กรมสุขภาพจิต หวั่นเดือน มี.ค. อัตราฆ่าตัวตายพุ่ง !?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชี้เดือน มี.ค. ของทุกปี ค่าเฉลี่ยแนวโน้มการฆ่าตัวตายพุ่งสูง แนะครอบครัว-ชุมชน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

 

ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 8 แสนราย/ปี เฉลี่ย 11.69 ราย/ประชากรแสนคน ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ชี้ว่าภายในปี 2563 อัตราจากฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านราย โดยปัจจุบันประเทศที่มีอุบัติการณ์สูงสุดอันดับหนึ่ง คือ ประเทศกายอานา อัตราการฆ่าตัวตาย 44.2 ราย/ประชากรแสนคน รองลงมาคือเกาหลีใต้ 28.9 ราย/ประชากรแสนคน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 4,000 ราย หรือกว่า 300 รายต่อเดือน อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ราย/ประชากรแสนคน อยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก ตัวเลขข้างต้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมสุขภาพจิต กับทีมวิชาการจาก รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ระหว่างปี 2557 - 2558 พบว่า ในช่วงเดือน มี.ค. ของทุกปี อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างกรณีฆ่าตัวตายสำเร็จ ใน 14 จังหวัด ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง พบเป็นเพศชาย ร้อยละ 77 และเพศหญิง ร้อยละ 23 ส่วนใหญ่อายุ 30-50 ปี

ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่ากลุ่มอาชีพที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานถึง ร้อยละ 70 โดยใช้วิธีแขวนคอมากที่สุด ร้อยละ 70 รองลงมา คือ กินสารเคมีฆ่าแมลง ร้อยละ 20 และใช้อาวุธปืนประมาณ ร้อยละ 10 สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญนั้น นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาความสัมพันธ์ แบ่งเป็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ร้อยละ 47 และความรัก ร้อยละ 22 และปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วย  ได้แก่ ติดสุราเรื้อรัง ร้อยละ 15  ป่วยเป็นโรคจิต ร้อยละ 26 และเป็นโรคซึมเศร้า ร้อยละ 9

ในส่วนของมาตรการและแนวทางป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต ย้ำว่า จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะครอบครัว ชุมชน และสังคม ต้องร่วมกันดูแลอย่างใกล้ชิด หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสุรา ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีลักษณะซึมเศร้า และผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน โดยไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพัง พร้อมกับรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจ เตือนสติ และให้กำลังใจต่อกัน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ