สาธารณสุข เตือนคนติดสมาร์ทโฟน ระวังเป็น “โรคโนโมโฟเบีย”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัจจุบันอุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ทุกคนต้องมี บางคนก็ไม่อาจขาดสมาร์ทโฟนได้ แต่จะมีกี่คนที่ทราบว่า การเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไปอาจจะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ ด้านกระทรวงสาธารณสุข เตือนว่าคนที่เล่นโทรศัพท์มากเกินไป อาจจะเข้าข่ายเป็น โรคโนโมโฟเบีย หรือ โรคขาดมือถือไม่ได้

วันนี้ (2 เม.ย.61) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันโทรศัพท์สมาร์ทโฟน กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร แต่บางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก และคลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์แบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ

ทั้งนี้ อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม รวมถึงสุขภาพร่างกาย เช่น นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน อาการทางสายตา ที่เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็ก ๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผล เลือดไหลเวียนไม่สะดวก นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงการโรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่น ๆ ได้

ขณะที่ด้าน พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน แพทย์ประจำสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ หรือ โรงพยาบาลเด็ก ระบุว่า อาการของคนที่ติดโทรศัพท์สมาร์ทโฟน  หรือ เรียกว่า โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงายวิจัย บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์ ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 ปี รองลงมาคือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 25–34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป ปัจจุบัน ยังไม่ถึงขั้นกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวชแต่อย่างใด

สำหรับการแก้ไขนั้นหรือป้องกันนั้น จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน เช่น กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน ไม่เล่นสมาร์ทโฟนขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬา กิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด ก็จะช่วยลดอาการติดสมาร์ทโฟนลงได้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ