เปิดขวด “น้ำยาบ้วนปาก” หมอเตือนอย่าใช้บ่อยเสี่ยงเชื้อราเพิ่มขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือน อย่าหลงเชื่อโฆษณาน้ำยาบ้วนปาก ยืนยันไม่มีผลทางการแพทย์ ขจัดคราบหินปูน ทำให้ฟันขาวขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ได้ ย้ำอย่าใช้ทุกวัน

“ขจัดคราบหินปูน คราบพลัค คราบจุลินทรีย์ หินปูนหลุดออกได้ และทำให้ฟันขาวขึ้นภายใน 1 สัปดาห์” นี่คือคำโฆษณาน้ำยาบ้วนปากหลายยี่ห้อที่ได้ยินจนติดหูและหลายครั้งก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หลายคนจึงนิยมใช้น้ำยาบ้วนปากทุกวัน

แต่ดูเหมือนว่าจะต้องลบล้างความคิดเหล่านั้น เมื่อ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันว่า ไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ที่พิสูจน์ว่า น้ำยาบ้วนปากไม่สามารถกำจัดหินปูนให้หลุดออกมาได้ ดังนั้นอย่าหลงเชื่อคำชวนเชื่อเหล่านั้นเพราะไม่เป็นความจริง พร้อมกับแนะนำว่า การใช้น้ำยาบ้วนปากไม่ควรใช้เป็นกิจวัตรประจำวัน

แต่ให้ใช้เสริมการแปรงฟัน กรณีที่ทันตแพทย์แนะนำ เช่น สุขภาพช่องปากไม่ดี ปากเป็นแผล เป็นโรคเหงือก มีการผ่าตัดเหงือก หรือคนที่มีแนวโน้มฟันผุง่าย

ถ้าสุขภาพช่องปากเป็นปกติไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เชื้อราในช่องปากเพิ่มขึ้นและเสียสมดุลในช่องปาก เนื่องจากในน้ำยาบ้วนปากมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค

โดยข้อมูลจาก กรมอนามัย สำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลของน้ำยาบ้วนปาก 1 ขวด ว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ 1.น้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันกานพลู ที่ช่วยกลบกลิ่นปากได้ 2-3 ชั่วโมง หลังใช้ แต่กลิ่นหอมจะอยู่ได้ประมาณ 20 นาทีก็จะจางไป และมักจะผสมแอลกฮออล์เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยออกฤทธิ์ได้ดีทำให้เกิดภาวะแสบร้อนไม่พึ่งประสงค์

2.สารลดอาการเสียวฟัน จะใช้สาร Potassium Nitrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญร่วมกับการใช้สารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

3.ฟลูออไรด์ ป้องกันฟันผุได้จริงแต่ต้อง “อมหรือกลั้วในปากนานอย่างน้อย 1 นาที” และไม่บ้วนน้ำตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่ควรดื่มน้ำหรือกินอาหารหลังบ้วนปาก 30 นาที แต่ถ้ารับฟลูออไรด์อาจเกิดปัญหาฟันตกกระได้

4.สารลดคราบหินปูน นิยมใช้สาร Zinc Chloride , Zinc Lactate , Zinc Citrate ก็จะลดคราบหินปูน คราบต่างๆ จนดูเหมือนว่าฟันขาวขึ้น

5.สารฆ่าเชื่อจุลินทรีย์ นิยมใส่เซธิลไพริดิเนียม คลอไรด์ โดยเฉพาะน้ำยาบ้วนปากสูตรไร้แอลกฮออล์ เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อแทนการใช้กลุ่มน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หากไม่ใช้แอลกฮออล์แต่ให้รสชาติติดปาก จึงใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อช่วยปรับรสชาติ

อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย  แนะนำว่า ควรแก้ที่สาเหตุของกลิ่นปากโดยตรง เช่น มีฟันผุ เป็นโรคเหงือกอักเสบ เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ทอนซิลอักเสบ หรือไซนัส ให้รับการรักษาอย่างตรงจุดและดูแลอนามัยในช่องปาก

แปรงฟันให้สะอาดทุกวัน เพิ่มการทำความสะอาดลิ้น เนื่องจากฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก ควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน

เพราะการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราว ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นประสิทธิภาพจะลดลง จึงควรใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นครั้งคราวในกรณีที่ต้องการความมั่นใจ หากใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข

กรมอนามัย สำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ