เจออีก!เสาไฟประภาคารสัตหีบ งบ 20 ล้านบาท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรื่องเสาไฟประติมากรรม ตอนนี้ร้อนแรงมาก และไม่ได้มีแค่ที่อบต.ราชาเทวะ สมุทรปราการเท่านั้น ล่าสุด เจออีกหลายจุด เช่น ที่ เทศบาลเมืองสัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นเสารูปประภาคาร คนออกแบบบอกว่า ทำขึ้นตามสัญลักษณ์ของเมืองสัตหีบ

เสาไฟประติมากรรมรูปประภาคารนี้ เพิ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานได้แค่ 3 วัน มีทั้งหมด 139 ต้น ใช้งบประมาณรวม 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ในซ.เทศบาล 3 ตลอดถนน ยาวไปจนถึง ฐานทัพเรือสัตหีบ

นายวุฒิศักดิ์ สุริโย ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองสัตหีบ ซึ่งเป็นคนคุมการออกแบบเสาไฟ เล่าว่า ที่เลือกเสาไฟเป็นรูปประภาคาร เพราะ เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสัตหีบ หวังให้ สอดรับกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น

อบจ.อ่างทอง แจงเสาไฟริมทาง ต้นละ 8.3 หมื่น

วัดระยะห่างเสาไฟกินรี พบ ไม่ตรงค่ามาตรฐาน

โดยงบประมาณที่ใช้ 20 ล้านบาท เทศบาลเมืองสัตหีบ ชี้แจงว่า เฉพาะราคา เสา 1 ต้นราคาเฉลี่ย 82,500 บาท แบ่งเป็น ค่าเสาสแตนเลส 20,500 บาท ดวงไฟ 5,000 บาท ฐานเสาไฟ 4,500 บาท ประติมากรรมครอบเสา 27,500 บาท ประติมากรรมอะลูมิเนียมรูปประภาคาร 25,000 บาท

ส่วนเงินที่เหลือ เป็นค่าวางระบบเดินสายไฟ และระบบฐานราก จุดละ 61,000 บาท

ทีมข่าวพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนใหญ่รู้สึกดีใจ เพราะบริเวณถนนไม่มีไฟส่องสว่างมานานหลายสิบปี แต่มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอางบมาทุ่มกับประติมากรรมโดยไม่จำเป็น ยังมีปัญหาในพื้นที่ที่ควรได้รับการแก้ไขมากกว่านี้

ด้านนายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ เล่าว่า ปี 2562 ถูกร้องเรียนจากชาวบ้านว่าไฟในพื้นที่ไม่สว่าง เทศบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข จึงส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ เมื่อผ่านคณะกรรมาธิการในสภา ได้งบทั้งหมด 20,000,000 บาท ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้ เพราะทางเทศบาลมีหน้าที่แค่ทำแผนก่อสร้างและติดตามงาน ส่วนเงินทั้งหมด สำนักงบประมาณจะโอนเข้าผู้รับเหมาเอง

ป.ป.ช.สั่งสอบ ประติมากรรมเสาไฟฟ้า

อีกจุดที่พบ เสาไฟประติมากรรม คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น เสาไฟ รูป 12 นักษัตร โดยนายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ กำลังตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หลังจากก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. มีนโยบายในทุกพื้นที่ไปตรวจสอบเรื่องการสร้างเสาไฟ

นายสุชาติ บอกว่า จะตรวจสอบ ตั้งแต่การทำงบประมาณไปจนถึงขั้นตอนกำหนดสเป็ก เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่ ส่วนในเชิงกายภาพต้องตรวจสอบว่ากำหนดไว้อย่างไร ตรงตามสเป็ก หรือ เอื้อประโยชน์ล็อกสเป็กหรือไม่

นอกจากนี้ ทีมข่าวในพื้นที่ยังรายงานว่า ที่นครศรีธรรมราช ไม่ได้มีแค่เสาไฟเท่านั้น พบว่า มีป้ายบอกทางที่มีเข้าชุดกับเสาประติมากรรมด้วย ป.ป.ช.จังหวัดบอกจะตรวจสอบทั้งหมด

ส่วนที่จังหวัดหนองคาย พบ เสาไฟแบบธรรมดา ไม่มีประติมากรรมใดใด แต่ชาวบ้าน มองว่า เป็นเสาไฟที่สร้างขึ้นเกินความจำเป็น อย่างที่ถนนทางเข้าหมู่บ้านดงสะพัง หมู่ 6 ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย  ตลอดเส้นทางไม่มีชุมชนหรือ หมู่บ้านตั้งอยู่ แต่มีการติดตั้งไฟส่องสว่างตลอดระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร พบ เสาไฟส่องสว่างรวมกว่า  60 หลอด เฉลี่ยห่างกันประมาณ 10 เมตร

ชาวบ้านบอกว่า ไฟส่องสว่างเหล่านี้ถูกติดตั้งมาประมาณ 2-3 ปีซึ่งในตำบลนาหนัง มีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน แต่มีเพียงหมู่บ้านดงสะพังแห่งเดียว ที่มีไฟส่องสว่างจำนวนมาก

ส่วนที่ หมู่บ้านกุดแกลบ ตำบลนาหนัง ซึ่งอยู่ใกล้กัน พบว่าแทบไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเลย  ที่มีอยู่แล้วก็หมดอายุ ไฟไม่ติดบางหลอดชาวบ้านต้องไปขอท้องถิ่นมาติดให้  แต่ต้องเสียค่าไฟเองตกเดือนละ 30 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับการใช้งานของหมู่บ้าน  ทำให้ชาวบ้านเกิดคำถามว่า ทำไมติดตั้งไฟส่องสว่างตามเส้นทางที่เป็นป่า ห่างไกลบ้านเรือนประชาชน และไม่มีชุมชน ไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่มีประโยชน์

ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2564

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ