"สิงห์อมควัน – นักดื่ม" พึงระวัง แพทย์เตือน เสี่ยงมะเร็งช่องปาก กว่าคนปกติ 15 เท่า !!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการแพทย์เผยข้อมูลพบเพศชายป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปากมากกว่าเพศหญิง สาเหตุมาจากพฤติกรรมการดื่มเแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ มีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนปกติ 15 เท่า

จากสถิติปี พ.ศ.2554 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จำนวน 112,392 คน เป็นเพศชาย 54,586 คน เพศหญิงพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 57,806 คน โดยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542
 

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดีมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักและมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ นอกจากนี้ยังสามารถพบมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณในช่องปากที่พบได้บ่อยขึ้น ซึ่งมะเร็งชนิดนี้มักเกิดบริเวณ ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นปากใต้ลิ้น ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิลและส่วนบนของลำคอมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีการดื่มเหล้า สูบบุหรี่

อาการของโรค คือ มีแผลในช่องปาก รักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป มีฝ้าขาวในช่องปาก ร่วมกับตุ่มนูนบนเยื่อบุช่องปากและลิ้น มีก้อนไม่รู้สึกเจ็บในช่องปาก โตเร็วและแตกเป็นแผล หรือมีก้อนที่คอกดไม่เจ็บ บวมโตขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งแตกออกเป็นแผล ซึ่งระยะเริ่มแรกของมะเร็งช่องปากมักไม่มีอาการเจ็บปวด นอกจากมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย แต่มะเร็งของลิ้นหรือลำคอในบางตำแหน่งอาจทำให้เกิดการเจ็บในหูขณะกลืนอาหารได้เพราะมีเส้นประสาทร่วมกัน สำหรับมะเร็งของลิ้นและพื้นปากใต้ลิ้นอาจทำให้มีอาการแลบลิ้นไม่ออก พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก ในรายที่เป็นบริเวณใต้ขากรรไกร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ที่เหงือกในตำแหน่งหลังฟันกรามซึ่งลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อที่ใช้ในการอ้าปาก จะทำให้อ้าปากลำบาก ซึ่งหากมีความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการประเมินขั้นความรุนแรงของโรคและทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติตรวจร่างกาย เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์และการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา หากพบว่ามีก้อนมะเร็งในช่องปากแพทย์จะทำการรักษาโดยการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด เป็นต้น

 

ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และดื่มสุราถึง 15 เท่า จากสถิติพบผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากร้อยละ 90 เป็นผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา เพราะควันบุหรี่และแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการระคายเคืองโดยเนื้อเยื่อที่มักมีผลกระทบจากความร้อน เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดาน และลำคอ เมื่อถูกระคายเคืองเป็นประจำ ทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ  บอกต่อว่า ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ เช่นเดียวกับการดื่มสุราที่ยิ่งดื่มมากโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้พบว่าแสงแดดมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งที่ริมฝีปาก รวมทั้งผู้ที่แปรงฟันไม่สะอาด ฟันผุเรื้อรัง ฟันแตก บิ่น ขอบฟันที่คมจะบาดเนื้อเยื่อในช่องปากทำให้เกิดแผลเรื้อรังอยู่นานๆ แผลนั้นอาจกลายเป็นมะเร็งได้เช่นกัน

“การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค คือรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพช่องปากโดยแปรงฟันให้สะอาด อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ควรบ้วนปากหลังกินอาหารทุกครั้ง ควรใช้ฟันทุกซี่เคี้ยวอาหารเพื่อให้เหงือกและฟันแข็งแรง งดเหล้า บุหรี่ หมากพลู หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้” นพ.วีรวุฒิ แนะนำ

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ