ส่อง สองตำนาน “วันสารทจีน” หรือ “วันไหว้ผี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปี 2566 วันสารทจีน ตรงกับวันที่ 30 ส.ค. ตามปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยซึ่งจะช้ากว่าปีปฏิทินทางจันทรคติของจีน และนอกจากเป็นวันที่จะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้

หากว่ากันถึงตำนานวันสารทจีน คงต้องบอกว่ามีด้วยกัน 2 ตำนาน ตำนานแรก ว่ากันว่า วันสารทจีนเป็นวันที่เซ็งฮีไต๋ตี๋ หรือ ยมบาล จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย เพื่อส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ซึ่งชาวจีนเกิดความสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ โดยในเดือนนี้ที่ประตูนรกเปิดวิญญาณร้ายจึงสามารถออกมารับกุศลผลบุญได้

ส่วนตำนานที่สอง เล่ากันว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับแม่ที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง

คอนเทนต์แนะนำ
วันสารทจีน แต่ละปีไม่เหมือนกัน แล้วนับอย่างไร ปีนี้ตรงกับวันที่เท่าไร
“สารทจีน 2566” ต้องใช้ธูปกี่ดอก จัดโต๊ะไหว้เจ้าที่-บรรพบุรุษ-วิญญาณเร่ร่อนอย่างไร

ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจ จึงใช้อุบายให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้าน ผู้กินเจศรัทธาในคำเชิญ จึงเดินทางมาจำนวนมากโดยหารู้ไม่ว่าในน้ำแกงเจมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นการก่อกรรมหนัก เมื่อแม่ของมู่เหลียนตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุด ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส

มู่เหลียนจึงถอดกายทิพย์ลงไปหาแม่ และเห็นว่าอดอยากจึงป้อนอาหารให้ แต่ถูกภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดรวมถึงเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของแม่จนพอง มู่เหลี่ยนจึงเข้าไปขอรับโทษกรรมแทนกับพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ท้าวมัจจุราช)

แต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน พร้อมกับมอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่างๆ โดยมู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยแม่ของเขาให้พ้นโทษได้

“นับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอด”

ซึ่งตามปีปฏิทินทางจันทรคติของไทย วันสารทจีนจะตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ขณะที่ปฏิทินทางจันทรคติของจีน จะตรงกับ วันที่ 15 เดือน 7 เรียกว่า วันเทศกาลจงเยวี๋ยน  หรือ วันเทศกาล Zhongyuan ซึ่งทุกครอบครัวจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้น บางครั้งชาวจีนจึงเรียกวันดังกล่าวว่า GuiJie กุ่ยเจี๋ย หรือ Wangren Jie หวางเหรินเจี๋ย โดย  Gui หมายถึง ผี ใช้เรียกคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว คล้ายๆกับ Wangren ซึ่งใช้เรียก คนที่ตายไปแล้วเช่นกัน ส่วน Jie ก็หมายถึง เทศกาล ดังนั้น

GuiJie หรือ Wangren Jie จึงแปลว่า เทศกาลเซ่นไหว้ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว”

สำหรับการเซ่นไหว้ สิ่งหลักๆ ที่นำมาเซ่นไหว้ คือ Shao zhiqian ฌาว จื่อเฉียน หรือ เผากระดาษเงินกระดาษทอง โดยจะต้องนำหินปูนมาขีดเป็นวงกลมซ้อนกัน 3-4 วงตรงลานบ้านที่จะใช้เผากระดาษ แล้วนำกระดาษเงินกระดาษทองวางไว้ให้อยู่ในวงกลมวงในสุดที่ขีดไว้ เพื่อกันไม่ให้ผีไร้ญาติมาแย่งชิงเอากระดาษเงินกระดาษทองไปได้ และขณะที่กำลังเผาต้องกล่าวเชิญบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปให้มารับเงินทองที่เผาไปให้ตลอดห้ามหยุด

ส่วนอาหารที่ใช้เซ่นไหว้จะมีอีก 4 อย่าง ที่นอกจาก หมู เป็ด ไก่ คือ ซาลาเปา , เกี๊ยวแบบเกี๊ยวจีน , หมานโถวหรือหมั่นโถว และผิงกว่อหรือแอปเปิล

ส่วนขนมจะใช้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย (ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี) ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล

เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่

หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา

มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง

กี  คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ

ข้อมูล http://www.jiewfudao.com

ภาพ เอเอฟพี

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ