หญิงญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หญิงแดนปลาดิบเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะหลังโดนแมวกัด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิด เผยว่า หญิงชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสซึ่งมีเห็บเป็นพาหะหลังโดนแมวกัด มีอายุประมาณ 50 ปี เหตุเกิดจากหญิงคนดังกล่าวช่วยแมวจรจัดที่กำลังป่วยและถูกกัด จากนั้น 10 วัน หญิงคนนี้ก็เสียชีวิตด้วยโรค SFTS (Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome) หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำและมีไข้สูง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ

อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่พบรอยเห็บกัดบนร่างของหญิงคนดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่าเธอน่าจะได้รับเชื้อจากแมวที่ป่วย  ซึ่งอาจถือเป็นกรณีแรกที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ถ่ายทอดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่มนุษย์

โรค SFTS นี้ เป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่พบในประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความเสี่ยงจะสูงขึ้นในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีรายงานพบโรค SFTS ครั้งแรกเมื่อปี 2013 และเคยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาแล้วจากการถูกเห็บกัด  อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นย้ำว่า กรณีการเสียชีวิตล่าสุดนี้ยังเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็เตือนให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังเมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ที่กำลังป่วย

โดยทั่วไป โรคติดต่อจากเห็บที่พบได้บ่อยทั่วโลกคือโรคไลม์ (Lyme) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  ผู้ติดเชื้อจะมีผื่นขึ้น หากไม่ได้รักษาจะมีอาการที่ข้อต่อหัวใจ และระบบประสาทส่วนกลาง รักษาให้หายขาดไดด้วยยาปฏิชีวนะ

ส่วนในประเทศไทย ไม่เคยมีการพบโรค SFTS ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บอกกับทีมข่าวพีพีทีวี  โอกาสที่จะพบโรค SFTS ในบ้านเรานั้นยากมาก  เนื่องจากโรคนี้พบเพียง 3 ประเทศ ขณะที่เห็บก็มักจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นชนบทของประเทศนั้น  หากโรคนี้จะเข้ามาได้ก็คือต้องมากับสัตว์ที่นำเข้าเท่านั้น

อาจารย์รุ่งโรจน์บอกอีกว่า โรค SFTS นี้ สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือเมือก ได้ และเคยมีรายงานการติดต่อระหว่างคนด้วยกันมาแล้ว คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ แนะนำว่า สำหรับบ้านเรา ควรเป็นห่วงโรคอื่นๆ มากกว่า ซึ่งก็คือโรคพิษสุนัขบ้า  หากพบแมวหรือสัตว์จรจัดแล้วต้องการช่วยเหลือ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยการสวมถุงมือ หรือใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่อุ้ม เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ