4 ธันวาคม “วันสิ่งแวดล้อมไทย” กับปัญหาขยะในปีโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันสิ่งแวดล้อมไทยปีนี้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเพราะโรคระบาด

"หน้ากากอนามัย ถุงมือ ห่อพัสดุออนไลน์" สร้างขยะช่วงโควิด-19

“ขยะกำพร้า” ขยะพลาสติกรีไซเคิลไม่ได้ ต้องได้รับการกำจัดให้ถูกวิธี

“มีหน้ากากมากกว่าแมงกะพรุน” ขยะช่วงโควิด-19 จำนวนมากถูกทิ้งลงมหาสมุทร

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในวันที่ 4 ธันวาคม วันนี้ของทุกปีจึงถือเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยปีนี้มีทั้งด้านที่ดีขึ้น และด้านที่เลวร้ายลง โดยมีโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญ

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมคือเรื่องของ “ขยะ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ไทยยังคงตีไม่แตก ในปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยมีจำนวนขยะโดยรวมประมาณ 27-28 ล้านตัน แต่มีขยะเพียง 11 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกกำจัดโดยวิธีการที่ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณขยะเช่นกัน

ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยระบุว่า เฉลี่ยแล้ว คนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม เป็นขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12-13 ในขณะที่เขตกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 20 หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,500 ตันต่อวัน

แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ มีปริมาณขยะโดยรวมลดลง

โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีขยะดดยรวมลดลงจากปกติ 10,560 ตันต่อวันเหลือ 9,370 ตันต่อวัน ภูเก็ตลดลงจาก 970 ตันต่อวันเหลือ 840 ตันต่อวัน นครราชสีมาลดลงจาก 240 ตันต่อวันเหลือ 195 ตันต่อวัน และพัทยาลดลงจาก 850 ตันต่อวันแหลือ 380 ตันต่อวัน

แต่แม้ปริมาณขยะโดยรวมจะลดลงในทุกพื้นที่ แต่จำนวนขยะพลาสติกกัลบเพิ่มขึ้นสูง คาดว่าเกิดมาจากจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี (Food delivery)

วัยทำงานหวั่นโควิด-19 สั่งฟู้ดเดลิเวอรี่กระจาย

การสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี เติบโตแบบพุ่งกระฉูดพร้อมกับเทรนด์การซื้อของออนไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น โดยยอดการใช้บริการเดลิเวอรีของบรริการขนส่งอาหารแห่งหนึ่งเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติถึง 3 เท่า ส่งผลให้พลาสติกชนิดใช้ครั้งแล้วทิ้งกลับมาอีกครั้ง

ทางหนึ่งเกิดจากร้านค้าต่าง ๆ งดรับภาชนะที่ใช้แล้งของลูกค้า เพราะหวั่นเกรงโควิด-19 และให้ใช้แต่ภาชนะพลาสติกใช้แล้วทิ้งของทางร้านเท่านั้น อีกทางหนึ่งเกิดจากว่า ในการขนส่งอาหารแบบเดลิเวอรี มักต้องใส่ถุงพลาสติก หรือภาชนะใช้แล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนมากก็เป็นพลาสติก จึงยิ่งทวีปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นให้สูงขึ้นไปอีก

ในประเทศไทยมีข้อมูลระบุว่า ขยะจากบริการส่งอาหารเดลิเวอรี ประกอบด้วย ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก เพิ่มขึ้นถึง 15% หรือจาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราต้องอยู่แต่ในบ้าน งดการเดินทางไปท่องเที่ยวป่าเขาหรือทะเลจนธรรมชาติฟื้นตัวนั้นก็จริงอยู่ แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รวมถึง New Normal เรื่องการสั่งอาหาร กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมไม่ได้คลี่คลายไปจากเดิมเลยแม้แต่น้อย

สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่สงบดี และยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรากฏขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อาจถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องค้นหาแนวทางการจัดการขยะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ