วารสารการแพทย์ The Lancet เผยแพร่งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ระบุว่า จำนวนเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคอ้วนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความ เด็กชายและหญิงกว่า 124 ล้านคนทั่วโลกมีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งภาวะโรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในกว่ากว่า 200 ประเทศทั่วโลก ในสหราชอาณาจักร มีเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 19 ปี ป่วยเป็นโรคอ้วน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ซึ่งเด็กที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน และเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น เบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตัน มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยจากองค์กรไม่หวังผลกำไร World Obesity Federation เตือนว่า ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ทั่วโลกจะต้องใช้งบประมาณในการรักษาโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุจากโรคอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้านล้านบาทต่อปี โดยนักวิจัยเชื่อว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน มาจากกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตอาหารและขนมต่างๆ และการเข้าถึงอาหารที่ทำให้อ้วน
ทั้งนี้ จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ภูมิภาคที่เด็กและเยาวชนป่วยเป็นโรคอ้วนเพิ่มจำนวนขึ้นมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ขณะที่โปลินีเซีย (Polynesia) และ ไมโครนีเซีย (Micronesia) หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีจำนวนเยาวชนที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมากที่สุด โดยครึ่งหนึ่งเป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
ภาพ : AFP