ต้นกำเนิดแรงศรัทธา “จตุคามรามเทพ-ไอ้ไข่”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดเรื่องเล่า ที่มา ตำนาน ความเชื่อ ของ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชื่อดังเมืองคอน “จตุคามรามเทพ” และ “ไอ้ไข่” เหตุใดทำไมถึง “ปัง” ?

“จตุคามรามเทพ” ถึง “ไอ้ไข่วัดเจดีย์” ผู้รักษาเศรษฐกิจเมืองนคร?

พลังศรัทธา “ไอ้ไข่” ส่งผลเศรษฐกิจพุ่งเงินสะพัดทั้งจังหวัดเกือบพันล้านบาท

จังหวัดนครศรีธรรมราช เมืองที่เต็มไปด้วยความเชื่อความศรัทธา และที่โด่งดังที่สุดคงไม่พ้น “จตุคามรามเทพ” และ “ไอ้ไข่” ซึ่งแม้ที่มาตำนานแตกต่างกัน แต่ก็ครองใจผู้คนได้คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้เชื่อกันว่าที่มาหรือตำนานของความเชื่อต่าง ๆ มีผลไม่น้อยในการจูงใจผู้คนให้เคารพศรัทธา ดังนั้นมาดูกันว่า จุดเริ่มต้นตำนานของ 2 ตำนานดังกล่าวนี้เป็นมาอย่างไร เหตุใดผู้คนจึงเคารพบูชากันอย่างล้นหลาม

จุดเริ่มต้นตำนาน “จตุคามรามเทพ”

หากใครเคยมีโอกาสได้เดินทางไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช และได้เข้าไปในวิหารพระธาตุ คงต้องเคยสังเกตเห็นเทพ 2 องค์ที่ประดิษฐานอยู่ข้าง ๆ ทางขึ้นไปยังสถานที่รักษาพระธาตุ ซึ่งก็คือ “ท้าวจตุคาม” และ “ท้าวรามเทพ”

พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช  เล่าให้ฟังว่า ความเชื่อเรื่องของท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ เป็นที่รู้จักกันมากในช่วงที่นครศรีธรรมราชสร้างหลักเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2530 มีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ แล้วต้องการให้มีเทพคุ้มครองหลักเมือง

ท่านเจ้าอาวาสเล่าต่อว่า ครั้งนั้น ขุนพันธรักษ์ราชเดช ทราบถึงที่มาที่ไปของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะอัญเชิญมา โดยบอกว่าเป็นเทพผู้เฝ้าประตูอยู่ที่พระวิหารพระธาตุ

“ก็มีผู้รู้หลายท่านหลายคนมากล่าวกันว่าทั้งสองท่านเป็นปฐมกษัตริย์ของปัทมวงศ์ (ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช) ที่สร้างเจดีย์ สร้างบ้านเมืองนี้ แล้วก็ต่อมาก็สร้างรูปไว้เฝ้าพระธาตุ เฝ้าพระเจดีย์ ... จะเห็นว่ามีรูปเทพที่ตั้งอยู่ก่อนเข้าประตูพระธาตุ ทางขวาทางซ้าย มีสองเทพ องค์หนึ่ง คือ “ท้าวขัตตุคาม” นักเลงพระก็มองว่า ชื่อ ขัตตุคาม ดูขัดนู่นขัดนี่ จึงเขียนว่า ท้าวจตุคาม อีกองค์หนึ่ง คือ ท้าวรามเทพ ก็ตรงตัว ทั้งสองท้าวเฝ้าอยู่ ส่วนจะมีอภินิหารอะไรบ้างก็ปรากฏให้คนพบเห็นกัน” พระเทพวินยาภรณ์กล่าว

ส่วนวัตถุมงคลที่ปรากฏในรูปของเหรียญจตุคามรามเทพนั้น ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า เหรียญวัตถุมงคลที่สร้างในปี 2530 นั้น เพื่อให้ผู้คนได้เช่าบูชาแล้วนำปัจจัยมาสร้างศาลหลักเมือง

ด้านนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานมูลนิธินครอาสา ลูกหลานชาวนคร อ.ปากพนัง เสริมว่า การออกแบบจัดสร้างองค์จตุคามรามเทพ พร้อมจัดตั้งศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช กลายเป็นที่มาแห่งความเชื่ออีกอย่างหนึ่งของชาวนครศรีธรรมราชตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา

“จากนั้นกระแสของจตุคามรามเทพก็ขึ้นมาตามลำดับ โดยเฉพาะพี่น้องข้าราชการตำรวจ เพราะผู้ที่นิมิตเห็นและริเริ่มจัดทำศาลหลักเมืองคือขุนพันธรักษ์ราชเดช แล้วก็อดีตผู้การ พล.ต.ท. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ทำให้ในวงการข้าราชการตำรวจในจังหวัดนครศรีธรรมราช และหลายจังหวัด รวมไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายตำรวจผู้ใหญ่ หลายยุคหลายสมัย ก็จะบูชาองค์จตุคามรามเทพ”

จุดเริ่มต้นตำนาน “ไอ้ไข่”

คำรพ เกิดมีทรัพย์ ชาวบ้านละแวกวัดเจดีย์ บอกว่า คำว่า “ไอ้ไข่” เป็นคำพื้นบ้านพื้นถิ่น ที่คนในปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพ แต่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกชื่อเด็กที่รู้จักชื่อก็ดี ไม่รู้จักชื่อก็ดี ว่า “ไอ้ไข่มานี่ซิ” “ไอ้ไข่ พ่อเอ็งไปไหน” ทั้งที่ความจริงคนนั้นอาจจะชื่อดำชื่อเขียวชื่อขาว แต่เรียกไอ้ไข่เป็นเบื้องต้น เรียกด้วยความเอ็นดู

“ทุกคนที่อายุ 90-100 ขึ้นไป ไม่ว่าอยู่ในท้องถิ่นนี้หรือไม่ เขาได้ยินชื่อไอ้ไข่นานมาแล้ว เวลาสมัยนั้นเวลาของหายก็บนไอ้ไข่ สมมติว่า ควายหลุด ไล่จับไม่ได้ ก็บนไอ้ไข่ช่วยจับควายให้ทีสิ แต่ว่าน่าแปลกมันจับได้ด้วย”

เมื่อได้ดังความประสงค์แล้วก็ต้องมีขั้นตอนการ “แก้บน” คำรพเล่าว่า ในอดีตวิธีแก้บนไอ้ไข่จะใช้วิธี “ตุง” หรือ “การม้วนหน้า”

“ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่าตุง คือม้วนหน้า จะตุงกี่ตรั้งกี่รอบก็ว่าไป ตอนนั้นก็มีการแก้บนพ่อท่านเจ้าวัด เด็กวัด เมื่อบนพ่อท่านเจ้าวัด บนเด็กวัด ตอนนั้นนามไอ้ไข่ยังไม่มา เรียกแค่เด็กวัด”

คำรพเล่าว่า ต่อมา ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ หรือ “เที่ยงหักเหล็ก” ผู้ใหญ่บ้านที่นับถือกันว่าเข้มขลังในวิชาไสยเวท และมีฝีมือในการแกะสลักลูกมะพร้าวเป็นหน้าลิงหน้าสัตว์ เป็นงานอดิเรก เกิดนิมิตว่า มีเด็กคนหนึ่งไปขอร้องผู้ใหญ่ให้ช่วยแกะรูปให้ เด็กคนนั้นบอกว่า เราไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ไง

“ผู้ใหญ่เที่ยงก็แกะรูปแล้วอัญเชิญไอ้ไข่มาสถิตในหุ่นไม้ แล้วตั้งชื่อว่า “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” เป็นผู้ที่หาร่างให้ไอ้ไข่อยู่”

อย่างไรก็ตาม คำรพยืนยันว่า ตำนานที่เกี่ยวข้องกับไอ้ไข่นั้นไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน เพียงแต่เป็นการเล่าต่อ ๆ กันมาในพื้นที่ ไม่มีหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่คนในท้องถิ่นก็ยืนยันไม่ได้ว่าตำนานทั้งหมดเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

คำรพเล่าต่อว่า เมื่อก่อนวัดเจดีย์เป็นวัดร้าง ต่อมาพระครูเจติยาภิรักษ์ หรือ “พ่อท่านเทิ่ม” จากวัดเขาคามาอยู่ที่วัดนี้ ซึ่งท่านเป็นพระนักพัฒนาที่พัฒนาวัดมาเรื่อย ๆ เป็นที่เคารพศรัทธาของคนในละแวกนั้น และเป็นพระรูปแรกที่สร้างเหรียญไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์รุ่นแรกขึ้นมา สร้างเพื่อตอบแทนญาติโยมที่มาร่วมบุญในวันฉลองพัดยศ

คำรพบอกว่า การเหรียญหรือวัตถุมงคลต่าง ๆ นั้น เพื่อให้มีปัจจัยในการพัฒนาวัด “การพัฒนาวัดจะต้องมีปัจจัยจากญาติโยม อิฐ หิน ดิน ทราย ตะปู แต่ไม่มีใครให้ มันต้องซื้อ เพราะฉะนั้นท่านก็เลยสร้างเหรียญขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำบุญ และเอาเงินนั้นมาจัดสร้างเสนาสนะ”

ด้านผู้ใหญ่อรุณ ดวงแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน และประธานคณะกรรมการวัดสระสี่มุม อีกหนึ่งวัดที่มีชื่อเสียงจากตำนานไอ้ไข่ บอกว่าเดิมทีอาจารย์เทิ่ม พระครูเจติยาภิรักษ์ หรืออาจารย์เทิ่ม จินดานิล เป็นพระนักพัฒนา เดินทางมาเจอวัดสระสี่มุม ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง จึงเข้ามาอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2528 แล้วก็ได้สร้างอาคารหลายหลัง หลังจากนั้นก็สร้างเหรียญไอ้ไข่ขึ้นมา 2 รุ่นที่วัดสระสี่มุม จากนั้นคนเอาเหรียญตาไข่ไปบูชา เกิดการบนได้ไหว้รับขึ้นมา มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือของชาวบ้าน”

ในปี พ.ศ. 2540 อาจาร์เทิ่มก็มรณภาพ หลังจากนั้นเมื่อเหรียญตาไข่ที่อาจารย์เทิ่มสร้างด้วยมือเสร็จ ทางคณะกรรมการวัดสระสี่มุมเกิดความคิดว่า จะหาทุนสร้างเสนาสนะในวัดสระสี่มุม เช่น เมรุ โบสถ์ จึงคิดสร้างเหรียญตาไข่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2557

“คณะกรรมการสร้างรุ่นแรกขึ้นมา คือรุ่น “ฉลองมณฑป” ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านได้ข่าวพิธีพุทธาภิเษกที่เข้มขลัง ชาวบ้านก็หลั่งไหลเข้ามาเช่าบูชาวัตถุมงคลจากวัดสระสี่มุม จากนั้นก็สร้างในปี 2558 อีก รุ่น “มั่งมีศรีสุข” พอวัตถุมงคลเหลือน้อยก้คิดสร้างใหม่อีกรุ่น สร้างโบสถ์ขึ้นมา สร้างเสนาสนะ”

สำหรับตำนานไอ้ไข่นั้น ผู้ใหญ่อรุณกล่าวสั้น ๆ เพียงว่า “ตอนอาจาร์เทิ่มเข้ามาอยู่ใหม่ ๆ ชาวบ้านเคยถาม แกบอกว่า ไอ้ไข่ไม่มีตัวตนหรอก มีวิญญาณเด็กอายุประมาณ 9-10 ขวบ ทีนี้ แกก็ให้ชาวบ้านแกะสลักไม้และเชิญดวงวิญญาณตาไข่ไปสถิตในไม้ที่แกะสลัก แล้วบังเอิญบนได้ไหว้รับขึ้นมา มีชื่อเสียง แกก็เลยสร้างเหรียญขึ้นมา ... พ่อท่านเทิ่มเดิมทีแกเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ออกมาเจอวัดร้างที่นี่ก็มาบูรณะวัดที่นี่”

ทั้งนี้ตำนานที่เกี่ยวข้องกับไอ้ไข่นั้นมีหลากหลายเวอร์ชันหมายความเชื่อ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยขาดแคลนหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าเชิ่อถือ

ตำนานเรื่องเล่าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แม้เลือนลางหรือไม่แน่ชัดเพียงใด การบอกเล่าปากต่อปากรวมถึงการ “แชร์” ในโลกออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยตัดสินว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดจะ “ปัง” ในแต่ละยุคสมัย หากพูดกันในมุมการค้า สินค้าที่ผลลัพธ์ไม่น่าพึงพอใจก็คงไม่มีใครกล้าใช้และบอกต่อ

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้มีศรัทธาทั้งหลายพึงระลึกไว้คือ “จงศรัทธาอย่างมีสติ หากขอพร แต่ไม่ลงมือทำสิ่งใดเลย ผลลัพธ์ก็ย่อมไม่ปรากฏ”

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ