แพทย์เตือน ! วัยทำงาน เสี่ยงเป็น “ข้อเข่าเสื่อม”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัจจุบันอาการปวดเข่า อาจจะไม่ได้เกิดกับวัยผู้สูงอายุอย่างเดียวแล้ว แต่วัยทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนี้ได้ไม่น้อย  ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพราะหากมีอาการมากขึ้น จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้การทำงานและคุณภาพชีวิตแย่ลง

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการพบปัญหาโรคกระดูก และข้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมหรือสึกหรอของข้อต่างๆ ในการใช้ร่างกาย ในการทำงานมานาน โดยภาวะข้อเสื่อมสภาพร่างกายนั้นจะเกิดกับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น

               
“โรคข้อเสื่อม” เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดข้อที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป บางรายพบตั้งแต่อายุ 30 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมีอาการปวดรุนแรงมากกว่า ในจำนวนนี้พบว่าเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อมและอักเสบถึงร้อยละ 28.34 เนื่องจากเป็นข้อที่รับนํ้าหนักและใช้งานมาก  มีการเสื่อมสภาพของกระดูกข้อเข่า  กระดูกอ่อน หมอนรองข้อเข่า เอ็นรอบๆ ข้อเข่า เยื่อบุข้อเข่า น้ำไขข้อน้อยลง  เกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายสาเหตุ เช่น เสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ ติดเชื้อ โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ และเกิดจากการทำงานที่ออกแรงใช้เข่ามาก  มีการกระแทก หรืองอเข่าบ่อยๆ เช่น ต้องขึ้นบันไดแบกของหนัก เดินไกลๆ หรือลุกนั่งบ่อยๆ

นอกจากนี้ผู้ที่มี “น้ำหนักตัวมาก” จะเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีอายุต่ำกว่า 45 ปี

 

สำหรับ อาการข้อเข่าเสื่อมมักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการปวดจะสัมพันธ์กับงานที่ทำ เมื่อพักการใช้งานเข่าและอยู่ในท่าที่สบายมักจะไม่มีอาการปวดเข่า อาจมีอาการเข่าติด มีความรู้สึกว่าข้อขรุขระเวลาขยับข้อเข่า หากอาการปวดเข่านั้นเป็นมากแม้จะอยู่เฉยๆ รวมทั้งมีอาการปวดบวมแดงร้อน มีไข้ หรือมีอาการปวดตอนกลางคืนมากจะไม่ใช่ข้อเข่าเสื่อมจากการทำงาน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพราะหากมีอาการมากขึ้น จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้การทำงานและคุณภาพชีวิตแย่ลง รวมทั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อยาแก้ปวดหรืออุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น และเสียเวลาเดินทางไปรักษา

 การรักษาข้อเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ได้แก่ การลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  เช่น  การพักการใช้งานข้อเข่า การลดปวดด้วยการประคบร้อนหรือเย็น  การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน  หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง ได้แก่ การเดินขึ้นลงบันได  นั่งพับเพียบ  นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ เป็นเวลานานๆ  การออกกำลังกายและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ด้วยการเดินช้าๆ การออกกำลังกายในน้ำ

 

ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังชนิดที่มีแรงกระทำต่อข้อมากๆ คือ การวิ่ง การกระโดดเชือก หรือการเต้นแอโรบิกที่มีการกระโดด การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เช่น การใช้ไม้เท้าหรือร่ม เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อ การรักษาด้วยการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่อาการ ไม่ทุเลาจากการรักษาแบบประคับประคองข้างต้น ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นสามารถลดอาการปวดได้มาก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีอาการข้อเข่าเสื่อมมากและไม่ได้ทำงานหนัก ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและทำงานหนัก เนื่องจากข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานจำกัดและไม่สามารถทนต่อการทำงานหนักๆ ได้

 

หากใครที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมจากการทำงาน ควรจะต้องมีความเข้าใจในตัวโรคให้มากขึ้น ควรลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งอาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ ควรดูแลตัวเอง และควรพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ