รพ.ธรรมศาสตร์แจงประเด็นไม่ใส่ท่อช่วยหายใจให้เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รพ.ธรรมศาสตร์กางกฎหมายแจงหลัก "ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ" ให้ผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก เป็นสิทธิ์ของผู้ป่วย-ญาติตัดสินใจ

หลังจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติออกประกาศ เรื่องการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยวิกฤต โดยระบุเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก ล่าสุดผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ ออกมาชี้แจงว่า การพิจารณาไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นหลักเกณฑ์การรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งอยู่ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2550 นอกจากนี้หากตัดสินใจจะถอดเครื่องช่วยหายใจต้องเป็นการพิจารณาร่วมระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมแพทย์

วิกฤตจนหมอต้องเลือก ยื้อชีวิต! ประกาศ รพ.ธรรมศาสตร์ 2 ปัจจัยไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ หมอโพสต์อธิบาย

หมอเผยความจริง อย่าติดโควิดเลย หมอน้อย อาการหนักเยอะ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยชีวิตขาดจริงหรือ!

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แถลงข่าวชี้แจงประกาศของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ว่า ประกาศที่ออกมาสู่สาธารณะเป็นการประกาศภายใน แต่อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจเป็นวงกว้าง เนื่องจากทางรพ.ใช้ถ้อยคำในประกาศ ที่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ทราบบริบทเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล โดยเฉพาะคำว่า “หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยคิดเชื้อไวรัสโคโรน่า (2019) หรือ COVID19 ซึ่งไม่มีบริบทที่ชัดเจนเมื่อออกไปสู่สาธารณชนทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องประกาศเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง(Palliative Care) ที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการแบบไหน เพราะเดิมรพ.ธรรมศาสตร์ ใช้หลักการดูแลแบบประคับประคองกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ อยู่แล้ว มาตั้งแต่ปี 2560 แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ปัจจุบันทำให้ต้องออกประกาศ ที่ชัดเจน ตามขั้นตอน

“การตัดสินใจไม่ใช้ท่อช่วยหายใจต้องเป็นการตัดสินใจของผู้ป่วย ญาติ และ ทีมแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และ การแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต(living will) การรักษาแบบประคับประคองอาจจะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่ที่จริงมีมานานแล้วและมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับโรคต่างๆ แบบครบถ้วนแล้ว เพียงแต่วิกฤตในครั้งนี้หลายรพ.ต้องออกเกณฑ์ออกมาเพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาก เนื้อหาหรือว่าคำพูดบางคำอาจจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อสังคม”

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ ย้ำว่า การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โควิด ที่ผู้ป่วยอาจจะทุกข์ทรมานจากการหายใจไม่ออก เกณฑ์ที่ออกมาไม่ใช่ผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉินแล้วจะปล่อยให้เสียชีวิต แต่จะดูแลรักษาภายในห้องฉุกเฉินตามขั้นตอน ดูแลรักษาในโรงพยาบาล และ ดูแลในไอซียู แต่ถ้าหากอาการหนักแล้วผู้ป่วยสามารถตัดสินใจได้เอง หรือมีญาติที่ตัดสินใจแทน หลักวิชาการกำหนดไว้ชัดเจน มีวิธีการทางการแพทย์ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน ไม่ให้มีความวิตกกังวล และ ไม่ให้มีเรื่องของภาพอันไม่น่าดู เหมือนกับผู้ป่วยค่อยๆ นอนสงบ ไม่ได้เร่ง หรือยื้อการเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตามธรรมชาติ

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักการดูแลแบบประคับประคองปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ทุก ไม่ใช่เฉพาะรพ.ธรรมศาสตร์ โรงเรียนแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ

สำหรับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ยอมรับว่า มีสถานการณ์ของผู้ป่วยที่ล้นเกิน และ เป็นที่มาที่ต้องออกหลักเกณฑ์เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง เพราะปัจจุบันห้องไอซียู จำกัดอย่างมาก ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ ทางการแพทย์มีความยากลำบากในการบริหารจัดการอย่างมาก ถือเป็นวิกฤตทางการแพทย์ ซึ่งมองว่า หากบริหารจัดได้ ยังพอช่วยชีวิตผู้ที่สามารถดูแลรักษาต่อไปได้

“เรื่องการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต หากไม่จัดการ เราต้องปฏิเสธไม่รับผู้ป่วยเข้ารพ.ปล่อยให้เสียชีวิตที่บ้าน หรือ เสียชีวิตข้างถนน เป็นความเจ็บปวดของวงการแพทย์และบุคลากรแพทย์ที่ไม่มีทางช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ได้เลย”

ปัจจุบันรพ.ธรรมศาสตร์ รองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียงและเตียงสนามอีก 400 เตียง ซึ่งสามารถขยายศักยภาพของเตียงและอุปกรณ์การแพทย์ได้ แต่สิ่งที่ขยายไม่ได้คือศักยภาพของบุคลากรการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งที่ต้องถูกกักตัวและติดเชื้อ พยาบาลในรพ.สนาม 12 คนจึงต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 400 คน

คอนเทนต์แนะนำ
รีวิวทุกขั้นตอนการใช้ Antigen Test Kit ตั้งแต่แกะซอง ยันรู้ผล

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ