ย้ำอีกครั้ง.. หม่ำปิ้ง-ย่าง บ่อยระวังมะเร็งถามหา !!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างอาหารยอดนิยม หากกินบ่อยติดต่อกันเป็นเวลานานๆ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้อ้วนและน้ำหนักเกินมาตรฐานแล้ว อีกหนึ่งอันตรายที่แฝงมากับความอร่อย คือความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะการกินอาหารปิ้งย่างหรืออาหารรมควันเป็นประจำ จะทำให้ได้รับสารอันตราย 3 ชนิด คือ



"สารไนโตรซามีน" (nitrosamines) ที่พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และอาหารที่ใส่สารไนเตรต ซึ่งเป็นสารกันบูด เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น

"สารพัยโรลัยเซต" (Pyrolysates) พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร ปิ้ง ย่าง

"สารพีเอเอช" หรือ "สารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน" (Polycyclic aromatic hydrocarbon) เป็นสารเริ่มต้นของสารกลายพันธุ์ (Premutagen) และสารเริ่มต้นของสารก่อมะเร็ง (Precarcinogen) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่ควันไฟไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม


นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า "สารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้ เกิดขึ้นขณะการปิ้งย่างอาหาร เพราะไขมันหรือน้ำมันจะหยดลงบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ และก่อให้เกิดสารพีเอเอช ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร และพบในปริมาณมาก ถ้าปิ้ง ย่างจนไหม้เกรียม หากรับประทานเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ สถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่าในปี 2553 มีผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย 23,410 ราย และเสียชีวิต 20,334 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 55 คนต่อวัน หรือ 2 คนต่อชั่วโมง"


แต่สำหรับใครที่อดใจไม่ไหว ชื่นชอบในการกินปิ้งย่างเป็นชีวิตจิตใจ อธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า "ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หรือตัดส่วนที่เป็นมันออก เพื่อลดปริมาณไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่านขณะปิ้งย่าง อาจใช้ใบตองห่ออาหารสามารถช่วยลดไขมันหยดได้เช่นเดียวกัน แถมได้อาหารที่มีกลิ่นหอมใบตองด้วย ส่วนกรณีใช้เตาถ่านธรรมดาควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็งแทน เพราะการเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เมื่ออาหารสุกแล้วพบว่ามีส่วนที่ไหม้เกรียม ห้ามรับประทานให้ตัดทิ้งทันที"


นอกจากอันตรายจากสารพิษพิษแล้ว ในน้ำจิ้มหลากรสก็พบว่าหากเก็บรักษาไม่ดี หรือล้างวัตถุดิบไม่สะอาดก่อนปรุงรส อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องร่วงได้ด้วย ดังนั้น หลังจากปรุงน้ำจิ้มเสร็จ แล้วแต่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย ร้านค้าควรเก็บไว้ในที่ตู้เย็นหรือตู้แช่ ที่มีอุณหภูมิประมาณ 5-10 องศาเซลเซียส โดยนำออกมาใช้ในปริมาณที่พอเหมาะต่อวัน และควรใช้ภาชนะสะอาดในการตักแบ่งน้ำจิ้ม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค ที่สำคัญควรล้างพริก รากผักชี และกระเทียมให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารปิ้งย่าง ได้อย่างสะอาดปลอดภัยไร้กังวล..



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ