จาก"กาแฟรถเข็น"แก้วละ 40 บาท ไม่มีคนซื้อ แต่..."วันนี้ร้านไกลแค่ไหนก็ต้องไปลอง"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คนไทยคนแรกที่รับการยอมรับ ในฐานะนักชิมกาแฟระดับโลก จนก้าวสู่การเป็นเจ้าของร้านกาแฟเท่ๆ อย่าง Pacamara COFFEE ทั้งสาขาในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แต่เส้นทางก่อนจะก้าวมาถึงจุดนี้มีทั้งขม ทั้งหอม ในแบบของ "ซาน ชาตรี ตรีเลิศกุล แห่ง Pacamara"

บ้านเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ตัดสินใจท่องโลกและได้รู้จัก “กาแฟคั่วบด”

18 ปีก่อนครอบครัวเจอพิษวิกฤตเศรษฐกิจ มีหนี้สิน จึงมีแนวคิดว่าอยากทำธุรกิจเพื่อช่วยครอบครัว และด้วยนิสัยรักการอ่านหนังสือ จึงศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ แต่สิ่งที่หนังสือเหล่านั้นไม่ได้บอกไว้ คือ ระหว่างทางกว่าจะประสบความสำเร็จพวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เป็นจุดตรงกลางของเส้นทาง เหมือนเป็นสูตรลับให้แต่ละคนต้องออกไปค้นหาตัวเอง เขาจึงตัดสินใจแบ็คแพคออกเดินทางท่องโลก

และหนึ่งในเส้นทางที่เขาท่องไป คือ การเยือนยุโรปครั้งแรก ที่นั่นทำให้เขาได้พบกับ “โลกของกาแฟคั่วบด” อันมีลักษณะโดดเด่นด้วยบาร์กาแฟเอสเปรสโซ่ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสเหมือนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เพียงแต่กาแฟที่นี่ คือ “สโลว์ ฟู้ด” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ใช่คอกาแฟ แถมไม่ชอบกลิ่นกาแฟด้วยซ้ำ 

"ไม่ใช่เลยจริงๆ ไม่ชอบกาแฟ ไม่ชอบกลิ่นกาแฟ ผมไม่ชอบกลิ่นกาแฟสำเร็จรูป จนกระทั้งได้ไปร้านกาแฟคั่วบดที่ต่างประเทศ ก็สงสัยทำไมกาแฟมีกลิ่นไม่เหมือนกับที่เราได้ชิม ได้สัมผัสมาก่อน ก็รู้สึกมันต้องมีอะไรมากกว่านั้น"

เขาจึงเริ่มสนใจลึกลงไปถึงกระบวนการขั้นตอน ประกอบช่วงนั้นตลาดเมืองไทยเปิดรับกาแฟ   แบรนด์ต่างประเทศมากขึ้น จึงตัดสินใจกลับมาลงสนามร้านกาแฟครั้งแรก

“กาแฟแก้วแรก” เกิดขึ้นในครัวหลังบ้านก่อนลงสนามจริงตั้งรถเข็นตลาดนัด

ความตั้งใจนำกาแฟคั่วสดมาลองตลาดเมืองไทย แต่ยังไม่มีทุนที่จะไปซื้อแฟรนไชส์เจ้าดัง จึงเริ่มศึกษาวิธีการทำด้วยตนเอง เปิดพื้นที่ครัวหลังบ้านซื้อเครื่องทำกาแฟมาทดลองชงเอง พร้อมตั้งโจทย์ว่า “ชงกาแฟอย่างไรให้อร่อย จะทำให้เป็นเครื่องดื่มพิเศษแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร” ฝึกฝนจนเริ่มมั่นใจในฝีมือ จึงตัดสินใจใช้รถเข็นเล็กๆ ไปขายตามตลาดนัด มุมตึก โถงตึก หน่วยงานเอกชนห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีตั้งแต่ 3 วันแรก

และลูกค้าเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น จึงเริ่มมีหน้าร้านเป็นครั้งแรกในพื้นที่ของสำนักงานแห่งหนึ่งบนถนนวิภาวดี แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ เพราะลูกค้ายังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องซื้อกาแฟราคาแก้วละ 40 50 บาท ซึ่งแพงกว่าข้าว 1 จาน

จึงหาข้อมูลศึกษากด้านการตลาดมากขึ้น ทำให้พบกับจุดที่ต้องแก้ไขอีกมาก อุดมการณ์การชงกาแฟอย่างเดียวไม่อาจทำได้ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องการตลาด เช่น ทำเลของร้าน กลุ่มลูกค้า ช่วงเวลาการดื่มกาแฟ ทุกอย่างล้วนมีผลต่อยอดขาย จึงทำให้เห็นความจริงว่า ที่ผ่านมาเป็นเพียงผู้ชงกาแฟจากผลิตภัณฑ์ของคนอื่นไม่ได้ศึกษาไปถึงขั้นตอนการคั่วกาแฟ ส่งผลทำให้ไม่สามารถเข้าใจรสชาติของกาแฟอย่างแท้จริง ในตอนนั้นเขาเริ่มถอดใจจนต้องกลับมาถามตัวเองว่า จะไปต่อหรือหยุดแล้วเบนเข็มไปทำอย่างอื่นแทน

“แทนที่เราจะใช้ประสาทสัมผัสคือลิ้นของเราตัดสินรสชาติอันไหนดีไม่ดี เรากลับใช้หูฟังคนนู้น คนนี้ ซึ่งเขาต้องบอกว่าของเขาดีที่สุด ก็รู้สึกว่าเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

สุดท้ายเขาตัดสินใจเดินไปต่อกับกาแฟโดยเริ่มจากการเรียนชิมกาแฟกับผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียซึ่งกว่าจะได้โอกาสนั้นต้องใช้ลูกตื้ออยู่หลายวัน

“แรกๆ เขาไม่รับโทรศัพท์ผมเลยให้คนอื่นรับแทน ผมก็โทรไปตื้อในช่วงเวลาเดิมทุกวัน คือ ประมาณ 20:00 น. จนหนึ่งสัปดาห์ถึงยอม จนมารู้ที่หลังว่า “คนนี้คือใคร ทำไมโทรมาทุกวัน คงอยากเรียนรู้จริงๆ ถึงโทรมาทุกวัน”

ซึ่งการฝึกครั้งนั้นเขาต้องชิมกาแฟวันละเป็นร้อยแก้ว เพื่อให้จำรสชาติได้ ใช้ประสาทสัมผัสเป็นตัวจำแนกรสชาติ ดมกลิ่นแล้วก็คิดว่าเป็นกลิ่นอะไร รู้สึกเปรี้ยว ขม หอม หวาน ค่อยๆพิจารณาว่ามันเหมือนอะไร จากนั้นก็มีโอกาสได้บินไปเรียนที่อื่นเพิ่มเติมจนกระทั้งในปี 2008 ตัดสินใจไปสอบเป็นนักชิมกาแฟระดับโลก ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็น Lead Instructor จนได้รับประกาศนียบัตร Q-Grader จากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษแห่งสหรัฐอเมริกา (SCAA)”

ก่อนที่จะกลับมาพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งด้วยการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ชื่อว่า ซาน่าบีคอฟฟี่ ตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานเล็กๆ ซึ่งใช้ทั้งฝีมือ ศาสตร์ที่เรียนรู้มา เน้นคุณภาพของเมล็ดกาแฟ เข้าสู้ จนได้เข้าไปตั้งร้านอยู่ภายในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีแบรนด์กาแฟเป็นของตัวเอง ได้ 4-5 ปี ได้กลับได้รับการตอบรับที่ดีมาก

แต่เขาไม่ต่อสัญญา....

เขามองว่านั่นคือสนามทดสอบฝีมือ จากนั้นก็เริ่มมีบริษัทกาแฟมาติดต่อให้ไปเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่การตั้งโรงคั่วกาแฟ ซึ่งก็ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เขาได้ศึกษาวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับร้านกาแฟของตัวเองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปจนถึงการเป็นตัวแทนจำหน่าย อุปกรณ์การทำกาแฟแบบครบวงจร

จน PACAMARA COFFEE เกิดขึ้น

จนถึงวันนี้ประมาณ 8 ปี จุดที่ PACAMARA ไม่เป็นเพียงแค่ร้านกาแฟ แต่เป็นเหมือนแหล่งการเรียนรู้ให้คนที่สนใจโลกกาแฟจริงๆ และต้องการนำไปต่อยอด จึงเริ่มเปิดคลาสเล็กๆ เรื่องการชิมกาแฟ นำเครื่องชงกาแฟแบบพิเศษ เครื่องบดกาแฟที่มีความสำคัญมากกว่าเครื่องชงกาแฟ แหล่งปลูกกาแฟ จนเกิดเป็น  Pacamara Coffee Roasters x Specialty Coffee Lab สาขาทองหล่อ

จุดเด่นของ Pacamara Specialty coffee lab กลางซอยทองหล่อ ด้วยสไตล์เท่ๆ แบบมินิมอล Less is More โรงเรียนกาแฟแบบครบวงจร ซึ่งคุณชาตรีย้ำว่า นี่คือ “กาแฟ  แบรนด์คนไทยจริงๆ”

“ ครั้งหนึ่งเราให้ลิขสิทธิ์ชาวสิงคโปร์ไปเปิด เพราะตอนนั้นคนไทยเราไม่ยอมรับ ทุกคนจะเข้าใจว่าเราเป็นแบรนด์จากสิงคโปร์มาเปิด ถ้ามีเวลาเราก็จะอธิบายว่าไม่ใช่เราเป็นร้านของคนไทย”

Pacamara มีที่มาจากชื่อของเมล็ดกาแฟซึ่งเป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ 2 เท่า ซึ่งตอนนั้น Pacamara ยังเป็นโรงคั่วเล็กๆ เลยคิดว่ามันย้อนแย้งกันดีเพราะเมล็ดมันใหญ่แต่โรงคั่วเราเล็กนิดเดียว และทุกอย่างเริ่มจากจุดเล็กๆแต่ทำให้มันยิ่งใหญ่ได้ "มันอยู่ที่เราสร้างคุณภาพ กำหนดแนวทางเป้าหมาย พยายามควบคุมเส้นทางเดินที่เราจะไปให้มันชัดที่สุด"

Pacamara จึงเป็นกาแฟโรงคั่วคนไทยที่ใช้กาแฟไทยที่สนับสนุนไปถึงต้นทาง เราอยากให้กาแฟไทยเราเจริญเติบโตยังยืนด้วยคุณภาพที่ไม่ใช่ว่าพอ เราโตด้วยคุณภาพเราไม่จำเป็นต้องไปแข่งเรื่องราคาเพราะว่าของมันจะมีจำกัดแล้วคนจะแสวงหาเอง

การมีร้านกาแฟเล็กๆ สักร้าน ให้คนมานั่งทำงาน จิบกาแฟพักผ่อน คงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน LIFE STORY เลยพามาเยี่ยมเยียนร้านกาแฟเล็กๆ แต่เท่ ในแบบ LESS IS MORE  เอาใจสายมินิมอล ทั้งผู้ที่อยากหาร้านนั่งครีเอทงาน หรือคอกาแฟที่นอกจากรักการชิมแล้วก็ยังอยากลองเรียนชงกาแฟในสูตรของตัวเอง ไปจนถึงอยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

การพูดคุยวันนี้จึงการันตีได้ว่าจะเป็น “แรงบันดาลใจให้คอกาแฟนักฝันกลับมาสำรวจความฝันของตนเองหรืออาจจะเป็นจุดทำให้ตัดสินใจให้ก้าวเข้าสู่สนามการชงกาแฟเลยก็ได้”

ย้อนดู LIFE STORY ตอนอื่นๆ

ไม่ธรรมดา!!!! อายุ 21 จบ ป.โท สายกฎหมาย ไขเคล็ดลับความเก่งจาก "น้ำเพชร"

มากกว่าฝันคือ ‘ลบคำสบประมาท’ ความในใจ “เล็ก The Voice”

“ยอมแลกเหงื่อ” เพื่อคำสัญญากับพ่อบนเส้นทาง “ลูกยาง” ของเด็กหนุ่มจากปากพนัง

คุยกับคนหัวใจโขน...หลังถอดหัวโขน

ถ้าไม่เป็นมะเร็งวันนั้น "ผู้หญิงคนนี้" อาจไม่ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเองในวันนี้

ตามติดชีวิต“คู่หูห่อหมกฮวก” ผู้สร้างสีสันจนสะท้านเวที “The Voice 2018”

ล่าฝันไปตามจังหวะดนตรี บนเส้นทางนักเต้น กับ "ทราย นภัส รอดบุญ"

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ