แนะวิธีกินเจ กินคลีน กินอย่างไรให้สุขภาพดี ต้านชรา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เทศกาลกินเจ กินอย่างไรให้ปลอดภัย ? พร้อมวิธีกินอาหารคลีนสุขภาพดี ต้านชรา กับ นักวิชาการด้านโภชนาการ รู้หรือไม่ "เต้าหู้" ไม่ใช่โปรตีนเยอะอย่างที่เข้าใจ

12-21 ต.ค.2558 เทศกาลกินเจปีนี้เริ่มขึ้นแล้วด้วยความคึกคัก ของประชาชนที่ร่วมกัน หยุดบริโภคเนื้อสัตว์ "ถือศีลกินเจ" แต่เพียงเริ่มต้นกลับพบว่านักวิชาการหลายสายต่างออกมาเตือนว่า กินเจใช่ว่าจะปลอดภัย และหากกินแต่ของเดิมซ้ำ ๆ ยังมีสิทธิ์เป็นอันตราย เช่น อาจมีการสะสมสารพิษเข้าร่างกาย หากอาหารที่ทานนั้นไม่สะอาดหรือมียาฆ่าแมลงปะปน หรือได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ซึ่งสารอาหารบางอย่างก็มีอยู่ในจำพวกสัตว์เท่านั้น หรืออาจทำให้เกิดอาการแพ้อาหาร ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

"ทีมข่าว PPTVHD" ได้สัมภาษณ์นักวิชาการด้านโภชนาการถึงการกินเจให้ปลอดภัยและไม่ใช่แค่กินเจ แต่ยังรวมถึงกิน "คลีน" (Clean Food) ที่กำลังเป็นกระแสฮิตวัยรุ่น-วัยทำงานไทยที่หันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

อาหารคลีนคืออะไร ?

ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่าอาหารคลีนหมายถึงอาหารที่ผ่านการปรุงก่อน หรือก็คืออาหารที่เน้นในเรื่องของความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนต่าง ๆ ดังนี้

1. การปนเปื้อนจากการที่ปรุงแต่งรสชาติลงไปในอาหาร คืออาหารควรมีความเป็นธรรมชาติ

2. วิธีการปรุงประกอบ โดยไม่ใช่นำส่วนประกอบไปทอดเสร็จแล้วเอาไปหมักและนำไปปรุงต่อ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ จะทำให้สารอาหารของเนื้อสัตว์ ผัก ไม่เป็นธรรมชาติ การที่เราปรุงประกอบหรือใส่สารต่าง ๆ ให้ต่างจากที่เป็นอยู่ อาหารพวกนี้จะไม่เป็นอาหารคลีน ยกตัวอย่างการกินคลีน เช่น ข้าว จะต้องกินเป็นข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ไม่ใช่ข้าวขัดสี หรือผักก็ต้องเน้นความสด อาจจะมีการผ่านความร้อนเล็กน้อย

3. ต้องเลือกจากวัตถุดิบที่สะอาด เช่น ผัก ผลไม้ ควรจะเลือกที่ปราศจากยาฆ่าแมลง เพราะฉะนั้นกลุ่มอาหารคลีนส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกกลุ่มพืชผักพื้นบ้าน สัตว์เลี้ยงตามบ้าน เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาจากโรงงานหรือปศุสัตว์ที่มีการใช้สารเคมี สารเร่งสี หรือสารปนเปื้อน

ทั้งนี้การปรุงประกอบควรจะผ่านความร้อนที่ไม่สูงมาก และใช้เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือบางอย่างมีรสชาติอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเติมเครื่องปรุงลงไป

อาหารคลีนให้ประโยชน์อย่างไร ?

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนป่วยกันจำนวนมากจากการที่เรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสูง ปนเปื้อนทั้งสารเคมี ปนเปื้อนทั้งในอาหารเอง เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีน้ำตาลสูง หรืออาหารที่มีความเค็มสูง ซึ่งหากเราทานอาหารที่คลีน ซึ่งเน้นในเรื่องของธรรมชาติ วิตามิน แร่ธาตุ และประโยชน์จากโปรตีนทั้งหลายจะยังอยู่ครบ ไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันหรือน้ำตาลมาก ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ได้สารอาหารที่ดีทั้งตัวต้านอนุมูลอิสระหรือสารอาหารที่ช่วยต้านความชรา จะทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้น โดยสามารถสังเกตได้ว่าอาหารคลีนส่วนใหญ่มักจะมาจากธัญพืช ทำมาจากผักและผลไม้เป็นส่วนใหญ่ พอทานเข้าไปจะได้กากใยอาหารเยอะ พอร่างกายได้รับกากใยเยอะ การขับถ่ายก็จะดี ระบบร่างกายก็สะสมพวกสารพิษต่าง ๆ น้อยลง ระบบของน้ำเหลืองและภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะดีขึ้น

"คลีน" เข้ามาเป็นกระแสได้อย่างไร ?

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า ปัจจุบันคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เป็นเรื่องของเทรนด์การรักสุขภาพ หลายคนต้องการมีรูปลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นคนสุขภาพดี ซึ่งพอสุขภาพดี ผิวพรรณก็สวยงาม สมองก็ดี การทำงานก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รูปร่างหน้าตาก็จะดูดีตามไปด้วย เพราฉะนั้นสังคมไทยจึงเกิดกระแสนี้ขึ้นมา แล้วหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาครัฐและเอกชน ต่างหันมาส่งเสริมให้คนหันมารับประทานอาหารที่ดีขึ้น ออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อที่จะลดโรคที่เกิดกับคนในสังคม เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น

อาหารคลีนในช่วงเทศกาลกินเจ ลักษณะแบบไหนที่ควรทาน ?

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ ผักและผลไม้จะเน้นอยู่แล้วสำหรับคนทานอาหารคลีน แต่ในช่วงเทศกาลกินเจ บางทีผู้ประกอบการบางรายอาจจะทำไม่สะอาด หากไม่ได้ทำอาหารทานเอง ผู้ซื้อต้องดูในเรื่องของความสะอาด โดยในแต่ละมื้อ อาจจะมีผักต้มบ้าง แกงจืดบ้าง หรือ ใน 1 วัน ทานได้เลยผัดผัก แต่ไม่ควรทานทุกมื้อ ใน 1 วันอาจจะทาน 2 มื้อได้ แต่ไม่ควรที่จะมีผัดผัก 2 จานในแต่ละมื้อ เพราะการประกอบอาหารด้วยวิธีผัดบางครั้งน้ำมันค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือในช่วงที่รับประทานเจ อาจจะทำให้ร่างกายรู้สึกไม่ค่อยมีแรง เนื่องจากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีนที่มาจากพืข จะมีกรดอะมิโน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อร่างกายไม่เพียงพอ

"หลักการสำคัญถ้าอยากได้รับโปรตีนที่ครบส่วน คือ ต้องทานถั่วกับข้าวควบคู่กัน เพราะว่าถั่วจะให้เมทไธโอนีน (Methionine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยในการย่อยสลายไขมัน และข้าวจะให้ไลซีน (Lysine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต การซ่อมแซมเนื้อเยื่อ การสร้างภูมิต้านทาน ฮอร์โมน รวมถึงเอนไซม์ต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้เมื่อเราทานถั่วกับข้าวรวมกันในมื้อหนึ่ง เราก็จะได้รับโปรตีนที่เพียงพอ" ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าว

นอกจากนี้ ข้าวที่รับประทาน ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า ไม่ควรเป็นข้าวขาวหรือข้าวขัดสี เพราะใยอาหารน้อยลง ถึงแม้จะทานผักเยอะ แต่บางครั้งจะรู้สึกไม่อิ่ม เพราะว่าปริมาณของโปรตีนไม่เพียงพอ ให้เน้นข้าวที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสินเหล็ก จะทำให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น และวิตามินต่าง ๆ ที่มากขึ้น ส่วนในเรื่องของผลไม้ ผลไม้บางอย่าง แม้ประโยชน์จะอยู่ที่เปลือก แต่แนะนำให้ปอกเปลือก เพราะช่วงเทศกาลกินเจบางทีจะมียาฆ่าแมลงปะปนมาก แต่ถ้าล้างสะอาดได้แนะนำให้ล้างสะอาด เพราะเปลือกจะมีประโยชน์สูง และสุดท้ายคือดื่มน้ำให้มากในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งหากลืมดื่มน้ำ จะทำให้ใยอาหารเกาะตัวในร่างกายมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้ไม่สบายท้อง

ทานอาหารเจซ้ำ ๆ อันตรายไหม ?

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า การทานอาหารเจซ้ำ ๆ เช่น เราชอบทานเต้าหู้ทอดร้านนี้ เราก็จะซื้อเต้าหู้ทอดจากร้านนี้ทานทุกวัน หากคนขายใส่วัตถุดิบอะไรลงไป ร่างกายเราก็จะสะสมวัตถุดิบชนิดนั้น ซึ่งปกติกลไกร่างกายของมนุษย์สามารถขับของเสียออกได้ แต่ถ้าเรารับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำทุกวัน จะทำให้เกิดการสะสมสารพิษ และเกิดโรคได้

อย่างไรก็ตาม การกินเจ ถ้ากินให้ถูกต้องจะดีต่อสุขภาพ แต่ทั้งนี้ก็ควรระวัง เพราะอาหารเจที่ขายกันส่วนใหญ่ บางอย่างเป็นแป้ง อย่างพะโล้ก็จะเป็นเต้าหู้ทอด ซึ่งบางคนจะมองว่าเต้าหู้ให้โปรตีน แต่ความจริงแล้วเต้าหู้ให้โปรตีนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นแป้งและน้ำมัน

อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและควรหลีกเลี่ยงในช่วงเทศกาลกินเจ

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจจะเห็นได้ว่าอาหารจะออกมาในรูปของทอดมาก แนะนำว่าหากจะทานของทอด ก็ไม่ควรทานควบคู่กับผัดผัก หรืออะไรก็ตามที่มีน้ำมันสูง เพราะบางครั้งน้ำมันที่คนขายใช้ทอดอาจเป็นน้ำมันที่ทอดซ้ำ ซึ่งจะมีสารที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งต่อร่างกายได้

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวต่อว่า พวกกลุ่มดองเค็มก็ควรระวัง เพราะผักดองบางชนิดก็เอามาทำเป็นแกงหรือผัด ความเค็มนั้นจะสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเกิดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือทำงานในห้องแอร์ อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว ปวดหัว และหน้ามึดได้ เพราะบางทีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทั้งนี้การกินเจจะทำให้รู้สึกหิวบ่อย สิ่งที่ควรงดคือพวกขนมหวาน น้ำอัดลม หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง และอาหารแช่อิ่ม

"ไม่ใช่ว่าอาหารเจทุกอย่างดีต่อสุขภาพ แต่อยู่ที่เราเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ไม่ใช่ทุกคนบอกว่ารับประทานอาหารเจจะสุขภาพดีขึ้น น้ำหนักลด หากทานไม่ถูกหลักจะเป็นการทำบายสุขภาพ" ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าว

ผศ.ดร.ฉัตรภา ยังกล่าวอีกว่า ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติในระยะยาวคือการขาดสารอาหารบางชนิด แนวโน้มของปัญหาทางโภชนาการที่เกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติ ได้แก่ การขาดสารอาหาร ประเภทโปรตีน เหล็ก สังกะสี แคลเซียม วิตามินบี 12 วิตามินดี วิตามินเอ ไอโอดีนและกรดไขมันโอเมก้า ซึ่งจะมีแหล่งที่มาจากเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติมีสุขภาพที่ดีได้คือการแนะนำให้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักของโภชนาการเพื่อให้ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งป้องกันปัญหาการขาดสารอาหารได้

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ