เสียงสะท้อนจาก นร. “เรียนออนไลน์” ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้วันนี้จะเริ่มเปิดให้โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถกลับมาทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้แล้ว แต่ก็มีมาตรการแบ่งชั้นเรียนเพื่อลดความแออัดให้ห้องเรียน โดยให้เด็กนักเรียนสลับกันมาเรียนห้องละ 25 คน หรือ ให้แต่ละโรงเรียน ออกแบบวิธีการเอง โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ออกแบบให้นักเรียนเรียนออนไลน์และเรียนที่โรงเรียนไปพร้อมกัน แม้ว่า ทำให้ทุกคนไม่ต้องหยุดเรียนสลับกัน แต่วิธีการนี้ก็ทำให้การเรียนการสอนยากขึ้น

รร.อัสสัมชัญ เตรียมพร้อมเปิดเรียน 1 ก.พ.นี้

รมว.ศึกษาธิการ ตรวจความพร้อม ร.ร. ก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค.นี้

นักเรียนในห้องเรียน รอเพื่อนในระบบออนไลน์ เพื่อเรียนพร้อมกัน  ห้องเรียนนี้ คือ ห้องเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม โรงเรียนนี้ เลือกใช้วิธีเรียนคู่ขนาน ที่บ้านกับที่โรงเรียน แทน การให้นักเรียนสลับวันกันมาเรียน เพราะ มองว่า วิธีนี้เด็กนักเรียนจะได้เรียนครบทั้ง 5 วันต่อสัปดาห์

 การเรียนการสอนระหว่างครูกับนักเรียนที่อยู่ในห้องเรียนจะโต้ตอบกันได้ตามปกติ  ส่วนนักเรียนที่เรียนออนไลน์ ทำได้แค่ฟังครูสอน ไม่สามารถโต้ตอบกันได้ และ ตลอดคาบเรียนต้องปิดไมโครโฟน เพราะ หากเปิดไว้ เสียงจะรบกวนคนอื่น  รวมถึงบางคนเลือกปิดกล้องหน้าคอมพิวเตอร์ ทำให้ครูไม่สามารถมองเห็นนักเรียนคนนั้นได้

หนึ่งในนักเรียนที่เรียนออนไลน์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเรียนออนไลน์แบบถ่ายทอดสดมีข้อจำกัดเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ไม่เสถียร จนทำให้ไม่เข้าใจเนื้อหาบางช่วง

ส่วนนักเรียนที่เรียนในห้องเรียน บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาเรียนในรูปแบบปกติ เพราะนอกจากจะได้เจอเพื่อนๆแล้ว เขายังรู้สึกว่าการเรียนแบบออนไลน์ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง และตามเนื้อหาที่ครูสอนไม่ทัน จนต้องขอให้ผู้ปกครองสอนซ้ำหลายครั้ง

ขณะที่ นายรุจ คเนจร ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียน ยอมรับว่า เมื่อมีการสอนแบบถ่ายทอดสด กลุ่มนักเรียนที่กลับมาเรียนปกติได้เปรียบนักเรียนกลุ่มที่เรียนออนไลน์ที่บ้าน เพราะอาจารย์สามารถอธิบายเนื้อหาในส่วนที่นักเรียนไม่เข้าใจได้ทันที ซึ่งทางโรงเรียนได้แก้ไขปัญหานี้โดยการลงคลิปวิดีโอถ่ายทอดสดการสอนและแบบเรียนเพิ่มเติมลงออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถทบทวนเนื้อหาเพิ่มเติม ภายหลัง นอกจากนั้นยังเปิดช่องทางออนไลน์ให้นักเรียนสอบถามย้อนหลังโดยตรงกับครูผู้สอนวิชานั้นๆ ในกรณีที่ทบทวนเนื้อหาการสอนเองแล้วไม่เข้าใจจริงๆ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเรียนการสอนในช่วงสัปดาห์นี้ แต่ละโรงเรียนไม่ควรรีบเน้นเนื้อหาหรือจัดการสอบ แต่ควรให้นักเรียนช่วยสะท้อนข้อดีข้อเสียของการเรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา และทบทวนเนื้อหาที่ครูสอนไปก่อนหน้านี้ เพราะ เชื่อว่า น่าจะมีนักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมองว่า แต่ละโรงเรียน ควรเปิดโอกาสให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการเรียนการสอนเพื่อปรับให้มีประสิทธิภาพที่สุดตามบริบทของสถานศึกษานั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล สะท้อนเพิ่มเติม ว่า เห็นด้วยกับมาตรการให้นักเรียนสลับมาเรียนที่โรงเรียน โดยเฉพาะเด็กประถมและมัธยมต้น เพราะการเรียนที่บ้านสำหรับเด็กเล็กเป็นการฝืนธรรมชาติ โดยเฉพาะสำหรับบางครอบครัวที่ผู้ปกครองมีข้อจำกัด ไม่สามารถดูแลเด็กที่บ้านได้ การเรียนรู้ก็จะไม่เต็มที่ แม้ว่าการเรียนที่บ้านจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการควบคุมโรคโควิด-19

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ