้ไฟใกล้กับท่าเรือ ทำให้เกิดประกายไฟไปถูกแอมโมเนียมไนเตรท นำไปสู่การระเบิด

แอมโมเนียมไนเตรท เป็นสารประกอบทางเคมี มีรูปร่างเป็นผลึกแข็งสีขาว ละลายในน้ำได้ง่าย มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสูงถึง 34% ซึ่งธาตุไนโตรเจนนี้ถือเป็นสารอาหารหลักชั้นดีของพืช แอมโมเนียมไนเตรทจึงถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยเคมีสำหรับบำรุงพันธุ์พืช

แต่นอกเหนือไปจากประโยชน์ที่เป็นอาหารสำหรับพืชแล้ว แอมโมเนียมไนเตรทยังถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของระเบิดที่เรียกกันว่า ระเบิดปุ๋ย (Fertilizer Bomb) นิยมใช้ใน อุตสาหกรรม เหมืองแร่ เหมืองหินและการก่อสร้างโยธา เนื่องจากใช้งานง่าย และมีราคาถูก แต่มักถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการก่อการร้ายบ่อยครั้ง

ต่อมามีการนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทไปใช้ทำระเบิดเพื่อก่อการร้าย โดยพบรายงานครั้งแรกเมื่อปี 1970 ใน รัฐวิสคอสซินสหรัฐอเมริกา การระเบิดที่โอคลาโฮมาซิตีในปี 1995  ระเบิดในนิวเดลีในปี 2011 การโจมตีในออสโล ประเทศนอร์เวย์ ปี 2011 และการระเบิด 2 ครั้งกลางตลาดในเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ในปี 2013

ส่วนอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ที่ท่าเรือนครเทียนจิน ประเทศจีน โดยครั้งนั้นเป็นคลังเก็บแอมโมเนียมไนเตรทจำนวน 800 ตันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 173 ราย นอกจากนั้น ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สเปน และเม็กซิโกเองก็เคยเกิดเหตุระเบิดทำนองนี้เช่นกัน

เหตุระเบิดจากแอมโมเนียมไนเตรทที่รุนแรงที่สุดเกิดที่เยอรมนี ในปี 1921 ที่โรงงานเคมี เมืองลุกวิดฮาเฟน ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 561 ราย ส่วนในอเมริกา รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 1947 กับเรือขนส่งสินค้า มีผู้เสียชีวิต 581 ราย

นั่นทำให้หากจัดการและจัดเก็บแอมโมเนียมไนเตรทอย่างไม่ปลอดภัย มันอาจกลายเป็นสาเหตุการระเบิดได้ ดังนั้นข้อปฏิบัติในการจัดเก็บปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทที่ต้องทำและต้องห้าม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับแอมโมเนียมไนเตรทชุดที่ทำให้เกิดระเบิดกรุงเบรุตนั้นถูกยึดมาจากเรือขนส่งสินค้าเมื่อ 6 ปี ที่แล้ว ก่อนจะนำมาเก็บไว้ในโกดังนี้

เหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคลังสินค้าแห่งนี้ถึงได้รับอนุญาตให้เก็บสารแอมโมเนียมไนเตรท สารเคมีผลิตระเบิดไว้ในปริมาณมากมายขนาดนี้ และอยู่ใกล้กับบ้านเรือนผู้คน

โดยปกติ การเก็บสารเคมีชนิดนี้จะต้องปฏิบัติตามแนวทางต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด  เช่น สถานที่เก็บจะต้องกันไฟ ไม่เป็นไม้ และต้องไม่มีน้ำรั่วไหล เนื่องจากสารแอมโมเนียมไนเตรทติดไฟง่ายมาก และแอมโมเนียมไนเตรทไม่ควรเก็บรักษาไว้ใกล้สารเคมีที่ไวไฟ อีกทั้งต้องมีกำแพงกันไฟสูง 50 ฟุตกั้นสถานที่จัดเก็บ หากอยู่ใกล้ตึกหรือสิ่งของที่สามารถติดไฟได้ และสถานที่จัดเก็บนี้ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างแน่นหนา ควรเก็บมากที่สุด 300 ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคลังสินค้าแห่งนี้ที่เลบานอนเก็บเกินปริมาณที่ควรจะเป็นไปมาก

นายกรัฐมนตรี ฮัซซัน ดิยาบ (Hassan Diab) ระบุว่า การเก็บวัตถุระเบิดไว้ในคลังสินค้า โดยไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัย และทำให้ชีวิตประชาชนอยู่ในอันตรายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกนำตัวมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

“แอมโมเนียมไนเตรท” จากปุ๋ย สู่ระเบิด ต้นตอบึ้มท่าเรือเบรุต ในเลบานอน

เหตุระเบิดเป็นอุบัติเหตุจริงหรือ?

สื่อต่างประเทศรายงานว่า เหตุระเบิดกรุงเบรุตนี้ เกิดขึ้นเพียง 2 วันก่อนคำตัดสินคดีลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก ฮาริรี ด้วยคาร์บอมบ์ เมื่อปี 2005 ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่าเหตุระเบิดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่

เลบานอนเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่ตกเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างซีเรียกับอิสราเอลตั้งแต่ปี 1982 โดยทั้งสองประเทศเคยเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของเลบานอน ก่อนจะถอนกองทัพออกไปในปี 2005

การยึดครองเลบานอนของอิสราเอล ทำให้เกิดองค์กรที่ชื่อว่า เฮซบอลเลาะห์ ขึ้น ซึ่งเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทั้งทางทหารและการเมืองเพื่อต้อต้านการยึดครองของอิสราเอล

องค์กรเฮซบอเลาะห์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทั้งอิหร่านและซีเรีย โดยสหรัฐฯ และอิสราเอลขึ้นบัญชีดำว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มก่อการร้าย

และก่อนหน้าเหตุระเบิดครั้งนี้ไม่นาน เพิ่งเกิดเหตุตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มเฮซบอเลาะห์ โดยอิสราเอลกล่าวหาว่า ฮิซบอลเลาะห์พยายามแทรกซึมเข้าไปในพรมแดนอิสราเอล ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า อิสราเอลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้

ที่น่าสนใจคือ จุดเกิดเหตุระเบิดคลังสินค้าครั้งนี้ เกิดขึ้นใกล้กับจุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ลอบสังหารราฟิก ฮาริรี อดีตนายกรัฐมนตรีของเลบานอนในวันวาเลนไทน์เมื่อปี 2005 และเกิดขึ้นก่อนการประกาศคำพิพากษาคดีลอบสังหารนี้ ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ถูกตั้งข้อหาเพียง 2 วัน

ในครั้งนั้นมือระเบิดฆ่าตัวตายใช้ระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 1,800 กิโลกรัมมัดเข้ากับรถยนต์ และเข้าไปจอดรอขบวนรถของฮาริรีก่อนจะจุดชนวนระเบิด เมื่อขบวนรถของนายกรัฐมนตรีผ่านไป

ผู้คนในกรุงเบรุตรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของระเบิดครั้งนั้น เหมือนกับเหตุระเบิดคลังสินค้าในครั้งนี้ ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตอีก 22 คน และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน

หลังเกิดเหตุมีหลายฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยรัฐบาลเลบานอนได้กล่าวหาซีเรีย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีฮาริรีต้องการให้ซีเรียถอนกำลังออกจากเลบานอน

แต่การถอนกำลังซีเรียออกจากเลบานอนก็ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเช่นกัน เพราะการถอนกำลังของซีเรีย ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขึ้นมามีอำนาจในเลบานอน และตั้งแต่นั้นมาเราก็เห็นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขึ้นมามีบทบาทการการเมือง

ซึ่งต่อมาในปี 2007 คณะตุลาการศาลพิเศษซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ได้ออกหมายจับสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ 5 คน เป็นชายทั้งหมด โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนกรานว่าจะไม่ส่งตัวใครให้ยูเอ็น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าวแห่งชาติของรัฐบาลเลบานอนเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอให้ตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ควบคุมตัวพลเมืองรัสเซีย 2 คน ซึ่งเป็นกัปตันและเจ้าของเรือส่งสินค้าที่มีแอมโมเนียมไนเตรท ในฐานะผู้ที่ทำให้เกิดการระเบิด

เลบานอนกักบริเวณเจ้าหน้าที่ท่าเรือ สอบเหตุระเบิด

ผลพวงจากการระเบิด

มีรายงานว่าเหตุระเบิดครั้งนี้มีแรงสั่นสะเทือนเท่ากับแผ่นดินไหวระดับ 3.5 แมกนิจูด สร้างแรงสั่นสะเทือนไปไกลถึงราว 23 กิโลเมตร และได้ยินไปไกลถึงเกาะไซปรัส ทางตะวันออกของทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ซึ่งอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุถึง 240 กิโลเมตร

หากจะให้เห็นภาพชัดว่าระเบิดนี้รุนแรงขนาดไหน เราสามารถเทียบแรงระเบิดครั้งนี้ได้กับแรงระเบิดของนิวเคลียร์ ผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าแรงระเบิดจากสารแอมโมเนียม ไนเตรท 2 พันกว่าตันครั้งนี้ เทียบได้กับแรงระเบิด TNT 240 ตัน ซึ่งระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมา มีความแรงราว 15,000 ตัน

ดังนั้นระเบิดที่เบรุตมีความแรงคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.6 ของระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมา แต่ก็เห็นได้ว่าเพียงแค่ร้อยละ 1.6 ก็รุนแรงมากขนาดนี้

หลังเกิดเหตุระเบิด มีรายงานว่าอาคารหนึ่งหลังถล่มลงมาทั้งอาคาร และมีอาคารประวัติศาสตร์ราว 60 แห่งในเบรุตเสี่ยงต่อการพังทลาย

ซาร์กิส คูรี (Sarkis Khoury) ผู้อำนวยการด้านโบราณวัตถุ กระทรวงวัฒนธรรมเลบานอน กล่าวว่า มีอาคารอย่างน้อย 8,000 แห่งได้รับผลกระทบจากการระเบิด ซึ่งหลายแห่งกระจุกตัวอยู่ในย่านประวัติศาสตร์ของย่าน “จามีซาห์ (Gemmayzeh)” และ “มาร์ มิคาเอล (Mar Mikhael)” ในบรรดาอาคารเหล่านี้มีอาคารเก่าแก่ 640 แห่งโดยประมาณ ซึ่ง 60 แห่งเสี่ยงต่อการพังทลาย

ทั้ง 2 พื้นที่หันหน้าเข้าหาท่าเรือ ทำให้ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ปกติเป็นที่รู้จักในฐานะย่านกลางคืน หรือ Night Life มีอาคารเก่าแก่หลายแห่ง ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นผับบาร์หรือร้านอาหาร

นอกจากนี้ ย่าน อัชราฟีอะห์ (Achrafieh) ทางตะวันออกของเบรุตก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเป็นที่ตั้งของวังเซอร์ซ็อก (Sursock Palace) และพิพิธภัณฑ์เซอร์ซ็อก (Sursock Museum) สภานที่สำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์ของเลบานอน

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม แอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตันที่เก็บไว้ที่ท่าเรือของเบรุตได้เกิดการระเบิด ทำลายศูนย์กลางการค้าหลักของเมือง และสร้างความเสียหายให้กับเมืองหลวงของเลบานอนเป็นอย่างมาก

ระเบิดครั้งนี้สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเลบานอน โดยนอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนและทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ยังสร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 1-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1-4.6 ล้านล้านบาท)

โทนี รามีย์ ประธานสมาคมเจ้าของกิจการร้านอาหารในเลบานอน เปิดเผยถึง มูลค่าความเสียหายจากภาคการท่องเที่ยวหลังเกิดเหตุอภิมหาระเบิดกรุงเบรุต เลบานอน มีมูลค่าราวพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกัน ปิแอร์ อัชคาร์ เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในเลบานอน ประเมินว่า ความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวอาจจะมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ โดยเขาอธิบายว่า ความสูญเสียทางตรง ประกอบไปด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโรงแรม สิ่งปลูกสร้าง แต่ยังมีความสูญเสียทางอ้อมจากการที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่มีรายได้มาจ่ายเงินเดือนพนักงานจากการที่นักท่องเที่ยวหายไป เป็นลูกโซ่ที่กระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยวแน่นอน

เหตุระเบิดนี้ซ้ำเติมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเดิมทีเลบานอนหวังจะกลับมาดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

คณะรัฐมนตรีของเลบานอน เปิดเผยว่า เลบานอนเพิ่งประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายต้องถูกยกเลิกไปเนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงครั้งใหญ่ เหตุระเบิดนี้ยังทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำได้ยากมากขึ้นและสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจแย่ลงไปอีก

เลบานอนป่วยโควิด-19 พุ่งกว่า 300 ราย เหตุระเบิดทำให้ควบคุมแพร่ระบาดยากขึ้น

ระเบิดกรุงเบรุต ทำรายได้ท่องเที่ยวหายไปนับพันล้านดอลลาร์

อาคารเก่าแก่ 60 แห่งในเบรุตเสี่ยงพังถล่ม หลังเหตุระเบิดครั้งใหญ่

ประชาชนประท้วงความบกพร่องของรัฐบาล

ผลจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า ที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่เลบานอนทราบมานานกว่า 6 ปีแล้วว่า ท่าเรือแห่งนี้มีสารเคมีอันตรายอย่างแอมโมเนียมไนเตรทเก็บสะสมอยู่ 

หลังจากนั้น ในช่วง 3 ปีแรก ชาฟิก เมอร์ฮี ผู้อำนวยการกรมศุลกากรเลบานอนส่งหนังสือด่วนถึงทางการหลายครั้ง เพื่อหาวิธีจัดการกับสินค้าที่มีสารแอมโมเนียมไนเตรทที่เป็นวัตถุระเบิดอันตรายรวมอยู่ด้วย โดยแนะให้ส่งออกแอมโมเนียมไมเตรทเหล่านี้ให้ทางการทหาร หรือขายต่อให้กับบริษัทเอกชน แต่ไม่เคยได้รับการตอบกลับจากทางการ ส่งผลให้แอมโมเนียมไมเตรทไม่เคยถูกย้ายออกไปไหน และนำมาสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจำนวนหลายพันคนจึงออกมาชุมนุมกันที่บริเวณประตูทางเข้าของอาคารรัฐสภา เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุต ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นรายงานว่า ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าไปในอาคารของกระทรวงการต่างประเทศ และจุดไฟเผารูปประธานาธิบดีมิเชล อูน รวมถึงที่ตั้งของกระทรวงอีกหลายแห่ง ทำให้ตำรวจชุดปราบจลาจลต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง เพื่อควบคุมสถานการณ์ เบื้องต้นมีรายงานตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย 1 นาย และมีผู้บาดเจ็บ 117 คนในจุดเกิดเหตุ ส่วนอีก 55 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ฮัซซัน ดิยาบ ของเลบานอน ออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ ระบุว่า อาจจะจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดขึ้น เพื่อแสวงหาทางออกของปัญหา โดยจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี

ขณะที่ เทรซี ชามูน ( Tracy Chamoun) เอกอัคราชทูตเลบานอนประจำประเทศจอร์แดน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทนเห็นความเจ็บปวดของประชาชน ที่มีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่อของรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจลาออก

ทั้งนี้ เลบานอนเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เพิ่งจะมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ

ผู้ประท้วงเหตุระเบิดบอกว่า การระเบิดเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง สาเหตุจริง ๆ คือ เลบานอนจมปลักอยู่กับการคอร์รัปชันและการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลมานาน

จนในที่สุด 1 สัปดาหืต่อมา รัฐบาลเลบานอนประกาศลาออกทั้งคณะ โดย นายกรัฐมนตรี ฮัซซัน ดิยาบ ยอมรับว่าเหตุระเบิดท่าเรือกลางกรุงเบรุตเกี่ยวพันกับปัญหาคอร์รัปชัน

ขณะที่ ประธานาธิบดี มิเชล อูน ได้รับหนังสือลาออกแล้ว แต่ได้ขอร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่รักษาการไปจนกระทั่งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้สำเร็จ

ส่วนการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งยังยึดโยงกับกลุ่มการเมืองที่แบ่งฝักฝ่ายตามนิกายต่าง ๆ สำหรับ รัฐบาลของดิยาบเพิ่งเข้าบริหารประเทศในเดือนมกราคม  โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และแนวร่วม แต่ถูกมองว่าล้มเหลวในการทำตามสัญญาว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศครั้งใหญ่

เหตุระเบิดกรุงเบรุตนี้ หากพูดกันอย่างสั้น ๆ ก็คงบอกได้เพียงว่า “ถ้าการเมืองดี คงไม่มีระเบิดถูกเก็บอยู่ใกล้บ้านประชาชน”

รัฐบาลเลบานอนลาออกยกชุด เซ่นพิษระเบิดกลางเบรุต

ชาวเลบานอน ประท้วงรัฐบาล หลังเหตุระเบิดช็อกโลก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ