ชลบุรี งัดมาตรการเร่งด่วนโควิด ปิดสถานที่ - จำกัดเดินทาง - ห้าม หน.ส่วนราชการออกนอกพื้นที่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จังหวัดชลบุรี ประกาศคำสั่ง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยให้มีการปิดสถานที่ จำกัดการเดินทาง

ชลบุรี พบโควิดรายใหม่ 537 ราย บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 11 คน ห้างฯดังเฉียดสิบ

ด่วน! ราชกิจจาฯ ประกาศคำสั่ง ยกระดับล็อกดาวน์คุมโควิด ขยายพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จว. มีผล 20 ก.ค. 64

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ประกาศคำสั่ง เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในเขตท้องที่จังหวัดชลบุรี ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรียังคงตรวจพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีจึงให้ดำเนินการในทุกท้องที่จังหวัดชลบุรี ดังต่อไปนี้

 1. ให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้กำหนดมาตรการไว้แล้วก่อนหน้านี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดปรากฏตามผนวก ก. บัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้

 

 2. ให้ปิดสถานที่ ดังต่อไปนี้

  • สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการ อาบ อบ นวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
  • สถานที่สำหรับจัดให้มีการพนันชนไก่/ชกมวยทุกแห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้สถานที่สำหรับจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่/ชกมวย ตลอดจนสถานที่จัดให้มีการซ้อมชนไก่ หรือกระทำการอื่นใดในสถานที่ดังกล่าว อันเป็นเหตุให้มีการชุมนุมของประชาชนจำนวนมาก และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เข้มงวด กวดขัน และตรวจสอบในพื้นที่ มิให้มีการลักลอบเล่นการพนันอื่นใด หรือการรวมตัวเพื่อดำเนินกิจกรรมในทำนองเดียวกันอันเป็นเหตุให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมของประชาชนโดยเด็ดขาด
  • โรงภาพยนตร์ และโรงมหรสพ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคาร เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพทุกแห่ง
  • สถานที่ที่จัดให้มีการเล่นสนุ๊กเกอร์ บิลเลียด โบว์ลิ่ง สเก็ต โรลเลอร์เบลดหรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกันทุกแห่ง
  • สถานที่เล่นตู้เกมทุกแห่ง
  • สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นให้บริการทั้งบริเวณภายในและภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่ที่จัดให้มีเครื่องเล่นสำหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด
  • สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
  • สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
  • ตลาดนัดพระเครื่องทุกแห่ง
  • สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ นวดฝ่าเท้า นวดแผนโบราณ  กิจการสปา กิจการเพื่อเสริมความงาม ตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานเสริมความงามและคลินิกที่ให้บริการการเสริมความงาม รวมถึงการให้บริการเสริมความงามในโรงพยาบาลเอกชน สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนักทุกแห่ง และสถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทุกประเภท
  • ให้ปิดสนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส

 

 

3. กำหนดมาตรการควบคุมสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ดังต่อไปนี้

  • ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต และสถานที่ให้บริการคอมพิวเตอร์ทุกแห่ง โดยให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น.
  • สระว่ายน้ำ สวนน้ำ ทั้งบริเวณภายในและภายนอกอาคาร โดยให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. ทั้งนี้ งดการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังกล่าวโดยเด็ดขาด
  • ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชาทุกแห่ง (ยกเว้นตลาดนัดพระเครื่อง) โดยให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น.
  • ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร (เว้นในสถานศึกษา และสถานพยาบาล) หรือสถานประกอบการอื่นใดที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด
  • สวนสาธารณะ สนามกีฬา ลานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น.
  • การดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (Delivery Online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
  •  ร้านสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เริ่มเปิดบริการได้ตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น.
  • โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง

 

 4. สถานที่อื่นนอกเหนือจากข้อ 3 ให้เจ้าของหรือผู้รับผิดชอบสถานที่ จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคดังต่อไปนี้

  • บริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ
  • สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
  • อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด
  • จัดให้มีการล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  • จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทำกิจกรรมด้วย
  • ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชัน ที่ทางราชการกำหนด

 

 5. การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

  • ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจัดกิจกรรมการบริจาค หรือแจกจ่ายสิ่งของ
  • หรือกิจกรรมอื่นใดในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ใด ให้แจ้งอำเภอท้องที่ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.)พิจารณาอนุญาตก่อนจัดกิจกรรมขึ้น หากพบว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ ตามที่ทางราชการกำหนด และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฯ ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) มีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมในทันที
  • ให้ประชาชนทั่วไปสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ หรือเข้าสถานที่ชุมชนโดยตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเพื่อจำกัดวงในการแพร่ระบาดของโรค และหากพบผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการข้างต้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

 

มาตรการลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง

  1. ในเวลาห้ามเดินทางออกนอกเคหสถาน ห้ามประชาชนทั่วไปเดินทางออกนอกเคหสถาน ในห้วงเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่และการกำหนดบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
  2. นอกเวลาห้ามเดินทางออกนอกเคหสถาน ให้ประชาชนหลีกเลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น ยกเว้น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

 ทั้งนี้ ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัด หรือออกนอกเคหสถาน ให้แสดงเอกสารหลักฐานแสดงความจำเป็นหรือเอกสารรับรองว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 4 ของข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 หรือแสดงเอกสารรับรองความจำเป็นที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้หรือเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนลงทะเบียนขออนุญาตเดินทางผ่านทางแอปพลิเคชัน “หยุดเชื้อ ช่วยชาติ” ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งลงทะเบียนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ”

 

  • ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่การใช้อาคารหรือสถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 3 (1) ก. ตามข้อ 1) – 3) ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 และถือปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ที่ 33/2564 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2564
  • ห้ามหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งหากมีเหตุจำเป็นให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี

 6. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กำกับ ติดตาม ดูแลรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในตลาดที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้ถูกสุขลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่นและกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด อาทิเช่น การจัดให้มีการล้างทำความสะอาดตลาดเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะแผงอาหารสด ให้มีการล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งหากพื้นที่ใดมีการแพร่ระบาดของโรค อาจจะต้องมีการล้างตลาดตามหลักการสุขาภิบาลมากกว่าเดือนละหนึ่งครั้งตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุขแจ้งให้ปฏิบัติ

 

 7. สำหรับตลาดที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานเอกชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ กำกับ ติดตาม ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรการในข้อ 6

 

 

 8. มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม ในสถานประกอบกิจการโรงงาน

  • กรณีที่ลูกจ้างเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัดและกลับมาปฏิบัติงาน

สถานประกอบกิจการ/นายจ้าง จะต้องจัดให้มีมาตรการ ดังนี้

 (1) ให้ลูกจ้างรายงานข้อมูลการเดินทางให้นายจ้างทราบ ประกอบด้วย วัน เวลา สถานที่ พาหนะในการเดินทาง และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน

 (2) สถานประกอบกิจการ/นายจ้างจะต้องประเมินว่าลูกจ้างคนใดมีความเสี่ยงสูง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากไปสัมผัสเกี่ยวข้อง

กับผู้ติดโรค หรือไปสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคหรือมีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีการเดินทางไปในสถานที่แออัดที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ตลาดนัดที่มีผู้คนหนาแน่น เป็นต้น

ให้จัดให้มีการกักตัว 14 วัน ในสถานที่พัก หรือสถานที่ที่นายจ้างได้จัดไว้ โดยอนุญาตให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมาย หรือตามที่ตกลงกันเพื่อสังเกตอาการ ทั้งนี้ นายจ้างต้องรายงานให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอในท้องที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ทราบโดยเร็ว และจัดเก็บข้อมูลพร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้

 

  • สถานประกอบกิจการ/นายจ้าง จะต้องดำเนินการให้ความรู้ คำแนะนำ ประชาสัมพันธ์ การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กับลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งจัดหาสบู่เจลล้างมือแอลกอฮอล์ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานประกอบกิจการให้กับลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ลูกจ้างทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและคัดกรองลูกจ้างทุกคนก่อนเข้าทำงาน รวมทั้งผู้มาติดต่อ และผู้มาปฏิบัติงาน ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด
  • กรณีที่มีสถานการณ์สุ่มเสี่ยงว่าจะมีการติดเชื้อหรือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ  ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานประกอบกิจการ เช่น พบลูกจ้างป่วยเป็นจำนวนมาก ให้พิจารณาหยุดการผลิต/การบริการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งทำความสะอาดสถานที่ และให้รายงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในท้องที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ ทราบโดยเร็ว
  •  กรณีสถานประกอบกิจการ/นายจ้าง จัดที่พักให้กับลูกจ้าง ขอให้ดำเนินการป้องกันเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด
  • ขอให้สถานประกอบกิจการ พิจารณาใช้มาตรการการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) โดยพิจารณาตามความเหมาะสม รวมทั้งการงดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดการรวมตัวของลูกจ้างเป็นจำนวนมาก

 

 9. อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เดินทางข้ามเขตจังหวัดได้ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

  • เป็นแรงงานต่างด้าวใน ๒ กลุ่มกิจการ ได้แก่  แรงงานในกิจการขนส่งสินค้า และ แรงงานในกิจการรับเหมาก่อสร้าง
  •  ก่อนการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวตามข้อ 9.๑ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกกรณี (ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว) ทั้งนี้จะอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานข้ามจังหวัดได้เฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น
  •  9.3 ผู้ประกอบการที่จะดำเนินการตามข้อ 9.๑ จะต้องตรวจสอบไปยังจังหวัดปลายทางก่อนการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ว่ามีมาตรการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เดินทางข้ามเขตเข้า – ออกในพื้นที่จังหวัดด้วยหรือไม่
  •      9.4 การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวตามข้อ 9.๑ ในท้องที่จังหวัดอื่น เข้ามาพื้นที่จังหวัดชลบุรี จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการข้างต้นโดยเคร่งครัด
  • ให้ถือปฏิบัติเป็นไปตามมาตรการของคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีที่ 31/2564 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 โดยเคร่งครัด

 

10. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) ให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรม

โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล รวมทั้ง ให้งดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก เช่น การจัดประชุม สัมมนา การจัดสอบ หรือการจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐพิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

สำหรับการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ให้เปิดให้บริการเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค กิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจน และได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า และเป็นการปฏิบัติงานที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโดยให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสมที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564

สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชนในช่วงระยะเวลานี้ จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ และบุคลากรปฏิบัติตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเช่นเดียวกัน เพื่อให้บรรดามาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนี้ โดยเฉพาะการลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล

สามารถเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

11. ให้นายอำเภอ ทุกอำเภอ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับอำเภอ (ศปก.อ.) เป็นผู้รับผิดชอบ กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการตามคำสั่งนี้โดยเคร่งครัด

คอนเทนต์แนะนำ
ไฟเซอร์-ไบออนเทค แจ้งลงนามสัญญาซื้อขายไทย ส่งวัคซีน 20 ล้านโดส ไตรมาส 4/64
กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ติดโควิด-19 เหตุต้องสัมผัสบุคคลจำนวนมาก

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ