เปิดใจ สาวเชียงใหม่ เผย นาทีถ่ายคลิป “ดาวตก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชัดเจนแล้วสำหรับปรากฎการณ์เหนือท้องฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวานนี้ หลังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร คาดว่าเป็น “ดาวตกชนิดระเบิด”

ภาพที่แชร์กันในโลกออนไลน์เมื่อคืนคาดว่าเป็นภาพเก่า เพราะภาพที่บันทึกได้และชัดเจนที่สุด เกิดขึ้นตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืด ซึ่งมีหญิงสาวคนหนึ่งถ่ายได้ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

โดยเหตุการณ์นี้ น.ส.อาลิสา เซยะ บันทึกไว้ได้ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเป็นแสงลอยอยู่เหนือท้องฟ้า และเคลื่อนตัวจากด้านขวาไปซ้ายในแนวราบ ด้วยความเร็วที่รวดเร็วมาก ไม่ได้มีทิศทางพุ่งตกลงพื้น โดยระหว่างเคลื่อนตัว มีสีเหมือนพลุหรือดอกไม้ไฟ สีฟ้าเขียวและม่วง

สำนักวิจัยดาราศาสตร์ อธิบายแล้ว แสงเขียว เสียงดังสนั่น ที่ภาคเหนือ คือ "โบไลด์" เกิดโซนิก บอมบ์

โซเชียลแชร์สนั่นเกิดเสียงระเบิดดังเห็นดวงไฟสีเขียวบนท้องฟ้า

 

 

วันนี้นางสาวอาลิสา เซยะ คนที่ถ่ายภาพนี้ได้ เปิดเผยว่า จังหวะนั้นตัวเองกลับมาจากกรุงเทพฯ และมาพักอยู่บ้านในอำเภอพร้าวเพียงลำพัง เมื่อว่างๆไม่รู้จะทำอะไร จึงเอาโทรศัพท์มือถือ ขึ้นมาถ่ายท้องฟ้าเล่นบริเวณหน้าบ้านไปเรื่อย ๆ จนเปลี่ยนมุมมาในจุดที่บันทึกภาพได้ ก็เห็นวัตถุเคลื่อนตัวตามภาพในคลิปวิดีโอ

น.ส.อาลิสา ระบุว่า หลังเห็นสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ถามหา ตัวเองจึงตัดสินใจส่งคลิปไปให้ในคอมเม้นต์เฟซบุ๊ก โดยไม่ได้คิดอะไร

สอดคล้องกับ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ที่ระบุว่าคลิปของน.ส.อาลิสา เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวานนี้ ไม่ใช่ภาพตอนท้องฟ้ามืดที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย ซึ่งคาดว่านั่นเป็นเหตุการณ์เก่า

โดยการเคลื่อนที่ที่เราเห็น คือความเร็วกว่าจรวดทุกชนิด โดยในแต่ละวันมีดาวตกเข้าในโลกจำนวนมาก วันหนึ่งน่าจะเป็นล้านครั้ง แต่ส่วนมากจะมีขนาดเท่าเม็ดกรวดเม็ดทรายและเผาไหม้หมด หากนำมารวมกัน วันหนึ่งน่าจะได้หลายแสนกิโลกรัม โดยกรณีที่เกิดขั้นเมื่อวานนี้ วัตถุน่าจะมีขนาดเล็กหากเทียบกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องติดตามดูว่าดาวเทียมสังเกตการณ์ของต่างประเทศ ทั้ง ดาวเทียมอุตุฯที่ศึกษาการเกิดฟ้าผ่า หรือ ดาวเทียมทางทหารที่ใช้ติดตามการปล่อยขีปนาวุธ ว่าจะสามารถตรวจจับวัตถุนี้ได้หรือไม่ พร้อมยืนยันว่าปรากฎการณ์นี้ไม่อันตราย และด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในเวลานี้ทั่วโลก ยังไม่สามารถแจ้งเตือนปรากฏการณ์นี้ได้

สำหรับดาวตกลักษณะนี้ ดร.ศรัณย์ระบุว่า วัตถุจะมีขนาดตั้งแต่ 1 เมตร หรือ ครึ่งเมตร มีอยู่นับพันล้านชิ้น ซึ่งไม่มีกล้องโทรทัศน์ใด ๆ ในโลกติดตามได้ จนถึงขนาดประมาณ 100 เมตรขึ้นไป หรือ เท่าภูเขา 1 ลูก

 

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ