เจ้าของตึกสุดช้ำ ผู้เช่าย้ายออกค้างค่าไฟนาน 1 ปี ยอด 3 หมื่นบาท ชี้ช่องโหว่นโยบายห้ามตัดไฟ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นโยบายผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถค้างค่าไฟ ได้นาน 1 ปี โดยไม่ถูกตัดไฟ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ หลังเจ้าของอาคารพาณิชย์ ย่านคลองสามวา เผยผู้เช่าตึกย้ายออกไปโดยที่ไม่ยอมจ่ายค่าไฟ นาน 1 ปี รวมถึงมีค่าน้ำ และ ค่าเช่าตึก ที่ค้างชำระด้วย เตอนนี้กลายเป็นหนี้แทนเกือบ 5 หมื่นบาท ทั้งที่ไม่ได้ใช้น้ำและใช้ไฟ

ร้านค้าเซ้งกิจการ สังเวยพิษโควิด-19 ระบาด

เคลียร์! วันหมดเขต ใช้สิทธิ "ม33เรารักกัน "รมว.แรงงาน" ขอดูสถานการณ์

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใบเสร็จค่าไฟแสดงยอดค้างชำระ 12 งวด เป็นเงิน 30,802.77 บาท คือ ยอดชำระที่ ที่ นางศรีอำพันธ์ บุญประสงค์ เจ้าของตึกพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง ย่านคลองสามวา นำมาให้ทีมข่าวดู พร้อมพาดูตึกอาคารพาณิชย์เก่า 3 ชั้นครึ่ง ที่ปล่อยเช่าในราคาถูก เดือนละ 6,000 บาท

นางศรีอำพันธ์ เล่าว่า ผู้เช่าคนดังกล่าว เป็นผู้หญิง มาขอเช่าตึกของเธอที่ตั้งอยู่หน้าวิทยาลัยการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร เช่ามาตั้งแต่ปี 2554 ทราบว่า ผู้เช่าอยู่กับคนในครอบครัวอีก 5 คน เปิดร้านขายส้มตำ ไก่ย่างหน้าตึก ส่วนภายตึกชั้น 1 เปิดเป็นร้านโชห่วย ตอนให้เช่าตึกไป สภาพอาคารไม่ได้ซอมซ่อแบบที่เห็นในปัจจุบัน ที่ผ่านมาไม่เคยมาดูภายในเลย เพราะไว้ใจ และเห็นว่าผู้เช่า อยู่มานาน 10 ปี จ่ายค่าเช่าตรงเวลาตลอด

โดยจนกระทั่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้เช่าคนนี้ เริ่มจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ทำให้ตนตัดสินใจมาที่ตึก และพบว่าสภาพภายในชำรุดหลายจุด จึงขอให้ผู้เช่าย้ายออก ตอนแรกคิดไว้แล้วว่าผู้เช่าคนนี้จะต้องทิ้งค่าไฟให้จ่าย 1-2 เดือน เพราะเพื่อนบ้าน เคยเล่าให้ฟังว่าผู้เช่าคนดังกล่าว ไม่จ่ายค่าน้ำ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องมาตัดมาตรวัดน้ำประปาไป และผู้เช่าได้ขอต่อท่อน้ำปะปาจากเพื่อนบ้านมาใช้ และจ่ายค่าน้ำให้กับเพื่อนบ้านแทน แต่หลังผู้เช่าย้ายออก จึงรู้ว่าค้างค่าไฟนาน 1 ปี เป็นเงินรวม 30,802.77 บาท เมื่อโทรศัพท์ไปหาผู้เช่า พบว่า ติดต่อไม่ได้ เบื้องต้นตอนนี้ทราบเพียงว่า ผู้เช่าเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ  มีลูกเขยของผู้เช่าทำงานเป็น รปภ. ที่วิทยาลัยการท่องเที่ยว ซึ่งพยายามติดต่อแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลติดตามตัวผู้เช่าคนดังกล่าวมาชำระเงินที่เหลือ

 

นางศรีอำพันธ์ กล่าวว่า ตอนแรกรู้สึกสงสัยว่าทำไมการไฟฟ้าถึงปล่อยให้ค้างค่าไฟนาน 1 ปี เมื่อสอบถามจึงทราบว่าเป็นนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ ที่ให้ประชาชนค้างค่าไฟในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนตัวมองว่า เป็นนโยบายที่หละหลวม และมีช่องโหว่ และทำให้รู้สึกเจ็บใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่เคยคาดคิดว่าจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ 

นอกจากค่าไฟที่ผู้เช่าไม่ได้จ่าย ยังพบว่า มีการค้างชำระค่าเช่าตึก 2 เดือน รวมเป็นเงิน 12,000 บ. และมีค้างค่าน้ำอีก 2 เดือน เป็นเงิน 400 บาท รวมทั้งหมด 43,202.77 บาท

 

ด้านเพื่อนบ้านที่อยู่ตึกข้างเคียง เล่าว่า ผู้เช่าคนดังกล่าว ชื่อว่า ยายเฮียง อายุประมาณ 60 กว่า ๆ ปกติเป็นคนนิสัยดี สามารถพึ่งพาได้ ไม่เคยมีปัญหากับใคร ซึ่งที่ผ่านมายายเฮียง ไม่เคยเล่าปัญหาภายในครอบครัวให้ฟัง รู้แค่ว่ายายเฮียงรับผิดชอบค่าห้อง ส่วนลูกเขยเป็นคนจ่ายค่าไฟ  และก่อนที่ยายเฮียง จะย้ายออกไป เคยมาร้องไห้ พร้อมระบายความในใจว่ารายได้ไม่ค่อยมี วันหนึ่งขายของได้หลักร้อย จากเดิมที่ขายได้หลักพัน แต่หลังจากสถานการณ์โควิด และรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ รายได้ยายเฮียงก็ลดลง เพราะ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการด้วย

 

ด้าน นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เปิดเผยกับทีมข่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น แม้จะไม่มีความผิดทางอาญา แต่เจ้าของตึกสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ ทั้งค่าห้อง ค่าไฟ และค่าน้ำ หรือ แม้แต่ค่าซ่อมแซมบ้าน ที่ชำรุดผิดปกติวิสัย พร้อมมองว่านโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดี แต่คนที่ได้รับสิทธิ์นี้ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ