แนวคิด Lifelong Learning การเรียนรู้ชั่วชีวิต ของ “พจน์ นฤตรรกกุล ลี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้าและการศึกษา กับการขวนขวายเรียนรู้ในสิ่งใหม่อยู่เสมอแม้อายุแตะเลข 70

หนึ่งเดียวในไทย “เด็กพิการเรียนไหนดี” มหกรรมแนะแนวการศึกษา เพื่ออนาคตคนพิการ

สสส. เผย ปัญหาฉุดรั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ปิดกั้นพัฒนาการเรียนรู้

มีคำกล่าวว่า “ชีวิตมีจำกัด แต่ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด (Life is finite, knowledge is infinite.)” บางคนอาจมองว่าการเรียนรู้จบไปตั้งแต่ในวัยเรียนแล้ว แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ เป็นใครมาจากไหน ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดที่จะห้ามเราจากการเรียนรู้

PPTV Life Story ไปพูดคุยกับ คุณพจน์ นฤตรรกกุล ลี ประธานบริษัท iGROUP (Asia Pacific) Limited หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้าและการศึกษา ผู้ที่แม้จะมีอายุแตะเลข 70 แล้วก็ยังคงขวนขวายเรียนรู้ในสิ่งใหม่อยู่เสมอ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ยังเพื่อคืนประโยชน์ให้สังคม

จุดเริ่มต้นธุรกิจบริการข้อมูล การศึกษา

ผมเกิดที่เมียนมาในปี 1950 ซึ่งขณะนั้นโลกยังรู้จักกันในชื่อพม่าอยู่ พ่อแม่ของผมมาจากประเทศจีน ผมได้รับสัญชาติเมียนมา แต่แม่ของผมไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโตขึ้นผมจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาวิชาชีพในวิทยาลัย จนช่วงปี 1960 ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลในเวลานั้นได้มอบสัญชาติให้พ่อแม่ของผม

จากนั้นผมจบปริญญาตรีทางด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ปี 1970 แล้วต่อปริญญาโท 1 ปีที่นู่น แล้วก็มาที่ประเทศไทย พอดีเพื่อนของคุณพ่อเป็นคนสิงคโปร์ เขาอยู่ที่ไทย ชวนให้มาทำงานด้วยกัน แล้วโชคดีได้ทุนที่ สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย (AIT) ซึ่งตอนนั้นอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 1974 ผมจบ AIT ปริญญาโทวิศวกรรมแรงงาน แล้วก็ทำงานวิจัย (Research Associate) ประมาณ 8 ปี แล้วลาออกไปเปิดร้านหนังสือที่พัฒน์พงษ์ชื่อร้าน Book Seller เมื่อปี 1981

ต่อมาผมเริ่มทำงานทางด้านการศึกษาในลักษณะของ Information Service หรือบริการข้อมูล ให้กับห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัย แล้วก็ห้องสมุดสถาบันวิจัยทั้งหมด

ผมเริ่มต้นในปี 1986 ทำบริการค้นคว้าข้อมูลออนไลน์ สมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต การทำออนไลน์ตอนนั้นคือเราต้องใช้คอมพิวเตอร์พีซี แล้วใช้โทรศัพท์ แล้วก็ยิงเข้าไปที่เซิร์ฟเวอร์ที่สหรัฐฯ แล้วก็ต้องเรียนภาษาคำสั่ง (Command Language) ต้องเรียนว่าถ้าอยากจะค้นหาคำนี้ ต้องพิมพ์แบบนี้ แล้วก็ส่งไป แล้วทางนู้นก็จะเอามา

แล้วพอปี 1987-88 มีเทคโนโลยีซีดีรอมออกมา ตอนนั้นเป็นแผ่นเล็ก ๆ เก็บข้อมูลได้ 600 เมกะไบต์ แล้วก็มีเสิร์ชเอนจิ้นมาด้วย ฐานข้อมูลอันแรกที่ผมเอามาเผยแพร่ก็คือ บทความและงานวิจัยทางด้านแพทย์ แล้วหลังจากนั้นผมก็บริการให้กับห้องสมุดต่าง ๆ

จนประมาณ 1989 ผมก็คิดว่า ถ้าเราทำเฉพาะแค่ประเทศไทยประเทศเดียวตลาดก็เล็กหน่อย ผมเลยคิดไว้ว่าถ้าผมยังอยู่ที่นี่ มีประเทศอื่นที่ตลาดใหญ่กว่าจะขอไปเป็นตัวแทน ผมก็เลยไปเปิดออฟฟิศเล็ก ๆ ที่สิงคโปร์ จากนั้นก็ขยายไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ผมมีออฟฟิศอยู่ที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ อินเดีย จีน

ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาการค้นคว้าและการศึกษา

ทุกวันนี้หากเราเป็นนักวิจัย ต้องเขียนบทความ แล้วก็ไปตีพิมพ์อยู่ในวารสาร ก่อนที่จะทำ เราต้องค้นคว้า เราจึงพัฒนาวิธีการค้นคว้าของเราไม่ให้ธรรมดา แต่เป็น Determining หมายความว่าเราค้นคว้าคำ ๆ หนึ่ง ระบบจะหางานทุกอย่างที่เชื่อมโยงกับคำที่เราค้นหา และนักวิจัยตัดสินใจเองว่าอยากจะอ่านบทความไหน

อีกอย่างที่ทำอยู่คือ ปัจจุบันนี้เวลานักวิจัยเขียนบทความ บางทีไปตัดวางจากที่อื่นแล้วลืมอ้างอิงให้ เราก็ทำให้ค้นหาได้ เป็น Text Plagiarism System ว่าประโยคหรือเนื้อความนั้น ๆ มาจากงานวิจัยชิ้นไหน แล้วก็ลงทุนไว้กับมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ญี่ปุ่นก็คือ ใช้ AI มาค้นหาข้อมูลรูปภาพ นอกจากนี้ยังมีวารสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เจอร์นัล เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักวิจัย สามารถค้นคว้าข้อมูลมาเก็บไว้

ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ๆ ตามไม่ค่อนทัน ทุกวันนี้จะได้รับข้อเสนอจากบริษัทเล็ก ๆ บริษัทใหญ่ ๆ บริษัทที่เพิ่งเริ่มต้น ส่งมาเรื่อย ๆ ว่า เขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้อยู่ สนใจลงทุนด้วยกันมั้ย หรือพัฒนาอันนี้อยู่ สนใจเป็นตัวแทนมั้ย ซึ่งบางเรื่องเราก็ไม่รู้จักด้วยซ้ำ

แต่เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และต้องศึกษา ถ้าเราไม่เข้าใจต้องถามคนที่เข้าใจ ให้อธิบายให้เราฟัง เราก็ต้องเรียนรู้ ต้องเรียนรู้ทุกวัน ทุกวันนี้ผมก็เรียนรู้อยู่ ยิ่งเทคโนโลยีผมต้องเรียนรู้เยอะ แต่ถ้าผมไม่เข้าใจผมก็ให้ลูกน้องมาอธิบายให้ฟัง

และถ้าพูดเรื่องการศึกษาสำคัญขนาดไหน ผมคิดว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา พูดได้เลย สมัยนี้เราเรียนมัธยมเสร็จ ไปเรียนมหาวิทยาลัยเสร็จ อะไรก็ตามเราเรียนเสร็จ มันไม่พอ ทุกวันนี้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่มีวันเรียนจบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lifelong Learning ต้องเรียนตลอดชีวิต

มีงานวิจัยฉบับหนึ่งประมาณ 2 ปีแล้ว เขียนบอกว่า ภายใน 2025 อีก 5 ปี เทคโนโลยี AI ที่เข้ามาช่วยในชีวิตประจำวัน คนเราทั่วโลกประมาณ 50% จะตกงาน ยกตัวอย่าง ต่อไปไม่มีคนขับรถแล้ว คนขับรถที่ทำงานอยู่จะตกงาน ไปดูโรงงาน เครื่องอันหนึ่งต้องใช้ 20-30 คนมาคุม ตอนนี้เหลือแค่ 2 คน พวกหุ่นยนต์พวก AI มาช่วย คนตกงานจะเยอะ

เมื่อคนตกงานกันเยอะ ก็ต้องดิ้นรน หางานใหม่ ก็คือต้องหาวิชาชีพ เขาเรียกว่าเป็นทักษะทางวิชาชีพ หรือ Professional Skills ต้องหามา ที่จะได้เรียนรู้ หางานใหม่ได้ หรือทำอะไรได้ ผมก็เลยมาตั้งอีกอันหนึ่ง ภาษาอังกฤษเหมือนเดิม แล้วก็อีกอันที่ทำอยู่คือ Digital Skills ให้ผู้ใหญ่เรียนรู้โปรแกรมมิ่งพื้นฐาน แล้วก็เขียนโปรแกรมได้ ส่วนใหญ่นะครับ ผมคิดว่า ปัจจุบัน Digital Skills เป็นทักษะที่สำคัญในยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้

การศึกษาเพื่อโลกที่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นโครงการเราทำอยู่ในปัจจุบันคือ โครงการสำหรับเด็ก ๆ นักเรียนเวลาว่างอยากจะเพิ่มเติมความรู้

อันที่ 1 ที่ผมทำอยู่คือภาษาอังกฤษ เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่า ไม่ว่ายังไงก็ตาม ภาษาอังกฤษต้องแข็งพอสมควรที่จะสู้กับประเทศอื่น ภาษาอังกฤษนี่ เราเรียนอยู่ทุก ๆ วันคืออยู่ในระบบการศึกษาของเราอยู่แล้ว แต่เราจะมาเน้นด้าน Reading ตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ในเนิร์สเซอรี่ อนุบาล ถึงม.ต้นเลย จะมีหนังสืออยู่ประมาณ 1,200 เล่ม แต่เวลาอ่าน ระบบจะมี Speech Recognition เวลาให้ลูกหลานของเราอ่านภาษาอังกฤษ ระบบจะใช้ AI บอกว่าภาษาของเด็กคนนี้เพี้ยนอยู่ที่ไหน อ่อนอยู่ที่ไหน จะมาปรับเปลี่ยนให้

อันที่ 2 คือ สเต็มโปรแกรม มาจาก S-T-E-M คือ Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรม) และ Mathematics (คณิตศาสตร์)

เราทำงานร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนดุสิต จะตั้งศูนย์ที่นู่น ศูนย์เรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษ ด้านเทคโนโลยี ก็คือ เราจะมีการเขียนโค้ด โปรแกรม แล้วก็จะมีด้านวิศวกรรม ให้เด็ก ๆ น้อง ๆ หลาน ๆ ลูก ๆ คิดในแนวของวิศวะ อย่างเช่น แสง เสียง แม่เหล็ก แล้วก็จะมีคณิตศาสตร์ แต่คณิตศาสตร์ที่ผมจะทำไม่ใช่ทั่ว ๆ ไป ผมจะเน้นคณิตศาสตร์ที่ใช้อยู่ทุกวันในชีวิตประจำวัน เช่น คิดเปอร์เซ็นต์ยังไง

ผมมี STEM มีอังกฤษเข้าไปด้วยเป็น STEEM แล้วก็ใส่ S Social Studies ก็คือ STEEMS ผมก็เลยเรียกศูนย์ของผมว่า “Mangosteems” เล่นคำกับคำว่า “Mangosteen” หรือ “มังคุด”

โดยโครงการนี้กระจายไปทั่วทั้งเอเชียครับ ตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อาเซียน 10 ประเทศ บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน มองโกเลีย และศรีลังกา และต่อไประบบที่เราลงทุนไว้จะกระจายไปทั้งโลก ที่ผมอยากจะทำพวกนี้เพราะว่า อายุผมจะอยู่ได้อีกกี่ปี ทำอะไรให้มีประโยชน์กับสังคมได้ก็ทำ เพราะผมได้รายได้จากการศึกษามา ผมอยากจะคืนให้

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ