จิตแพทย์ ชี้เด็กอาจมีพฤติกรรมรุนแรงหากเสพสื่อมาก-พ่อแม่ไม่ควบคุม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเรื่องราวที่ทำให้คนในสังคมได้ฉุกคิดถึงปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กอย่างต่อเนื่อง ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ และการลอกเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวจากการดูสื่อต่างๆ ซึ่งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุ เกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งการเลี้ยงดูของครอบครัว สภาพแวดล้อมที่โรงเรียน และจากการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต และการดูโทรทัศน์ ที่อาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยขาดการดูแลและแนะนำจากผู้ปกครอง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 โลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ วัย 6 ปี ถูกเด็กชาย อายุ 6, 8 และ 11 ปี ร่วมกันล่วงละเมิดทางเพศ เด็กหญิงที่ริมสระน้ำในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยผู้ปกครองของเด็กหญิงได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.กระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมระบุว่าเด็กหญิงวัย 6 ปี ถูกข่มขืนกระทำชำเราและจ้างกดน้ำเพื่อฆ่าหวังปิดปาก แต่ยายของเหยื่อไปพบจึงเข้าไปช่วยหลานไว้ได้ทัน และได้ส่งหลานไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ รวมทั้งรอผลการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียดว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่

โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (28 พ.ค.61) นางสาวกุลจิรา โฉมไสว หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จากการสอบปากคำเด็ก ยืนยันว่าเหตุการณ์ไม่ได้ร้ายแรงตามที่สื่อบางสำนักนำเสนอไปก่อนหน้านี้ เบื้องต้น ไม่มีการจ้างวานให้จับกดน้ำ แต่เป็นการหยอกล้อกันตามประสาเด็ก กรณีเด็กมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการพยายามล่วงละเมิดทางเพศ คาดว่าเด็กน่าจะเลียนแบบการ์ตูน ขณะที่ยายของเด็กหญิงซึ่งเห็นเหตุการณ์ก็เข้าใจผิดว่าเด็กชาย 3 คนรุมทำร้ายหลานสาว ส่วนของคดีเมื่อมีการแจ้งความแล้ว ตำรวจจะต้องรอผลตรวจร่างกายของเด็กหญิงจากแพทย์เพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะสอบสวนต่อไป ขณะนี้เด็กหญิงอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์

ขณะที่อีกหนึ่งเหตุการณ์ ครอบครัวของเด็กหญิงวัย 2 ขวบ เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรกบินทร์บุรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา พ่อของเด็กหญิงพบความผิดปกติหลังลูกสาวกลับจากเล่นกับลูกของเพื่อนบ้าน จึงพาไปตรวจร่างกาย พบมีร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ

ทั้งสองเหตุการณ์นับเป็นเรื่องราวสะเทือนใจต่อคนในสังคม ทั้งในส่วนของผู้ปกครองที่มีความกังวลในเรื่องการเลี้ยงดูบุตรหลานให้มีความปลอดภัย และป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น พญ.พัทธ์ธีรา ดิษยวรรณวัฒน์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า การเกิดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กที่เกิดขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จากสภาพแวดล้อมทั้งในครอบครัว และโรงเรียนมีส่วนสำคัญผู้ปกครองควรให้ความใกล้ชิดในการดูแลให้คำแนะนำ สั่งสอนเด็ก และการควบคุมพฤติกรรมเด็ก ว่าควบคุมอย่างไรไม่ให้เด็กใช้ความรุนแรง

สำหรับสื่อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กแต่ก็ต้องดูลักษณะของสื่อว่าเป็นอย่างไร ควรมีการกำหนดเรทการรับชม เพราะว่าสื่อบางสื่อก็ต้องดูว่าเด็กดูอะไรในสื่อนั้นจริงๆ เพราะว่าค่อนข้างมีความหลากหลาย ทำให้เด็กอาจจะมีโอกาสไปเห็นในสิ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมรุนแรงของเด็กเหมือนกัน

ในกรณีที่พ่อแม่ไม่มีเวลาในการดูแลเด็ก ก็อาจจะปล่อยเด็กไว้กับไอแพด หรือ ปล่อยให้เด็กเล่นอินเทอร์เน็ตในโทรัพท์มือถือ โดยไม่ได้เข้ามาดูแลและให้คำแนะนำในการดู และอาจจะไมได้ดูว่าเด็กดูอะไร ซึ่งเมื่อให้เด็กเล่น อินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไปเข้าถึงเว็บที่ไม่เหมาะสมได้ ถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาดูแลเด็ก เด็กก็อาจจะไม่ได้เข้าถึงสื่อพวกนี้ แต่สมัยนี้พ่อแม่ทิ้งเด็กไว้กับสื่อ ผ่านการใช้ไอแพด มือถือ ที่เข้าถึงเด็กได้ค่อนข้างง่าย ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กเล่นอินเทอร์เน็ตไม่ควรเกินวันละ 1ชั่วโมง และควรอยู่ในสายตาของพ่อแม่ ไม่ควรจะปล่อยเด็กไว้กับสื่อ เพราะว่ามีโอกาส ที่เขาจะเข้าไปดูอะไรที่ไม่เหมาะกับวัย

ทั้งนี้ จากข่าวที่ออกมา อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าสังคมไม่ค่อยปลอดภัย ที่จะให้เด็กไปอยู่กับคนอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วค่อนข้างจำเป็นกับพัฒนาการของเด็ก เพราะการที่เด็กออกไปพบปะกับคนอื่นๆ ทำให้เด็กสามารถเข้าสังคมกับคนอื่น ซึ่งการไปเล่นกับเพื่อนที่บ้านเพื่อนจริงๆมันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัย และการที่พ่อแม่รู้สึกว่ากังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย จนเกิดความกลัว กังวลไม่อยากให้เด็กออกไปสังคมกับคนอื่นๆ อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้ โดยพ่อแม่ควรให้เด็กมีพัฒนาการการทางสังคมได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองเพื่อความสบายใจ และความปลอดภัย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ